ทำไมมันหวานญี่ปุ่นไม่มีหัว?? : ดินขาดธาตุอะไร หาคำตอบ ตรวจดิน กับ iLab.work

 มันหวานญี่ปุ่น หลาย ๆ ท่านที่ได้ลองปลูกจะพบว่าปลูกไม่ยากแถมยังสามารถขยายได้ง่ายอีกด้วย แต่ทว่าก็มีจำนวนไม่น้อยที่ปลูกแล้วพบว่าไม่มีหัวหรือไม่ลงหัว อันที่จริงปัญหานี้ไม่ได้มีเพียงแค่บ้านเราเท่านั้น แม้แต่ในประเทศญี่ปุ่นเองชาวญี่ปุ่นหลายท่านที่ปลูกมันหวานก็เจอปัญหาเช่นเดียวกันกับเราคือผลผลิตที่ได้มีหัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้นและบางรายร้ายยิ่งกว่าเพราะได้เพียงรากฝอยมาแทน

Tsuru-Boke (ซีรุ-โบเคะ) เป็นชื่อของลักษณะต้นมันญี่ปุ่นที่มีเถาว์ยาวอวบผลิใบเขียวใหญ่มองเพลินตาสวยงาม ซึ่งต้นมันหวานญี่ปุ่นที่มีลักษณะแบบนี้ส่วนใหญ่จะพบกับปัญหาไม่มีหัวหรือไม่ลงหัว อาการนี้เกิดขึ้นได้กับยอดพันธุ์ที่เป็นยอดจากหัวโดยตรงและยอดที่ตัดจากเถาว์มาแล้วหลายชั้น นั่นหมายถึงไม่ว่าจะเป็นยอดพันธุ์จากหัวใหม่ ๆ หรือยอดเก่าก็มีโอกาสเป็นได้ทั้งหมด ในประเทศญี่ปุ่นสรุปสาเหตุที่อาจมีปัจจัยที่ทำให้เกิดลักษณะอาการเช่นนี้คือ

ธาตุไนโตรเจนในดินสูงเกินไป

เถาว์เยอะเกิน

Image Cr:http://hatake-kiroku.blogspot.com/2016/08/blog-post_20.html

ธาตุไนโตรเจน (N) ในดินที่มีมากอาจส่งผลดีกับพืชหลายชนิด แต่สำหรับมันหวานญี่ปุ่นแล้วการมีธาตุนี้ในดินสูงเกินไปจะทำให้ต้นมันแตกกอเถาว์แน่นคลุมดินทึบสวยงาม มีลำต้นอวบ ใบใหญ่เขียวสวย และมีโอกาสทำให้ไม่มีหัวได้

*แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลักษณะดังกล่าวนี้จำเป็นต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วยเช่นกัน

ในดินที่ปลูกมีปุ๋ยมากเกินไป

เช่นเดียวกับลักษณะของอาการเมื่อเจอกับไนโตเรจน (N) ในดินที่มากเกินไป การใส่ปุ๋ยในอัตราที่มากเกินไปมีผลอย่างมากที่จะส่งผลต่อการลงหัวของต้นมันหวานญี่ปุ่น โดยปกติแล้วการปลูกมันหวานในประเทศญี่ปุ่นจะเลือกที่จะไม่ใส่ปุ๋ยเลยอันเนื่องจากในดินมีธาตุอาหารจากดินภูเขาไฟมากเพียงพออยู่แล้วอีกทั้งน้ำที่ใช้รดยังเป็นน้ำแร่อีกด้วย หรือในพื้นที่ที่ติดทะเลจะเลือกใส่ปุ๋ยเพียงเล็กน้อยซึ่งหากเทียบกับปริมาณพืชผักชนิดอื่น ๆ แล้ว (ยกตัวอย่างพื้นที่ 200 ตรม. หรือ ครึ่งงาน จะใช้ปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง (K) เพียงประมาณ 0.5 กรัม – 1 กก. ต่อพื้นที่ 200 ตรม.)

ดินที่ปลูกอุ้มน้ำมากเกินไป

เมื่อดินมีการอุ้มน้ำมากเกินไป เช่นดินเหนียว ต้นมันจะไม่สามารถลงหัวได้เนื่องจากรากที่จะเจริญเติบโตไปเป็นหัวมันจำเป็นต้องหายใจ เมื่อน้ำขวางกั้นอากาศไม่ให้มีการถ่ายเทเข้าไปในดิน มันหวานญี่ปุ่นจะแตกรากฝอยจำนวนมากและจะไม่เจริญเติบโตไปเป็นหัวมันกลับกันบนพื้นดิน ใบและเถาว์จะเขียวสด ก้านอวบใหญ่เช่นเดียวกับลักษณะของต้นที่ได้รับปริมาณไนโตรเจนและปุ๋ยมากเกินไปนั่นเอง

ได้รับแสงน้อย

แสงมีบทบาทสำคัญต่อการลงหัวและรสชาติค่อนข้างมากเนื่องจากต้นมันหวานจำเป็นต้องสังเคราะห์แสงเพื่อไปเปลี่ยนเป็นกระบวนการสร้างน้ำตาลและแป้งเพื่อนำไปกักเก็บไว้ที่หัว เมื่อต้นมันได้รับแสงน้อยเกินไป (เช่นปลูกไต้ชายคาหรือมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นบดบังแสง) มีโอกาสทำให้เกิดอาการมีแต่ใบมีแต่เถาว์และไม่มีหัวหรือมีหัวแต่เนื้อที่ได้อาจสากและหวานน้อยหรือไม่หวานเลยเป็นต้น

ร้อนเกินไปหนาวเกินไป

สภาพอากาศมีผลต่อการลงหัวของมันหวานเช่นกัน โดยปกติพืชมีหัวจะสร้างรากสะสมอาหารเมื่อช่วงแสงของวันสั้นลงหรือมีอากาศเย็นขึ้นเล็กน้อย ในกรณีที่ปลูกในที่ร้อน-ร้อนจัด (อุณหภูมิเฉลี่ย 37องศาขึ้นไป) มีโอกาสที่จะทำให้ต้นมันไม่สร้างหัวได้ หรือ การปลูกในพื้นที่เย็นจัดเช่นต่ำกว่า 15องศาลงไป ก็จะทำให้ต้นมันแคระแกรนไม่ลงหัวได้

พื้นที่อับลมพัดผ่านไม่สะดวก

มันหวานหรือมันเทศชอบพื้นที่ที่มีลมพัดผ่านสะดวก แม้อากาศจะร้อนจัดแต่หากมีลมพัดให้ชื่นใจมันหวานก็มีหัวได้ตามปกติ แต่หากไม่มีลมพัดเลยหรือร้อนอบตลอดเวลา สัดส่วนการลงหัวก็จะลดลงตามเช่นกัน

ต่อมาเป็นปัจจัยที่ไม่เกี่ยวกับการแสดงอาการทางใบหรือเถาว์แต่เป็นเพราะปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม, วิธีการหรือตัวต้นมันหวานญี่ปุ่นเอง เช่น

ดินที่ปลูกแข็งหรือแน่นเกินไป

ดินแข็ง ดินแน่น เมื่อปลูกมันในพื้นที่ที่มีดินแข็งหรือแน่น รากของต้นมันหวานจะไม่สามารถชอนไชเข้าไปยังเนื้อดินได้หรือสามารถชอนไชได้แต่เมื่อต้องขยายพื้นที่สำหรับสร้างหัวจะไม่สามารถทำได้เพราะเนื้อดินรัดแน่นจนเกินไปนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพรวนดินและขึ้นแปลงให้ต้นมันหวานญี่ปุ่นก่อนปลูกทุกครั้ง

ปลูกในพื้นที่เดิมติดต่อกันหลายรุ่น

ไส้เดือนฝอยมันญี่ปุ่น

Image Cr:https://www.boujo.net/handbook/mame/mame-331.html

การปลูกมันในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ จะทำให้เกิดปรสิตในดินที่ชื่อ Nekobu-Senjyu (Meloidogyne incognita) ไส้เดือนฝอยชนิดหนึ่ง ชอบโจมตีรากพืช การปลูกมันญี่ปุ่นต่อเนื่องจะเป็นการเพิ่มจำนวนให้ไส้เดือนฝอยเหล่านี้และเมื่อมันมีจำนวนมากรากของมันหวานก็จะถูกทำลาย บางครั้งจะทำให้ไม่สามารถเกิดเป็นหัวมันหวานได้

พื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ

พื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำมีผลต่อการลงหัวของมันญี่ปุ่น ต้นมันต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโตเมื่อทิ้งช่วงการรดน้ำหรือปล่อยให้ดินแห้งแข็งกระด้างต้นมันจะชงักและอาจส่งผลให้ไม่ลงหัวได้เช่นกัน

ปล่อยให้วัชพืชขึ้นคลุม

เมื่อมีวัชพืช ควรกำจัดแต่เนิ่น ๆ หากวัชพืชขึ้นคลุมเถาว์มันหรือต้นมันญี่ปุ่นของเราแล้ว จะทำให้ต้นมันได้รับแสงน้อยลงและยังถูกแย่งอาหารอีกด้วย นอกจากนี้ต้นวัชพืชยังเป็นที่หลบกำบังของแมลงศัตรูมันหวานอย่างดีอีกด้วย

ปลูกในกระถางเล็กและตื้น

ปลูกในกระถางเล็กและแคบเกินไปมักทำให้หัวมันไม่สามารถลงหัวได้ เช่นเดียวกับลักษณะดินแข็งและแน่นเกินไป ดังนั้นหากปลูกต้นมันหวานญี่ปุ่นในกระถางควรปลูกในกระถางที่ใหญ่มีพื้นที่กว้างและลึกเป็นต้น

ไม่ได้ตลบเถาว์

ปลูกมันหวานญี่ปุ่น

Image Cr:http://farm-ogawa.cocolog-nifty.com/blog/2012/07/post-1a5b.html

มันหวานญี่ปุ่นจำเป็นต้องได้รับการตลบเถาว์เมื่ออายุ 2-3 เดือน หรือ เมื่อเห็นว่าเถาว์ต้นมันเริ่มเลื้อยและแทงรากลงล่างแปลง เหตุที่ต้องตลบเถาว์เป็นเพราะเมื่อรากของเถาว์ที่ยื่นยาวออกมาแทงราก รากเหล่านี้จะพัฒนากลายเป็นหัว การที่ต้นมันมีหัวเกิดขึ้นหลายตำแหน่งของต้นจะเป็นการแชร์ห้องสะสมอาหารทำให้หัวมันตรงโคนที่เราปลูกมีขนาดเล็กหรือไม่ก็ไม่มีเลย

ต้นพันธุ์ป่วยหรือติดโรค

ต้นพันธุ์ที่มีการตัดติดต่อกันหลายชั้นหรือเป็นต้นพันธุ์จากเถาว์ที่มีอายุมากมักเป็นต้นพันธุ์ที่อาจมีโรคหรือไวรัสแอบแฝงอยู่หรือแม้กระทั้งการเพาะต้นพันธุ์จากหัวที่ได้จากต้นที่ติดโรคเองก็ทำให้ได้ต้นพันธุ์ที่ติดโรคเช่นเดียวกัน โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยแสดงอาการแต่จะเห็นได้ชัดจากผลผลิต เช่นมีแต่รากแขนง ทรงหัวหงิกงอแกรน เป็นต้น ดังนั้นการได้ต้นพันธุ์ที่สะอาดปลอดโรคก็เป็นส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้สามารถเก็บผลผลิตได้มากเช่นกัน

หลังจากรู้ที่มาของสาเหตุที่ไม่สามารถทำให้มีหัวแล้วนายสวนจึงได้ทดลองนำต้นพันธุ์จากแปลงเพาะปลูกที่เคยนำยอดมาปลูกต่อจนได้ผลผลิตมาแล้ว 3 ครั้ง ถ้านับรุ่นก็น่าจะประมาณ F3-F4 มาลองปลูกในบ่อซีเมนต์ดู แต่ละบ่อมีจำนวน 4 ต้นและทดสอบเงื่อนไข่กรณีใส่ปุ๋ยดู

บ่อแรก :ไม่ใส่ปุ๋ย รดน้ำวันเว้นวันบ้าง ในช่วงฝนตกจะไม่รด เมื่ออายุครบ 3 เดือนรดน้ำสัปดาห์ละครั้ง

บ่อสอง : ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ใส่ 2 ครั้ง ช่วงเดือนที่ 2 หนึ่งครั้งและช่วงเดือนที่ 3 อีกหนึ่งครั้ง ใส่ปริมาณประมาณ 1 กำมือ รดน้ำเหมือนข้อแรก

บ่อที่สาม :ใส่ปุ๋ยคอกวัว และ มูลค้างคาว เดือนละครั้ง รดน้ำเหมือนข้อแรก

บ่อที่สี่ :เทวดาเลี้ยง ไม่สนใจ ไม่ทำอะไรเลย

ผลที่ได้

ทำไมมันหวานญี่ปุ่นไม่มีหัว

บ่อแรก ไม่ใส่ปุ๋ย รดน้ำวันเว้นวันบ้าง ในช่วงฝนตกจะไม่รด เมื่ออายุครบ 3 เดือนรดน้ำสัปดาห์ละครั้ง

ใบและเถาว์ :มีปริมาณเยอะมากและยาวมาก

หัว:ผลผลิตค่อนข้างมากหัวใหญ่อวบอ้วนหลายหัวขนาดค่อนข้างสม่ำเสมอกันมีหัวเล็กประปราย (เฉลี่ย 1 ต้นจะมีหัวใหญ่ 2 หัวและเล็ก 3 หัว)

รสชาติ :มีแบบพอรับรู้ว่ามีรสหวานอยู่เล็กน้อยและหวานในระดับที่น่าพึงพอใจ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

บ่อสอง ปุ๋ยเคมี

ใบและเถาว์ :มีปริมาณเยอะยาวแต่ไม่เท่าบ่อแรก

หัว:ให้หัวน้อย 1 ต้นมีหัวใหญ่เพียง 1-2 หัว และมีหัวเล็กมาก

รสชาติ :ไม่รับรู้ถึงรสใด ๆ เลย

บ่อสาม ปุ๋ยคอกวัวและมูลค้างคาว

ใบและเถาว์ :ใบและเถาว์มีน้อยกว่าบ่อแรกและสอง

หัว:มีหัวใหญ่ 5 หัว เฉลี่ย 1 ต้นมีหัวใหญ่ 1-2 หัว ส่วนที่เหลือขนาดกลาง ๆ

รสชาติ :ไม่มีรสและหวานเล็กน้อยปน ๆ กัน

บ่อสี่ เทวดาเลี้ยง

ใบและเถาว์ :เยอะมากและยาวมาก

หัว:เล็กมากไปจนถึงไม่มีเลย

รสชาติ :ไม่มีรสหวานเลยและมีเสี้ยนเป็นบางหัว

สรุป

ปัจจัยที่ทำให้ไม่มีหัวนั้นความเห็นส่วนตัวคิดว่าน่าจะต้องมาจากปัจจัยจากข้างต้นอย่างน้อยมากกว่า 2 ปัจจัยรวมกัน จากผลทดลองใช้กล้าพันธุ์ที่เป็นรุ่น F3-F4 ที่มีอายุค่อนข้างมาก(ถ้านับจากต้นแม่ที่ลงดินครั้งแรกจนถึง F4 อายุยอดน่าจะประมาณเกือบ 1 ปี 4 เดือน) แต่ก็ยังลงหัวได้ปกติ แต่สิ่งที่ส่งผลอย่างเห็นได้ชัดคือปุ๋ยและน้ำ ปุ๋ยมากไปปริมาณหัวน้อยลงและมีขนาดไม่สม่ำเสมอ ขณะที่น้ำน้อยไปทำให้หัวหดเล็กแกรน ส่วนที่ไม่มีปุ๋ยเลยแต่ได้น้ำปกติกลับให้หัวจำนวนที่มากและมีรสที่ดีกว่าตัวอย่างอื่น ๆ ซึ่งตรงกับที่บทความของชาวญี่ปุ่นที่มีเขียนไว้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการทดลองที่ดีควรมีตัวอย่างของแบบการทดลองอย่างน้อย 2 ตัวอย่างขึ้นไป เช่นควรมีแบบบ่อแรกอย่างน้อย 2 บ่อเพื่อเทียบว่ามีความถูกต้องมากน้อยหรือไม่เป็นต้น ดังนั้นการทดลองนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ และความน่าจะเป็นที่ทางเราได้ทำเป็นตัวอย่างขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจปลูกเท่านั้น ไม่ควรยึดติดหรือปฏิบัติตามแต่ควรปรับปรุงวิธีการให้เหมาะสมกับพื้นที่ที่เราเพาะปลูกอีกทีค่ะ

ขอมูลจาก https://www.orchidtropical.com/sweet-potato/ทำไมมันหวานญี่ปุ่นไม่มีหัว/

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?