การใช้แคลเซียมเพื่อคุณภาพของผลไม้ที่ดีหลังการเก็บเกี่ยว
โดย … รศ.ดร. เฉลิมชัย วงษ์อารี คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
แคลเซียม (Ca) จัดเป็นธาตุอาหารรองในกลุ่มเดียวกับแมกนีเซียม (Mg) และกำมะถัน (S) ที่พืชต้องการใช้ในปริมาณน้อยในการเจริญเติบโต และไม่มีปัญหาขาดแคลนในดินทั่วไปเหมือนธาตุอาหารหลักซึ่งได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K) อย่างไรก็ตามแคลเซียมเป็นธาตุสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักช่วยในการแบ่งเซลล์และใช้กระบวนการภายในเซลล์ในระหว่างการเจริญเติบโต อาการขาดธาตุแคลเซียมในพืชบางอย่างอาจดูคล้ายอาการของพืชเป็นโรค ดังนั้นการวินิจฉัยอาการผิดปกติของพืชจึงควรพิจารณาอย่างระมัดระวัง พืชที่ขาดแคลเซียมมักจะแสดงอาการที่ยอดและผล คือ ตายอดไม่เจริญ ยอดอ่อนตาย ใบอ่อนบิดเบี้ยว ขอบใบม้วนลงไม่เรียบและแห้ง ใบมีจุดประขาวอยู่บนใบส่วนยอด ดูคล้ายอาการยอดด่าง ส่วนผลแสดงอาการขั้วผลไม่แข็งแรงหลุดร่วงง่ายและมีจุดดำที่ก้นของผล เช่น โรคก้นเน่าของมะเขือเทศ เกิดจากการขาดแคลเซียม หรือความไม่สมดุลของธาตุแคลเซียมในดิน พืชที่ขาดแคลเซียมนานและรุนแรงมีลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย การเจริญเติบโตชะงักงัน
แคลเซียมจัดเป็นธาตุที่สำคัญต่อคุณภาพของผักและผลไม้หลังการเก็บเกี่ยว การให้แคลเซียมระหว่างการเจริญพัฒนาของผลยังช่วยลดอาการผิดปกติของผล เช่น ผลแตก ไส้กลวงและก้นเน่า นอกจากนี้ยังมีการใช้แคลเซียมกับผลิตผลหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อรักษาหรือเพิ่มคุณภาพของผลิตผลสด ซึ่งการให้แคลเซียมกับพืชอาจให้ในรูปเกลือแคลเซียมชนิดต่าง ๆ เช่น แคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมแลคเตท แคลเซียมไนเตรท แคลเซียมซัลเฟต และแคลเซียมแอสคอร์เบท เป็นต้น การให้แคลเซียมกับผลไม้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพบางประการดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบภายในผลิตผล
แคลเซียมเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเพคตินในผนังเซลล์พืช การที่พืชอ่อนนิ่มลงในระหว่างการสุกเกิดจากการสูญเสียแคลเซียมออกมาจากส่วนนี้ ดังนั้นการให้แคลเซียมเพิ่มจากภายนอกจะช่วยทำให้ผนังเซลล์ของพืชยังคงความแข็งแรงและเพิ่มความแข็งแรงของแรงดึงระหว่างเซลล์พืช มีการใช้แคลเซียมกับผักและผลไม้ตัดแต่งพร้อมบริโภคกันมากเพื่อคงความแน่นเนื้อและความสดของผลิตภัณฑ์ (รูปที่ 1A) มีการแช่ผลแคนตาลูปทั้งผลในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้นเข้มข้น 2% ภายใต้ความดันบรรยากาศ 460 มิลลิเมตรปรอท นาน 2 นาที เพื่อดันสารละลายให้เข้าผลได้มากขึ้น จากนั้นนำมาปอกเปลือกและทำชิ้นแคนตาลูปตัดแต่งพร้อมบริโภคเก็บที่ 10°ซ ทำให้ชิ้นแคนตาลูปคงความแน่นเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับชิ้นแคนตาลูปพร้อมบริโภคที่แช่ในแคลเซียมคลอไรด์โดยตรงซึ่งทำให้ชิ้นแคนตาลูปมีรสเฝื่อนขมเล็กน้อย (เฉลิมชัย และคณะ, 2547) นอกจากนี้แคลเซียมภายในเซลล์ยังมีผลต่อระดับความสมดุลของการดำเนินกิจกรรมภายในเซลล์ การให้แคลเซียมจากภายนอกช่วยทำให้ผลไม้หลายชนิดมีการสุกและเสื่อมสภาพช้าลง เช่น การนำผลอาโวกาโดมาแช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 2% ภายใต้ความดันบรรยากาศ 250 มิลลิเมตรปรอท นาน 10 นาที ทำให้ผลอาโวกาโดสุกช้าลง 2-3 วัน (Wickramasinghe et al., 2013)
2.การคายน้ำ หรือสูญเสียน้ำ
แคลเซียมยังมีผลต่อกลไกการตอบสนองในเซลล์หลาย ๆ อย่าง และกลไกหนึ่งที่สำคัญคือแคลเซียมสามารถชักนำการปิดของปากใบได้ ซึ่งการเหี่ยวของผักและผลไม้สัมพันธ์กับการสูญเสียความชื้นในตัวผลิตผลจากช่องเปิดต่างๆ เช่น การเหี่ยวของขนเงาะและเปลือกเงาะอย่างรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว เนื่องจากขนเงาะมีช่องเปิดรูปากใบจำนวนมาก (รูปที่ 1B) เงาะจึงมีการคายน้ำมากจะทำให้ขนและเปลือกเหี่ยวได้ง่ายและรวดเร็วหลังการเก็บเกี่ยว การทดลองการแช่ผลเงาะพันธุ์โรงเรียนในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 0.5 mg/l นาน 5 นาที ก่อนนำไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13°ซ สามารถชะลอการเปลี่ยนแปลงคุณภาพของผลเงาะได้ดี โดยมีแนวโน้มว่าแคลเซียมในเนื้อเยื่อเปลือกเงาะที่เพิ่มมากจะช่วยชักนำการทำให้ปากใบของขนเงาะปิด (Wongs-Aree and Kanlayanarat, 2004)
3. ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความผิดปกติทางสรีรวิทยาของพืช
ผลไม้หลายชนิดมีอาการผิดปกติในระหว่างและหลังการเก็บรักษาได้ง่าย แคลเซียมในความเข้มข้นที่เหมาะสมสามารถลดอาการผิดปกติทางสรีรวิทยาต่างๆ เช่น การใช้แคลเซียมคลอไรด์และแคลเซียมไนเตรทฉีดพ่นที่ต้นเริ่มจากประมาณ 3 สัปดาห์หลังกลีบดอกร่วง และทำซ้ำทุก 2 สัปดาห์จนกว่าเก็บเกี่ยว ช่วยลดอาการไส้ฉ่ำน้ำ รอยจุด และไส้สีน้ำตาลในผลแอปเปิลระหว่างการเก็บรักษา (Conway et al., 2012) หรือในสับปะรดซึ่งเป็นผลไม้เขตร้อนและประเทศไทยมีการส่งออกสับปะรดไปยังตลาดต่างประเทศในปริมาณมากแต่เกือบทั้งหมดส่งออกในรูปสับปะรดกระป๋อง ทั้งนี้ถึงมีความต้องการผลสับปะรดสดมากแต่ปัญหาในการส่งออกคือสับปะรดเกิดอาการไส้สีน้ำตาลได้ง่ายระหว่างการเก็บที่อุณหภูมิต่ำแม้จะเก็บที่อุณหภูมิ 13- 15°ซ ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่แนะนำสำหรับเก็บรักษาผลไม้เมืองร้อน มีวิจัยหลายงานศึกษาการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อลดความเสียหายจากอาการไส้สีน้ำตาลในผลสับปะรด แต่ยังไม่มีวิธีไหนให้ผลอย่างแน่นอน การใช้แคลเซียมคลอไรด์กับสับปะรดหลังการเก็บเกี่ยวเป็นวิธีการหนึ่งที่มีแนวโน้มในการลดอาการไส้สีน้ำตาลได้ดี (รูปที่ 1C) (Youryon et al., 2013)
4. ความเสียหายทางกายภาพ
ผลไม้ที่มีอ่อนนิ่มง่ายหลังการเก็บเกี่ยวหรือระหว่างการสุก มักก่อให้เกิดความเสียหายเชิงกายภาพและเชิงกลกับผลิตผลในระหว่างการขนส่งระยะทางไกล การให้แคลเซียมกับผลไม้จะส่งผลในการคงความแน่นเนื้อของผลไม้หลายชนิดหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการป้องกันความเสียหายระหว่างขนส่ง เช่น การจุ่มผลท้อหลังการเก็บเกี่ยวในสารละลายเกลือแคลเซียม 3 ชนิดคือแคลเซียมคลอไรด์ แคลเซียมแลคเตท และแคลเซียมพรอพิโอเนท ความเข้มข้นประมาณ 0.1% นาน 1 วัน ทำให้ผลท้อมีปริมาณแคลเซียมในเปลือกเพิ่มขึ้น 2.7 เท่า ส่วนในเนื้อเพิ่มขึ้นถึง 74% โดยไปเพิ่มแคลเซียมในส่วนของเพคตินที่ละลายน้ำในผนังเซลล์มากขึ้นทำให้ผลมีความแน่นเนื้อมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากให้ความเข้มข้นของเกลือแคลเซียมสูงขึ้นถึง 0.5% จะทำให้เกิดความเป็นพิษกับผิวผล สีผิวเพี้ยนและเกิดรอยจุดที่ผิว (Manganaris et al., 2007) หรือการให้แคลเซียมความเข้มข้น 1-2% กับผลฝรั่งพันธุ์ ‘กลมสาลี’ แล้วนำมาเก็บที่อุณหภูมิห้อง สามารถชะลอการสูญเสียความแน่นเนื้อและการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกได้ดี (Wongs-Aree and Srilaong, 2006)
5. ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากโรคพืชภายหลังการเก็บเกี่ยว
หลักการใช้แคลเซียมนอกจากมีผลทำให้เซลล์และผนังเซลล์ของพืชมีความแข็งแรงคงความแน่นเนื้อได้ดีแล้ว ยังทำให้เซลล์พืชต้านทานการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรคได้ดีขึ้น การใช้แคลเซียมคลอไรด์มีประสิทธิภาพดีต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราโรคผลเน่าในผลเงาะหลังการเก็บเกี่ยว สาเหตุจากเชื้อรา Botryodiplodia theobromae หรือการใช้แคลเซียมไนเตรทและแคลเซียมคลอไรด์กับผลมะม่วงทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวลดการเจริญของสาเหตุโรคแอนแทรคโนส และโรคผลเน่า สาเหตุจากเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides และ Diplodia natalensis แต่การใช้แคลเซียมคลอไรด์ให้ผลดีกว่าแคลเซียมไนเตรท (Kaiser et al., 2001) หรือการใช้แคลเซียมแลคเตทเพื่อคงคุณภาพและความแน่นเนื้อของชิ้นสาลี่ตัดแต่งพร้อมบริโภค สามารถลดการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์บนชิ้นสาลีตัดแต่งได้น้อยกว่าที่มาตรฐานกำหนด (Alandes et al., 2009)
รูปที่ 1 สภาพเส้นมะละกอพร้อมปรุงหลังแช่ในสารละลายแคลเซียมคลอไรด์ (A), ภาพถ่ายแสดงปากใบของขนเงาะพันธุ์โรงเรียนภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง (B), สภาพการเกิดอาการไส้สีน้ำตาลในผลสับปะรดพันธ์ตราดสีทองที่ไม่ได้ให้ (สองแถวบน) และให้แคลเซียมคลอไรด์ความเข้มข้น 0.5% (สองแถวล่าง) ก่อนการเก็บรักษาที่ 13°ซ นาน 2 สัปดาห์ (C)
ข้อควรคำนึงในการใช้แคลเซียม
ปัญหาหลักอย่างหนึ่งก็คือจะทำอย่างไรให้ธาตุแคลเซียมเข้าไปในผลได้มากพอ เนื่องจากแคลเซียมเป็นธาตุที่ไม่เคลื่อนย้ายในพืช ดังนั้นการเพิ่มปริมาณแคลเซียมในดินเพื่อเพิ่มปริมาณแคลเซียมในผลไม้มักไม่ค่อยได้ผลดี การให้แคลเซียมที่ผลโดยตรงดูจะเป็นวิธีการเพิ่มปริมาณแคลเซียมในผลที่ได้ผลที่สุด นั่นคือการให้แคลเซียมช่วงก่อนการเก็บเกี่ยวโดยการฉีดพ่นที่ผลบนต้น โดยสามารถใช้ผสมรวมไปกับสารเคมีฆ่าแมลงและฉีดพ่นต้นตามปกติได้เลย หรือการให้แคลเซียมกับผลหลังการเก็บเกี่ยวโดยการจุ่มผล หรือแช่ผลในระบบสุญญากาศหรือให้ความดันพาสารละลายแคลเซียมเข้าไปในผล อย่างไรก็ตามการให้แคลเซียมทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวก็ยังพบปัญหาบางประการ เช่นความเข้มข้นของแคลเซียมที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้มีปริมาณแคลเซียมในผลไม่มากพอที่จะส่งผลทำให้ผลไม้มีคุณภาพที่ดีได้ ตรงกันข้ามหากผลไม้ได้รับแคลเซียมมากเกินไปอาจทำให้ผลไม้เกิดความผิดปกติได้ การให้แคลเซียมกับพืชอาจให้ในรูปเกลือแคลเซียมชนิดต่างๆ นำมาละลายน้ำตามความเข้มข้นที่ต้องการ อย่างไรก็ตามเกลือแคลเซียมบางชนิดอาจละลายน้ำได้ไม่ดี โดยอาจจะใส่น้ำส้มสายชูกลั่น (5%) 2 มิลลิลิตร ต่อสารละลาย 5 ลิตร เพื่อช่วยในการละลาย นอกจากนี้เกลือแคลเซียมในรูปต่าง ๆ อาจไม่สามารถใช้ทดแทนกันได้ และบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการผิดปกติกับผลไม้ได้
ในมนุษย์ แคลเซียมเป็นเกลือแร่ที่มีมากที่สุดในร่างกาย โดยเกือบทั้งหมดอยู่ที่กระดูกและฟัน แคลเซียมส่วนที่เหลืออยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ และของเหลวในร่างกาย ซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการเมแทบอลิซึมของเซลล์ ถ้าร่างกายขาดแคลเซียมจะทำให้เกิดโรคกระดูกเสื่อมโดยปกติจะเกิดขึ้นหลังจากอายุ 35-40 ปี อาหารจากพืชที่มีแคลเซียมส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพืชเมล็ดและผักใบเขียว พืชในบ้านเราที่พบว่ามีแคลเซียมอยู่มาก ได้แก่ งาดำ ถั่วเหลือง ถั่วแดงหลวง เม็ดบัว รำข้าว กลอย มันเทศ สาคู ใบชะพลู ใบยอ ยอดแค ยอดสะเดา ผักคะน้า ผักแพว ทั้งนี้จากงานทดลองต่างๆ ในการเพิ่มปริมาณแคลเซียมในผลไม้เพื่อให้คุณภาพของผลไม้ที่ดีหลังการเก็บเกี่ยว น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำการประชาสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคผลไม้หรือผลิตผลสดพร้อมบริโภคที่มีแคลเซียมสูงเพื่อสุขภาพสำหรับคนสูงวัย
ข้อมูลจาก https://www.phtnet.org/2018/12/1117/
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น