รู้จัก ดิน สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเพาะปลูก

 ดิน(Soil) เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อมนุษย์ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์สามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้ มนุษย์ใช้ดินเพื่อการดำรงชีพ ไม่ว่าจะเป็นใช้สำหรับปลูกพืช ผัก เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหาร ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกพืชที่สามารถแปรรูปเป็นเครื่องนุ่งห่ม เลี้ยงสัตว์ ปลูกยารักษาโรค หรือเรียกว่าใช้เป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั่นเอง นอกจากมนุษย์แล้วสัตว์เองก็เช่นเดียวกัน ใช้ดินเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และดินยังสามารถนำมาเป็นส่วนเป็นส่วนประกอบหรือวัสดุในการก่อสร้างบ้าน ถนน อาคารต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ดินคืออะไร

สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำนิยามของดินไว้ว่า “ดิน คือ วัตถุดิบตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากผลของการผุพังสลายของหินและแร่ ต่างๆ ผสมคลุกเคล้ารวมกับอินทรียวัตถุหรืออินทรียสาร ที่ได้มาจากการสลายของซากพืชและสัตว์ จนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะร่วนไม่เกาะกันแข็งเป็นหิน เกิดขึ้นปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบาง ๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเจริญเติบโตของพืช” โดยดินมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่ควบคุมการเกิดและพัฒนาการของดิน ซึ่งประกอบไปด้วย ภูมิอากาศ ปัจจัยทางชีวภาพ ความต่างระดับของพื้นที่หรือสภาพภูมิประเทศ วัตถุต้นกำเนิด และระยะเวลาที่ต่อเนื่องในการเกิดดินหรือพัฒนาการดิน โดยดินแต่ละชั้นดินก็จะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น สี เนื้อดิน โครงสร้างดิน ฯลฯ

ดิน คือ

ลักษณะและคุณสมบัติทั่วไปของดิน มีหลายประการ ซึ่งสามารถแยกเป็นคุณสมบัติทางกายภาพ และทางเคมี ซึ่งเราจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญมีดังนี้

คุณสมบัติทางสัณฐานวิทยา

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวว่า เป็นลักษณะและสมบัติทางกายภาพที่เกี่ยวกับโครงร่าง หรือรูปทรงของดิน ที่เราสามารถสังเกตได้จากหน้าตัดของดิน หรือจากหน้าตัดถนน บ่อขุด จะสังเกตุเห็นว่าดินแต่ละดินตามแนวลึก สามารถแบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ ได้หลายชั้น คุณสมบัติทางสัณฐานวิทยาที่สำคัญได้แก่ ความลึก ความหนาของชั้นดิน สีพื้นและสีจุดประของดิน โครงสร้างของดิน การเกาะยึดตัวของเม็ดดินช่องว่างในดิน กรวด หิน ลูกรัง ปริมาณรากพืช เป็นต้น

คุณสมบัติทางกายภาพของดิน

เป็นลักษณะที่เกี่ยวข้องกับสถานะและการเคลื่อนย้ายของสสาร การไหลของน้ำ สารละลาย และของเหลว หรือการเปลี่ยนแปลงของพลังในดิน เป็นสมบัติที่มองเห็นหรือสังเกตได้จากภายนอก คือ

– เนื้อดิน เป็นคุณสมบัติที่บ่งบอกถึงความหยาบ ความละเอียด ชิ้นส่วนเล็กๆ ของดิน หรือ อนุภาคของดิน และเนื้อดิน แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เป็นการแบ่งแบบง่าย ๆ ได้แก่ ดินทราย ดินร่วน และดินเหนียว

– โครงสร้างของดิน เป็นลักษณะของการจัดเรียงและการยึดเกาะกันของอนุภาคเดี่ยวของดิน เป็นเม็ดดิน ส่วนใหญ่ของอนุภาคดินเชื่อมยึดกันเป็นเม็ดดิน และเม็ดดินส่วนมากมีรูปทรงคล้ายคลึงกัน

– ความหนาแน่นและความพรุนของดิน จะมีผลต่อความยากง่ายในการไถพรวนของดิน ความยากง่ายในการชอนไชและแผ่นกระจายของรากพืช มีผลต่อการอุ้มน้ำ การระบายน้ำและอากาศในดิน

– สีของดิน เป็นคุณสมบัติที่เห็นได้ชัดเจนกว่าคุณสมบัติอื่น ๆ สีของดินมีหลายสี ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงสีแดง ดำ เหลืองเทา เทา และน้ำตาล โดยสีของดินมีประโยชน์ในการจำแนกชนิดและชั้นของดินในเชิงวิชาการด้วย

– ชั้นของดิน แบ่งได้ตามความลึกให้เห็นได้คือ ดินชั้นบนมีความลึกระหว่าง 0-15 เซนติเมตร ดินชั้นล่างลึกลงไปตั้งแต่ 15 เซนติเมตร และดินชั้นวัตถุต้นกำเนิดดิน โดยดินชั้นบนหรือดินชั้นไถพรวนเป็นดินที่มีความสำคัญต่อการเพาะปลูก เพราะรากพืชส่วนใหญ่จะชอนไชหาอาหารในชั้นนี้

คุณสมบัติทางเคมี

เป็นสมบัติของดินที่เราไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยความรู้สึก จากการเห็นด้วยตา และสัมผัสด้วยมือ จะต้องอาศัยวิธีการวิเคราะห์ หรือกระบวนการทางเคมี เป็นเครื่องชี้บอก เช่น ความเป็นกรด-ด่างของดิน สภาพความเป็นกรดด่างของดินนั้นเราสามารถตรวจสอบ ปกติมักใช้บอกความเป็นกรด-ด่าง ด้วยค่าที่เรียกว่า พีเอช หรือนิยมเขียนสัญลักษณ์เป็นภาษาอังกฤษ pH ความหมายของค่าอีเอชมีดังนี้ ช่วงของพีเอชของดินโดยทั่วไปจะมีค่าอยู่ระหว่างประมาณ 3.0-9.0 ค่า pH 7.0 บอกถึงสภาพความเป็นกลางของดิน กล่าวคือ ดินมีตัวที่ทำให้เป็นกรด และตัวที่ทำให้เป็นด่างอยู่ในปริมาณเท่ากันพอดี ค่าที่ต่ำกว่า 7.0 เช่น 6.0 บอกสภาพความเป็นกรดของดิน ค่าของ pH ของดินสามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดความเป็นกรด ในภาคสนามสามารถใช้ชุดตรวจสอบชนิดใช้น้ำยาเปลี่ยนสีตรวจสอบ เรียกว่า pH Test Kit หรือชุดตรวจสอบ pH ซึ่งความเป็นกรด-ด่างของดินมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการเจริญเติบโตของพืชที่ปลูกอยู่ในดิน

คุณสมบัติทางแร่วิทยา

เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับชนิด ปริมาณและองค์ประกอบของแร่ต่าง ๆ ในดิน ทั้งแร่ดั่งเดิมและแร่ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น แร่ควอตซ์ เฟลด์สปาร์ ไมก้า แร่ดินเหนียวชนิดต่าง ๆ ออกไซด์ของเหล็กและอะลูมินัม ซึ่งมีความสำคัญต่อสมบัติอื่น ๆ และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในดิน

คุณสมบัติทางจุลสัณฐานวิทยา

เป็นสมบัติทางโครงร่างและองค์ประกอบของดิน ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า จำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วย ได้แก่ แว่นขยาย กล้องจุลทรรศน์ จะช่วยให้เข้าใจถึงลักษณะ สมบัติ และกระบวนการที่เกิดขึ้นในดินดีขึ้น

คุณสมบัติทางชีวภาพ

เป็นสมบัติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตในดินขนาดต่าง ๆ ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ดิน เกี่ยวข้องกับปริมาณและกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต่อกระบวนการที่เกิดขึ้นในดิน ทั้งที่เป็นประโยชน์และเป็นโทษ

คุณสมบัติของดิน

องค์ประกอบของดิน

กรมพัฒนาที่ดิน ได้กล่าวไว้ว่า ดินโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วย แร่ธาตุ อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน แต่ดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ควรมีส่วนประกอบของแร่ธาตุ 45% อินทรียวัตถุ 5% น้ำในช่องว่างระหว่างเม็ดดิน 25% และอากาศซึ่งเป็นช่องว่างเม็ดดิน 25% การเปลี่ยนแปลงของอัตราส่วนดังกล่าวนี้ เช่น ปริมาณอินทรียวัตถุลดลง แร่ธาตุสูญเสียไป ช่องว่างในดินลดลงมีผลให้อากาศและน้ำในดินลดลง ดินเกิดความแน่นตัว เป็นสาเหตุของความเสื่อม โทรมของทรัพยากรดิน โดยองค์ประกอบต่าง ๆ มีรายละเอียดดังนี้

แร่ธาตุ หรือ อนินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่ได้จากการผุพังสลายตัวของแร่และหิน เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารพืชที่สำคัญที่สุด ดินที่ใช้ปลูกพืชในประเทศไทยมีอนินทรียวัตถุ เป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 97-99 ของน้ำหนักแห้งของดิน

อินทรียวัตถุ เป็นส่วนที่ได้จากการเน่าเปื่อยผุพังสลายตัวของเศษซากพืช และสัตว์ที่ทับถมกันอยู่ในดิน อินทรียวัตถุมีประมาณธาตุอาหารพืชอยู่น้อย แต่มีความสำคัญในการทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี และเป็นแหล่งของจุลินทรีย์ดิน

น้ำ คือส่วนของน้ำที่พบอยู่ในช่องระหว่างอนุภาคดินหรือเม็ดดิน มีความสำคัญมากต่อการปลูก และการเจริญเติบโตของพืช ทำหน้าที่ช่วยละลายธาตุอาหารพืชในดิน และจำเป็นต่อการเคลื่อนย้ายธาตุอาหารและสารประกอบต่าง ๆ ในต้นพืช

อากาศในดิน เป็นส่วนของก๊าซต่าง ๆ ที่แทรกอยู่ในช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีน้ำอยู่ ก๊าซที่พบได้โดยทั่วไปในดินคือ ก๊าซไนโตรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ทำหน้าที่ให้ออกซิเจนแก่รากพืช และจุลินทรีย์ดินสำหรับใช้ในการหายใจ

การเกิดของดิน

ดินเกิดจากการสลายตัวผุพังของหินและแร่ ทับผมกันเกิดเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน เมื่อผสมคลุกเคล้ากับอินทรียวัตถุ และผ่านกระบวนการทางดิน จะปรากฏลักษณะและเกิดเป็นชั้นดินต่าง ๆ ขึ้น โดยกระบวนการเกิดดิน แยกออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1.กระบวนการทำลาย

คือกบวนการสลายตัวผุพังทั้งทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพของหินและแร่ พืชและสัตว์ เมื่อรวมตัวกันจะเกิดเป็น วัตถุต้นกำเนิดดิน กระบวนการทำลาย เป็นกระบวนการที่ทำให้หิน แร่ และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เกิดการอ่อนตัวลง สลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือเปลี่ยนไปเป็นสารใหม่และทับถมตัวกันเกิดขึ้นเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน นั่นเอง

2.กระบวนการสร้าง

คือ การที่ทำให้เกิดพัฒนาการของลักษณะต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในดิน เช่น สีดิน เนื้อดิน โครงสร้าง ความเป็นกรดเป็นด่าง รวมถึงการเกิดเป็นชั้นต่าง ๆ ขึ้นในหน้าตัดดิน ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงความแตกต่างของดินแต่ละชนิด และสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไปถึงชนิดของวัตถุต้นกำเนิด กระบวนการ และผลของสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อกระบวนการสร้างของดิน

ปัจจัยในการเกิดดิน ดินมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งการเกิดขึ้นของดินเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำร่วมกันของปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต่อวัตถุต้นกำเนิดของดิน ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ดินแต่ละบริเวณมีลักษณะเด่นเฉพาะตัว และเมื่อปัจจัยเปลี่ยนไป ดินจะมีลักษณะหรือสมบัติต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปด้วย ปัจจัยของดินสามารถเขียนแทนได้ด้วยสมการ S=f (cl,p,o,r,t,…) คือประกอบไปด้วย

ภูมิอากาศ (climate )

สภาพภูมิอากาศที่มีอิทธิพลต่อการเกิดของดินทำให้ดินมีลักษณะต่างกัน ได้แก่ อุณหภูมิ และ ปริมาณน้ำฝน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มีอิทธิพลต่ออัตราการสลายตัวของหิน แร่ ทั้งในด้านกายภาพ และเคมี และยังมีอิทธิพลต่ออัตราความเร็วของการเคลื่อนย้ายและการสะสมใหม่ของหิน และแร่ที่ถูกแปรสภาพโดยตัวการสำคัญ มาเป็นวัตถุต้นกำเนิดดิน

วัตถุกำเนิดดิน (parent material)

เป็นปัจจัยควบคุมการเกิดดินที่สำคัญ และมองเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนที่สุด และมีอิทธิพลต่อองค์ประกอบของดิน เช่น สี เนื้อดิน โครงสร้าง และสมบัติทางเคมีของดิน โดยทั่วไปดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดที่สลายตัวมาจากหินพวกที่มีปฏิกิริยาเป็นกรด-ด่าง

สิ่งมีชีวิต (organism)

ได้แก่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยพืชและสัตว์ แต่มักจะเน้นที่พืชพรรณต่าง ๆ ที่ขึ้นปกคลุมบนผิวดิน ซึ่งมีอิทธิพลต่อปริมาณอินทรียวัตถุในดิน และองค์ประกอบของเคมีของดิน ดินที่เกิดภายใต้สภาพพืชพันธุ์ที่เป็นทุ่งหญ้า มักจะมีอินทยวัตถุและธาตุที่เป็นอาหารพืชมากกว่าดินบริเวณป่าไม้เนื้อแข็ง

สภาพพื้นที่ (relief)

ในที่นี้หมายถึงความสูงต่ำ หรือระดับที่ไม่เท่ากันของสภาพพื้นที่ และความลาดชันของพื้นที่ ที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการเกิดลักษณะชั้นต่าง ๆ ในหน้าตัดดิน ความลึกของดิน สี ความชื้นสัมผัสในดิน และความรุนแรงของการชะล้าง เป็นต้น

เวลา (time)

อิทธิพลของเวลาในแง่ของการเกิดดินนั้น หมายถึง ช่วงหนึ่งของเวลาที่ต่อเนื่องกันไป โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงขัดจังหวะการพัฒนาตัวของดิน เวลาที่เป็นศูนย์สำหรับดินชนิดหนึ่ง ๆ ก็คือ จุดที่ได้มีเหตุการณ์ที่รุนแรงอย่างหนึ่งดินเกิดขึ้น ถือว่าเป็นจุดสิ้นของเวลาในการสร้างตัวของดิน

การเกิดของดิน

th.wikipedia.org

ธาตุอาหารในดินที่พืชต้องการ

ธาตุอาหารที่พืชจำเป็นต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตออกดอก ออกผล มีอยู่ 16 ธาตุ มี 3 ธาตุที่พืชได้มาจากอากาศและน้ำ คือ คาร์บอน (C) ไฮโดรเจน (H) และออกซิเจน (O) ส่วนอีก 13 ธาตุ พืชต้องดูดขึ้นมาจากดิน ซึ่งธาตุเหล่านี้ได้มาจากการผุพังสลายตัวของส่วนที่เป็น อนินทรียวัตถุและอินทรียวัตถุหรือฮิวมัสในดิน และสามารถแบ่งตามปริมาณที่พืชต้องการใช้ได้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ มหาธาตุ และ จุลธาตุ

มหาธาตุ

หรือธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณมาก ที่ได้มาจากดินมีอยู่ 6 ธาตุ ได้แก่

ไนโตรเจน (N)

ฟอสฟอรัส (P)

โพแทสเซียม (K)

แคลเซียม (Ca)

แมกนีเซียม (Mg)

กำมะถัน (S)

จุลธาตุ

หรือ ธาตุอาหารเสริม เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย มีอยู่ 7 ธาตุ ได้แก่

เหล็ก (Fe)

แมงกานีส (Mn)

โบรอน (B)

โมลิบดินัม (Mo)

ทองแดง (Cu)

สังกะสี (Zn)

คลอรีน (Cl)

ไม่ว่าจะเป็นธาตุอาหารในกลุ่มมหาธาตุหรือจุลธาตุ ต่างก็มีความสำคัญ และจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากความจริงแล้ว ธาตุทุกธาตุมีความสำคัญต่อการดำรงชีพของพืชเท่า ๆ กัน จะต่างกันเพียงแค่ปริมาณเท่านั้น

ธาตุอาหารดินที่พืชต้องการ

www.sanook.com

การระบุประเภทดิน

วิธีที่ดีที่สุดในการบอกว่าคุณมีดินประเภทใด คือ การสัมผัสและคลึงมันด้วยมือ ถ้าเป็นดินเหนียว จะละเลงบนมือได้ และเมื่อเปียกน้ำจะเหนียว สามารถรีดเป็นไส้เส้นยาวได้ง่าย  เรียบ และเงางาม ส่วนดินตะกอนบริสุทธิ์ มีเนื้อลื่นเหมือนสบู่เล็กน้อย และไม่จับตัวเป็นก้อนได้ง่าย ส่วนดินชอล์ก หากใส่ลงในขวดน้ำส้มสายชูจะมีส่วนผสมของแคลเซียมคาร์บอเนตหรือปูนขาวออกมาชัดเจน

การสูญเสียธาตุอาหารในดิน

ธาตุอาหารพืชในดินสูญเสียออกไปจากพื้นที่ได้หลายทาง คือ

สูญเสียไปกับผลผลิตพืชที่เก็บเกี่ยวออกไป

ถูกชะล้างออกไปจากบริเวณรากพืช โดยเฉพาะไนโตรเจน เช่น ถ้าเกิดฝนตกหนักหลังจากใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในดินทราย เกษตรกรอาจะได้รับประโยชน์จากการใส่ปุ๋ยร้อยละ 10 เท่านั้น เพราะไนโตรเจนละลายไปกับน้ำได้ง่ายมาก

สูญหายไปในรูปของก๊าซ เช่น กรณีของไนโตรเจน

การตรึง โดยเฉพาะฟอสฟอรัส การตรึงหมายถึงธาตุอาหารพืชถูกดินหรือสารประกอบในดินจับไว้ พืชจึงไม่สามารถดูดธาตุอาหารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ซึ่งความเป็นกรด-ด่าง ของดินเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลต่อการตรึงธาตุอาหารพืชในดิน

สูญเสียไปกับการชะล้างและพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความลาดเท และมีสภาพโล่งเตียน ปราศจากพืชพันธุ์หรือสิ่งปกคลุมหน้าดิน หรือมีการไถพรวนดินเพื่อเตรียมปลูกพืช ถ้าฝนตกหนักจะเกิดการกัดเซาะผิวดิน ธาตุอาหารพืชในดินย่อมสูญหายไปจากพื้นที่ด้วย

การสูญเสียธาตุอาหารในดิน

thematter.co

วิธีการดูสารอาหารในดิน

สารอาหารในดิน มีความสำคัญต่อพืชค่อนข้างมาก สารอาหารที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจทำให้พืชของคุณเกิดปัญหาได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ที่ต้องการสารอาหารที่สมดุลเพื่อสุขภาพที่ดี พืชก็เช่นกัน ตัวอย่าง เช่น มะเขือเทศเติบโตในดินที่ขาดแคลเซียม จะเกิดการเน่าของปลายดอก พริกที่มีไนโตรเจนมากเกินไป อาจทำให้ใบเจริญเติบโตมาก จนดอกหรือผล เกิดเพียงไม่กี่ดอก ดังนั้นการที่เราจะดูว่า สารอาหารเหมาะสมหรือไม่? อาจดูได้จากค่า pH ในดินที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้พืชใช้สารอาหารจากดินได้อย่างพอเพียง 

ดินจัดอันดับตามระดับ pH เริ่มจาก pH 1 เป็นกรดมากที่สุด จนถึง pH 14 เป็นด่างมากที่สุด หาก pH ในดินไม่อยู่ในช่วงที่เหมาะสม พืชจะไม่สามารถรับธาตุอาหารเหล่านั้นได้ ถึงแม้ว่าจะมีธาตุนั้นอยู่ในดินปริมาณที่สูงก็ตาม ในทางกลับกันถ้า pH ต่ำเกินไป ความสามารถในการละลายของแร่ธาตุบางชนิด เช่น แมงกานีสอาจเพิ่มขึ้นถึงระดับที่เป็นพิษได้

ซึ่งผัก ไม้ดอก และไม้ประดับส่วนใหญ่ จะเจริญเติบโตได้ดี ในดินที่เป็นกรดเล็กน้อย โดยมีค่า pH ระหว่าง 6 ถึง 7

ความสมบูรณ์ของดิน

ความสมบูรณ์ของดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความหมายความสมบูรณ์ของดิน ไว้ว่า หมายถึงสภาพความเหมาะสมของดินที่จะใช้ปลูกพืช ชนิดหนึ่งชนิดใดให้เจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดี พืชต่างชนิดกันอาจจะต้องการความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต่างกัน

การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน

กองวิชาการเกษตร ศูนย์ฝึกศึกษา สำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ว่า การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน คือ การประเมินความสามารถที่ดินจะให้ธาตุอาหารแก่พืช ส่วนหนึ่งเป็นการประเมินระดับธาตุอาหารแก่พืช ส่วนหนึ่งเป็นการประเมินระดับธาตุอาหารพืชในดินโดยตรง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการประเมินสถานภาพหรือคุณสมบัติที่ส่งผลหรือเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

วัตถุประสงค์ของการประเมินธาตุอาหารในดินคือ

เพื่อหาสถานะธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินอย่างเที่ยงตรง

สามารถชี้ให้เกษตรกรเห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดแคลนหรือการมีมากเกินพอของธาตุอาหาร ที่เกิดขึ้นในพืชต่าง ๆ ที่สนใจ

ประเมินระดับของธาตุที่อาจจะเป็นพิษต่อพืชได้ เช่น Fe และ AI เป็นต้น

เป็นพื้นฐานในการแนะนำปุ๋ย

สามารถประเมินค่าทางเศรษฐกิจ (รายจ่าย) ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยในปริมาณที่แนะนำ

วิธีการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ในการประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก่อนอื่นเราต้องทราบว่ามีปัจจัยทางด้านธาตุอาหารใด ที่มีผลต่อผลผลิตของพืช ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะให้ปริมาณธาตุอาหารที่เพียงพอสำหรับพืชอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น คุณภาพของดิน พันธุ์พืช การจัดการ และสิ่งแวดล้อม

อัตราหรือปริมาณของธาตุอาหารที่เราต้องปรับเปลี่ยนนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน 2 ประการ คือ

ความต้องการธาตุอาหารของพืช

ศักยภาพของดินในการให้ธาตุอาหารพืช

เทคนิคและวิธีการวินิจฉัยเพื่อให้ทราบข้อมูลทั้งสองประการดังกล่าว มีหลายวิธีที่ใช้กัน ได้แก่

ลักษณะการขาดธาตุอาหารของพืช

การวิเคราะห์เนื้อเยื่อพืช

การวิเคราะห์ดิน

การทดสอบทางชีวภาพ เช่น การทำการทดลองในกระถาง และในไร่นา เป็นต้น

การประเมินความอุดมสมบูรณ์ของดิน

แหล่งอ้างอิง

สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ / ความรู้เรื่อง..ดิน..สำหรับเยาวชน

กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2561, ความสำคัญของทรัพยากรดินและความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับดิน

กรมพัฒนาที่ดิน, ส่วนประกอบของดิน

ความอุดมสมบูรณ์ของดินและโภชนาการพืช, ศ.ดร.ปัทมา วิตยากร แรมโบ

ข้อมูลจาก https://kaset.today/soil/

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ