ดินเปรี้ยว

ดินเปรี้ยว หรือ ดินกรดจัด คือ ดินที่กำลังมี เคยมี หรือมีแนวโน้มว่ามีกรดกำมะถันอยู่ในชั้นดิน และจะต้องมีจุดสีเหลืองฟางข้าวอยู่ในดินชั้นล่าง จึงทำให้ดินเป็นกรดสูง หรือ มีค่าพีเอช (pH) ค่อนข้างต่ำ จนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ไม่ดี ผลผลิตที่ได้จึงต่ำหรือไม่ได้ผลผลิตเลย

ลักษณะของดินเปรี้ยว

ลักษณะทั่วไปของดินเปรี้ยว จะมีดินชั้นบนเป็นดินเหนียวสีเท่า หรือสีเทาเข้มถึงดำ ลึกประมาณ 20-40 เซนติเมตร อาจจะมีจุดประสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามรอยรากข้าว ดินชั้นล่างเป็นดินเหนียวสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลปนเทาถึงสีเทา มีจุดประสีเหลืองปนน้ำตาล สีแดง หรือสีเหลืองฟางข้าว

สาเหตุของการเกิดดินเปรี้ยว

ดินเปรี้ยว เกิดจาก การทับถ่มของตะกอนน้ำกร่อย ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน (เช่น บริเวณที่เคยเป็นป่าชายเลน และบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำใหญ่ ๆ) โดยจุลินทรีย์ในดินจะเปลี่ยนสภาพสารประกอบพวกกำมะถันในน้ำทะเลให้เป็นแร่ไพไรท์ (สารประกอบของเหล็กและกำมะถัน) ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี แร่ไพไรท์จะถูกเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดจะได้กรดกำมะถันซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ดินเป็นกรดจัด และมักจะพบสารประกอบของเหล็กที่สำคัญตัวหนึ่ง คือ “จาโรไซท์” ที่มีสีเหลืองคล้ายฟางข้าว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราใช้สังเกตลักษณะของดินเปรี้ยว

วิธีสังเกตดินเปรี้ยว

พื้นที่ที่พบดินเปรี้ยว มักเป็นพื้นที่ในบริเวณที่ลุ่ม มีน้ำแช่ขังปีละหลาย ๆ เดือน ในช่วงฤดูฝน

น้ำในบ่อ คู คลอง ในพื้นที่ที่เป็นดินเปรี้ยวจะใสเหมือนแกว่งด้วยสารส้ม มีรสเปรี้ยวและเฝื่อน เมื่อบ้วนน้ำหมากลงไปน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีดำ

พืชที่ขึ้นได้โดยธรรมชาติในบริเวณนี้มักมีลำต้นค่อนข้างแข็ง เช่น กก ทรงกระเทียม จูดหนู เป็นต้น

เนื้อดินเป็นดินเหนียว เมื่อขุดลงไปจะพบสารสีเหลืองคล้ายกำมะถัน (จาโรไซท์) อยู่ในชั้นดิน และลึกลงไปจะพบโคลนสีน้ำเงินปนเทาและ ซึ่งเป็นดินตะกอนน้ำทะเล

การแบ่งชนิดของดินเปรี้ยว

ดินเปรี้ยวแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามระดับความเป็นกรด ดังนี้

ดินเปรี้ยวน้อย คือ ดินที่มีความเป็นกรดน้อยหรือดินที่มีค่าพีเอช (pH) ในช่วงระหว่าง 4.7-6.0 เช่น ดินชุดบางน้ำเปรี้ยว ชุดฉะเชิงเทรา ชุดมหาโพธิ์ ชุดอยุธยา ชุดอยุธยา-มหาโพธิ์ ชุดเสนา ชุดท่าขวาง

ดินเปรี้ยวปานกลาง คือ ดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง หรือมีค่าพีเอช (pH) ในช่วงระหว่าง 4.1-4.7 เช่น ดินชุดรังสิต ชุดธัญญบุรี ชุดดอนเมือง

ดินเปรี้ยวจัด คือ ดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง หรือมีค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.1 เช่น ดินชุดรังสิตเปรี้ยวจัด ชุอองครักษ์

การวัดความเปรี้ยวของดิน

เราวัดความเปรี้ยวหรือความเป็นกรดจัดของดินโดยดูจากความเป็นกรดด่างของดิน หรือ ค่าพีเอช (pH) ของดิน ซึ่งได้จากการตรวจสอบดินโดยใช้ชุดสารเคมีตรวจสอบความเป็นกรดเป็นด่างของดิน หรือที่เรียกว่า พีเอชเทสคิท (pH test kit) โดยใช้น้ำยาเคมีทำปฏิกิริยากับดิน แล้วเทียบสีของน้ำยาเคมีที่ทำปฏิกิริยากับดิน แล้วกับแผ่นสีมาตรฐานเพื่ออ่านค่า พีเอช (pH) โดยประมาณของดินนั้น หรือวัดโดยใช้เครื่องวัดความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ที่เรียกว่า “พีเอชมิเตอร์ (pH Meter)”

บริเวณที่พบดินเปรี้ยว

ดินเปรี้ยวในประเทศไทย ส่วนใหญ่พบกระจายอยู่ในที่ราบลุ่มภาคกลาง และบริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี และจันทบุรี นอกจากนี้ยังพบอยู่กระจายบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้ ได้แก่ บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ดีพื้นที่เหล่านี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ มีการระบายน้ำออกจากพื้นที่

สาเหตุที่ดินเปรี้ยวใช้เพาะปลูกพืชไม่ได้ผล

เนื่องจากดินมีความเป็นกรดสูงหรือมี (pH) ต่ำ ทำให้มีผลต่อเนื่องต่อพืช คือ

– พืชดูดธาตุอาหารบางธาตุไปใช้ได้น้อยลง เช่น ไนโตรเจน และแคลเซียม

– พืชที่ปลูกจะขาดธาตุฟอสฟอรัส เนื่องจากฟอสฟอรัสเปลี่ยนไปยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ไม่ได้

– ดินมีปริมาณธาตุอาหารบางธาตุอยู่ในปริมาณน้อย เช่น แมกนีเซียม และโพแทสเซียม

– มีสารบางอย่างละลายออกมามากจนเป็นพิษต่อพืช เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และแมงกานีส

จุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ในดินไม่สามารถเติบโตได้ และไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ ทำให้ปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และกำมะถันในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชลดลงไปด้วย

เนื้อดินเปรี้ยวเป็นดินเหนียว อัดตัวกันแน่น ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ยาก ดินแข็งมากเมื่อแห้งและเป็นโคลนเหนียวจัดเมื่อเปียกทำให้การเตรียมดินก่อนการปลูกพืชทำได้ลำบาก

การปรับปรุงดินเปรี้ยว

การปรับปรุงดินเปรี้ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเป็นกรดและปริมาณสารที่เป็นพิษในดิน รวมทั้งป้องกันการเกิดกรดเพิ่มขึ้นควบคู่กันไปกับการเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชลงไปในดิน เพื่อให้สามารถปลูกพืชได้ผลดี

การปรับปรุงดินเปรี้ยวมีหลายวิธี การที่จะเลือกใช้วิธีใดหรือใช้หลายวิธีร่วมกันนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ความจำเป็น และความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยว มีดังนี้

การล้างดิน เป็นการใช้น้ำล้างกรดและสารที่เป็นพิษอื่น ๆ ออกไปจากดิน วิธีนี้สามารถใช้ได้ผลดีในบริเวณที่มีน้ำเพียงพอ

การควบคุมระดับน้ำใต้ดิน วิธี้เหมาะสำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยวที่เกิดใหม่หรือดินเปรี้ยวแฝง โดยการควบคุมระดับน้ำใต้ดินให้อยู่ในระดับน้ำที่เหมาะสม (หรือไม่ระบายน้ำออกจากดินจนถึงระดับที่มีแร่ไพไรท์สะสมอยู่) ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดออกซิเจน เป็นการป้องกันไม่ให้แร่ไพไรท์ที่อยู่ในดินถูกเปลี่ยนเป็นกรดรวม ทั้งลดความเป็นพิษของเหล็กด้วย

การใส่วัสดุลดความเป็นกรดของดิน เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล เปลือกหอยเผา หินปูนบด นอกจากจะช่วยลดความเป็นกรดของดินแล้ว ยังมีผลต่อเนื่องในการลดปริมาณสารเป็นพิษที่ละลายออกมามากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อพืชอีกด้วย ในทางปฏิบัตินิยมใช้ปูนมาร์ล เพราะมีราคาถูกที่สุดและใส่เพียงครั้งเดียวก็สามารถแก้ความเป็นกรดของดินได้นาน 3-5 ปี โดยอัตราการใช้ปูนมาร์ลเพื่อปรับปรุงดินเปรี้ยว มีดังนี้

– ดินเปรี้ยวน้อย ใส่ไร่ละ 0.5 ตัน

– ดินเปรี้ยวปานกลาง ใส่ไร่ละ 1 ตัน

– ดินเปรี้ยวจัด ใส่ไร่ละ 2 ตัน

การใส่ปุ๋ยเคมี ควรใส่ปุ๋ยเคมีแก่พืชที่ปลูกให้ถูกต้องตามสูตรอัตราและเวลาที่ราชการแนะนำ แล้วแต่ชนิดพืช เนื่องจากดินเปรี้ยว (โดยเฉพาะดินเปรี้ยวปานกลางถึงเปรี้ยวจัด) จะมีการปัญหาการขาดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง

วิธีการปรับปรุงดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว

การทำนาข้าวในดินเปรี้ยว จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น ซึ่งจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามชนิดความเปรี้ยวของดิน ดังนี้

1. ดินเปรี้ยวน้อยและดินเปรี้ยวปานกลาง

ดินเปรี้ยวน้อยมีปัญหาการขาดธาตุอาหารพืชและความเป็นกรดของดินรุนแรงน้อยกว่าดินเปรี้ยวปานกลาง แต่สามารถใช้วิธีการปรับปรุงดินเช่นเดียวกันได้

ดินเปรี้ยวปานกลางมีปัญหาสำคัญในการปลูกข้าว คือ ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีธาตุไตโตรเจนฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ไม่เพียงพอและขาดฟอสฟอรัสอย่างรุนแรง ถ้าหากใส่ปุ๋ยอย่างเพียงพอแล้วไม่จำเป็นต้องใช้กรรมวิธีพิเศษอื่นใด เช่นการใส่ปูน ก็สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวให้สูงขึ้นได้ หรือหามีความสะดวกในการใช้ปูน ก็สามารถใช้ปูนมาร์ลในอัตรา 0.5 ตัน/ไร่ สำหรับดินเปรี้ยวน้อย และ 1.0 ตัน/ไร่ สำหรับดินเปรี้ยวปานกลาง โดยใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี ใช้วิธีการเดียวกับการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดที่กล่าวต่อไป โดยไม่ต้องมีการล้างดิน

วิธีการปลูกข้าวในดินเปรี้ยวน้อยและเปรี้ยวปานกลาง ควรดำเนินการใส่ปุ๋ย ดังนี้

1.1 ใส่ปุ๋ยฟอสเฟต (สูตร 0-3-0) จำนวนไร่ละ 100 กิโลกรัม โดยหว่านให้ทั่วแปลงนาขณะเตรียมดินแล้วไถคลุกเคล้าให้เข้ากับดิน (ก่อนหว่านอาจพรมน้ำให้ชื้นก่อนจะได้หว่านได้สะดวกขึ้น) ซึ่งในช่วงเตรียมดินหากมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมด้วยกันจะเป็นการดี

1.2 ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว หากเป็นดินทรายใช้สูตร 16-16-8 จำนวนไร่ละ 25-30 กิโลกรัม โดยหว่านให้ทั่วแปลงนาก่อนปักดำข้าว 1 วัน หรือภายใน 10 วัน หลังจากปักดำข้าวหลังนาดำแต่ถ้าเป็นนาหว่านควรใส่ปุ๋ยหลังจากข้าวงอกแล้ว 20-25 วัน

1.3 ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จำนวนไร่ละ 10 กิโลกรัม (หรือปุ๋ยสูตร 21-0-0 จำนวนไร่ละ 20 กิโลกรัม โดยหว่านในระยะข้าวสร้างรวงอ่อน คือก่อนเก็บเกี่ยว 60 วัน หรือหลังจากปักดำประมาณ 35-45 วันสำหรับนาดำ ถ้าเป็นนาหว่านหลังจากใส่ปุ๋ยครั้งแรก ประมาณ 35-45 วัน

2. ดินเปรี้ยวจัด

ดินเปรี้ยวจัดนี้เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก มีธาตุอาหารไม่เพียงพอต่อข้าว โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัส ถ้าไม่ใส่ข้าวจะไม่แตกกอ ผลผลิตจะต่ำมากหรือไม่ได้ผลผลิตเลย และยังต้องมีการจัดการพิเศษนอกเหนือจากการใช้ปุ๋ยอย่างเพียงพอ เพื่อแก้ความเป็นกรดจัดของดิน เช่น การใส่ปูนมาร์ล การขังน้ำ ล่วงหน้า การล้างดิน หรือการใส่ขี้เถ้าแกลบ (80 กิโลกรัมต่อไร่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะทำให้ผลผลิตสูงขึ้นถึง 60-70 ถังต่อไร่)

วิธีการปลูกข้าวในดินเปรี้ยวจัด จึงควรมีการปรับปรุงดินและการใส่ปุ๋ย ดังนี้

2.1 การล้างดิน ในกรณีที่มีน้ำเพียงพอ ควรมีการขังน้ำร่วงหน้าก่อน การปลูกข้าว โดยให้น้ำเข้านาแล้วคราด รุ่งขึ้นระบายน้ำออก ทำเช่นนี้ 3 ครั้ง จะช่วยลดความเป็นกรดและธาตุที่มีมากเกินไปจนอาจะเป็นพิษให้เจือจางลง

2.2 การใส่ปูน เพื่อลดความเป็นกรดของดินให้ใส่ปูนมาร์ล ซึ่งมีราคาถูกไม่กัดมือ และหาซื้อได้ยากบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออก (แต่ถ้าหากเป็นภาคใต้อาจใช้หินฝุ่นหรือหินปูนบดหาซื้อได้ง่ายกว่าและราคาถูกกว่าปูนชนิดอื่น ๆ) โดยใส่ปูนมาร์ล จำนวนไร่ละ 2 ตัน และเว้นการใส่ปูนมาร์ลได้ 2-3 วัน เนื่องจากปูนมาร์ลยังคงมีฤทธิ์แก้ความเป็นกรดของดินได้นาน วิธีการใส่ปูนมาร์ลควรนำปูนไปกองกระจายไว้เป็นกองเล็ก ๆ ในนา แล้วจึงหว่านปูนแต่ละกองให้ทั่วแปลงนาก่อนการเตรียมดินและไถกลบ ทิ้งไว้อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 2 สัปดาห์จึงปลูกข้าวได้ (โดยการหว่านหรือปักดำข้าว)

2.3 การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ปรับปรุงดินด้วย ได้แก่ การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกที่มีอยู่ แต่วิธีที่เหมาะสมในขณะนี้คือการใช้ปุ๋ยพืชสด ซึ่งนิยมใช้พืชตระกูลถั่วปลูกกันในช่วงต้นฝน (หลังใส่ปุ๋ยปรับปรุงดินแล้ว) แล้วไถกลบช่วงออกดอก หรือก่อนปลูกข้าวประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อง่ายต่อการไถ การปักดำ และเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมีให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลดีต่อคุณภาพผลผลิตด้วย

2.4 การใส่ปุ๋ยเคมี ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ดังนี้

การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1

– ใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 สำหรับนาดินเหนียว หากเป็นนาดินทราย ใช้สูตร 16-16-8 จำนวนไร่ละ 25-30 กิโลกรัม โดยหว่านก่อนปักดำข้าว 1 วัน หรือภายใน 10 วัน หลังจากปักดำข้าวสำหรับนาดำ ถ้าเป็นนาหว่านให้หว่านปุ๋ยหลังจากข้าวงอกแล้ว 20-25 วัน

การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2

– ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 จำนวนไร่ละ 10 กิโลกรัม (หรือปุ๋ยสูตร 21-0-0 จำนวนไร่ละ 20 กิโลกรัม) โดยหว่านใช้ระยะข้าวรวงอ่อน คือก่อนเก็บเกี่ยว 60 วัน หรือหลังจากปักดำประมาณ 35-45 วัน สำหรับนาดำ ถ้าเป็นนาหว่านให้หว่านหลังจากหว่านปุ๋ยครั้งแรกประมาณ 35-45 วัน

เมื่อปรับปรุงดินเปรี้ยวและใส่ปุ๋ยให้กับข้าวอย่างเพียงพอตามคำแนะนำแล้วเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ควรมีการดูแลปฏิบัติในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น

ควรใช้ข้าวพันธุ์ดีหรือพันธุ์ส่งเสริม

ควรมีการป้องกันกำจัดศัตรูพืช เช่น โรค แมลง ปู หนู และวัชพืช เพื่อให้ข้าวเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ไม่ควรเผาตอซัง เพราะจะเป็นการทำลายธาตุอาหารในดินให้ลดลง

ข้อมูลจาก https://www.plookphak.com/acid-soil/

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!