เคล็ดลับฟื้นฟูสุขภาพดิน ให้ปลูกพืชผักทำเกษตรได้ดี

เป็นที่รู้กันว่าดินที่มีสภาพร่วนซุยเป็นดินที่เหมาะสำหรับปลูกพืชมากที่สุดเพราะช่วยให้รากชอนไชหาน้ำและอาหารได้สะดวก

ดินที่ดีนั้นควรมีความพรุนและมีช่องว่างให้น้ำและอากาศแทรกตัวอย่างพอเหมาะ มีความเป็นกรดเป็นด่างที่พอดี แต่หากดินในสวนที่เราต้องการปลูกพืชไม่ได้มีสภาพดังกล่าว เช่น เกิดปัญหาดินแข็ง ดินขาดธาตุอาหาร ดินเหนียว ดินลูกรัง ดินกรด ก็จำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูดินให้เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้ต่อไป ซึ่งเทคนิคง่ายๆในการปรับปรุงดินทำได้ดังนี้ ฟื้นฟูสุขภาพดิน

ปรับปรุงดิน…ราคาประหยัด 

วัสดุจากธรรมชาติ เช่น เปลือกถั่ว ฟางข้าว ใบไม้แห้ง ปุ๋ยอินทรีย์ต่าง ๆ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด คือตัวเลือกชั้นดีที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง ในพื้นที่ที่มีดินแข็งหรือดินลูกรังให้ขุดดินแล้วผสมคลุกเคล้าวัสดุเหล่านี้ลงไปเพื่อช่วยเพิ่มช่องว่างในดินจะทำให้ดินโปร่งและร่วนซุยขึ้น  ในปุ๋ยอินทรีย์ยังมีธาตุอาหารที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินได้อีกด้วย สำหรับฟางข้าวนั้นให้หมักไว้ในดินแล้วรดปุ๋ยอินทรีย์น้ำจะช่วยให้ฟางย่อยสลายเร็วขึ้น แต่หากคุณไม่ได้ทำสวนจริงจังมากนักก็อาจใส่ปุ๋ยอินทรีย์เฉพาะจุดที่ต้องการปรับปรุงดินก็ได้ เช่น บริเวณที่จะทำแปลงต้นไม้ หรือหลุมปลูกไม้ยืนต้น

คลุมดิน…ทั้งง่ายและสะดวก

หลักการคล้ายกับข้อแรกเพียงแต่ไม่ต้องขุดและผสมวัสดุลงไปในดินแต่ใช้วัสดุนั้นคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้นเช่นฟางข้าวแกลบ กาบมะพร้าวสับหญ้าแห้งใบหญ้าแฝกหรือปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน วัสดุคลุมดินจะช่วยป้องกันการชะล้างหน้าดินยามรดน้ำ ลดการสูญเสียธาตุอาหารพืชออกไปรักษาความชื้นในดินได้ดีทำให้รากพืชสามารถลงไปได้ลึกทีละน้อย ดินจึงมีโครงสร้างดีขึ้นทั้งยังเกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากขึ้นด้วย และเมื่อวัสดุคลุมดินธรรมชาติเหล่านี้ย่อยสลายก็จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างดินและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชที่ปลูกต่อไป

พืชตระกูลถั่ว…เพิ่มธาตุไนโตรเจน 

หลักการง่าย ๆ ในการฟื้นฟูดินซึ่งเกษตรกรนิยมใช้คือหลังจากเก็บเกี่ยวพืชไปแล้วจะตากดินไว้ระยะหนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อโรคและแมลงศัตรูพืชที่ตกค้างอยู่ในดิน จากนั้นจึงปลูกพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพุ่ม ปอเทือง โสน ถั่วพร้า ถั่วแปบ คลุมดินแล้วไถกลบหรือตัดคลุมดินช่วงที่เริ่มออกดอก (ประมาณ 50-60 วันหลังปลูก หากไถกลบจะช่วยให้ย่อยสลายได้รวดเร็วขึ้น) ซึ่งเรานำหลักการนี้มาใช้กับสวนที่บ้านได้เช่นกัน พืชเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้ดินร่วนซุยเท่านั้นแต่ยังอุดมด้วยธาตุไนโตรเจนซึ่งเกิดจากเชื้อไรโซเบียมที่มักอยู่ในปมรากถั่วทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนในอากาศมาสร้างเป็นสารประกอบไนโตรเจนไว้ในดิน หากต้องการให้ได้ผลดียิ่งขึ้นก็ใส่เชื้อไรโซเบียมลงไปเพิ่มเติม (สั่งซื้อโดยตรงได้ที่ กลุ่มงานวิจัยจุลินทรีย์ดิน กลุ่มวิจัยปฐพีวิทยา (ตึกไรโซเบียม)สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  โทรศัพท์ 0-2579-7522-3) เพราะไนโตรเจนส่วนเกินที่ปลดปล่อยลงดินจะช่วยให้ดินคงสภาพอุดมสมบูรณ์โดยที่แทบไม่ต้องใช้ปุ๋ยไนโตรเจนเพิ่มเติมเลย โดยเฉพาะหากใครคิดจะทำฟาร์มเล็กๆในบ้านก็ปลูกพืชเหล่านี้แล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดได้เลย

ไส้เดือนดิน…พระเอกตัวจริง

เป็นที่รู้กันว่าไส้เดือนดินมีความสำคัญมากต่อระบบนิเวศเพราะทำหน้าที่ย่อยสลายอินทรียสารในดิน รวมทั้งการเคลื่อนที่ของไส้เดือนดินยังเป็นการพรวนดินทำให้ดินมีการระบายน้ำและอากาศดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืช เป็นดัชนีชี้วัดการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆ ในดินได้ดี จะสังเกตว่าดินที่มีสภาพเป็นดินทราย ดินเหนียวจัด แปลงปลูกที่เกิดการเหยียบย่ำจนเกิดเลน หรือมีการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหนักทำให้ดินอัดตัวแน่น ตลอดจนดินที่มีการใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช รวมทั้งปุ๋ยเคมีติดต่อกันมาเป็นเวลานานมักไม่พบไส้เดือนดิน นั่นหมายความว่าดินดังกล่าวมีสภาพไม่ดีจึงจำเป็นต้องฟื้นฟู เบื้องต้นทำได้โดยใส่อินทรียวัตถุลงไปปรับปรุงสภาพดินก่อน เมื่อดินมีสภาพดีขึ้นจะเห็นว่าไส้เดือนดินจะเริ่มมาอยู่อาศัยและทำหน้าที่ปรับปรุงโครงสร้างดินต่อไป นอกจากนี้ไส้เดือนดินยังมีประโยชน์ในการผลิตปุ๋ยและน้ำหมักมูลไส้เดือนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอีกด้วย

ดินกรด…แก้ได้

ดินกรดคือดินที่มีค่า pH ต่ำว่า 7 นอกเหนือไปจากการตรวจวัดดินด้วยอุปกรณ์ทดสอบแล้วยังมีข้อสังเกตเบื้องต้นง่าย ๆ ว่าดินมีสภาพเป็นกรดหรือไม่ก็คือให้สังเกตว่าต้นไม้ของเรามีการเจริญเติบโตช้าลง ให้ผลผลิตน้อยลง แสดงอาการเหี่ยวเหมือนขาดน้ำเพราะรากไม่สามารถเจริญเติบโตในดินได้ตามปกติ รวมทั้งยังแสดงอาการขาดธาตุฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และแคลเซียม หรือพบการแพร่ระบาดของโรคพืชเป็นประจำและมากขึ้น ดินกรดเกิดได้เองตามธรรมชาติทั้งจากการชะล้างละลายธาตุที่เป็นด่างออกไปจากดินพืชดูดเอาธาตุที่เป็นด่างออกไปแล้วปลดปล่อยกรดลงไปแทนที่หรืออาจเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีที่มีสารกำมะถันเป็นองค์ประกอบรวมทั้งเกิดจากฝนกรดในพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมเป็นต้น

ดินกรดมีผลต่อการปลดปล่อยธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ลงสู่ดิน รวมทั้งพืชไม่สามารถดูดซึมแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ได้ แก้ไขโดยใส่วัสดุปูนชนิดต่างๆเช่นปูนมาร์ลหรือหินปูนฝุ่น(หินปูนบด) นิยมใช้กับนาข้าว ส่วนปูนโดโลไมต์หรือปูนขาวใช้กับไม้ผลอัตราที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงของกรดในดินสำหรับไม้ผลหรือไม้ยืนต้นให้ใช้อัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุมปลูกนอกจากนี้ยังแก้ไขโดยใส่อินทรียวัตถุลงไปในดินเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับธาตุอาหารในดิน และการใช้วัสดุคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นและหน้าดินร่วมด้วยได้เช่นกัน

ขอขอบคุณข้อมูล :

สำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดินกรมพัฒนาที่ดิน <www.ldd.go.th>

<www.maejoearthworm.org>

เรื่อง : “เกซอนลา”

ภาพ : คลังภาพบ้านและสวน

ข้อมูลจาก https://www.baanlaesuan.com/41500/garden-farm/farming-101/dailyguide_soil

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?