มันสำปะหลังทำลายดินจริงหรือ - ปรับปรุงดิน เติมธาตุที่ขาด ตรวจวิเคราะห์ได้ ดินขาดธาตุอะไร www.iLab.work

 มันสำปะหลังทำลายดินจริงหรือ

มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่ายเมื่อเปรียบเทียบกับพืชชนิดอื่นเป็นพืชที่ทนต่ออากาศแห้งแล้ง และแปรปรวนได้ดี สามารถเจริญเติมโตได้ดีที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อายุการเก็บเกี่ยวก็สามารถยืดหยุ่นได้ กล่าวคือสามารถทิ้งหัวมันสำปะหลังไว้ที่ดินรอจนกว่าราคาจะดีตามความต้องการ หรือจนกว่าจะมีราคาเพียงพอ ซึ่งอาจจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ 8 – 14 เดือน โดยทำให้หัวมีคุณภาพลดต่ำลงมากนัก และการปลูกมันสำปะหลังให้ผลตอบแทนค่อนข้อนสูงเปรียบกับพืชชนิดอื่น จงทำให้เกษตรกรนิยมปลูกกันอย่างกว้างขวาง


พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย

จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่าในปี 2545 มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังประมาณ 6.2 ล้านไร่ ได้ผลผลิตมากกว่า 16.7 ล้านตัน คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ย 2.7 ตันต่อไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณร้อยละ 54 ภาคกลางและตะวันออกร้อยละ 22 และภาคเหนือร้อยละ 14 และมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 2,204.80 บาทต่อไร่ หรือ 0.81 บาทต่อกิโลกรัม มีผลตอบแทนสุทธิต่อไร่เฉลี่ย 610.48 บาทหรือ 0.23 บาทต่อกิโลกรัม

ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังมานานมากว่า 50 ปี โดยในปี พ.ศ. 2493 ส่งออกแป้งมันสำปะหลังจำนวน 18,915 ตัน กากมัน 14,934 ตัน สาคู 2,248 ตัน และมันเส้น 34 ตัน คิดเป็นมูลค่า 33 ล้านบาท ต่อมาในปี 2521 การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังกลายเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีมูลค่า 10,891 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2532 ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังปริมาณมากที่สุดจำนวน 9,826,220 ตัน เป็นมูลค่า 23,974 ล้านบาทโดยมีในสำปะหลังอัดเม็ดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ส่งไปจำหน่ายในตลาดยุโรป เฉพาะมันสำปะหลังอัดเม็ดอย่างเดียวในปี พ.ศ. 2532 มีมูลค่าส่งออกถึง 21,504 ล้านบาท ในปีต่อๆ มาผลิตภัณฑ์แป้งแปรปู และมันเส้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณการส่งออกมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2544 มีการส่งออกแป้งแปรรูปเพิ่มขึ้นเป็น 204,926 ตัน มูลค่า 3,550 ล้านบาท ส่งแป้งดิบจำนวน 862,995 ตัน มูลค่า 6,304 ล้านบาท ส่วนการส่งออกมันอัดเม็ดลดลงเหลือเพียง 3.65 ล้านตัน มูลค่า 8,949 ล้านบาท เนื่องจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ของสหภาพยุโรปหันไปใช้ธัญพืชของประเทศสมาชิกฯ แทน

นอกจากศักยภาพของอุตสาหกรรมแปรรูปมันสำปะหลังที่ทันสมัยสามารถพัฒนาตามความต้องการตลาดได้ตลอดเวลา อีกทั้งมีระบบการขนส่งขนถ่ายและท่าเรือที่ทันสมัยแล้ว หากพิจารณาในด้านการผลิตพืชหลักของไทยไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด อ้อย หรือถั่วเหลือง แล้วจะเห็นว่ามีผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะที่ผลผลิตแป้งมันสำปะหลังของไทยสูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั่วโลก โดยในปี พ.ศ. 2545 ผลผลิตแป้งมันสำปะหลังเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 1,322 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ไทยสามารถผลิตได้เฉลี่ยสูงถึง 2,805 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งผลให้ไทยมีวัตถุดิบที่จะนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง

สืบเนื่องจากที่กรรมการการค้างต่างประเทศจัดสัมนาเชิงปฎิบัติการ “ยุทธศาสตร์มันสำปะหลังเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน” เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนสำหรับกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมมันสำปะหลังแบบครบวงจร ก่อนนำเข้าคณะกรรมการนโยบายและมาตรการมันสำปะหลัง ซึ่งมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานพิจารณา กรมการค้าต่างประเทศได้ประมวลผลสรุปผลการสัมนาในเบื้องต้นไว้ว่าราคาหัวมันสำปะหลัง(เชื้อแป้ง 25%) ต้องมีเสถียรภาพราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 1.00 บาท

 มันสำปะหลัง…ถูกใส่ร้าย

มันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังมีการเข้าใจผิด ว่าปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรักษา และการปลูกมันสำปะหลังยังเป็นการทำลายดิน และสิ่งแวดล้อม จึงถูกมองว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่มี ศักยภาพต่ำ แต่ที่จริงแล้วหากมีการจัดต้นทุนการผลิตและการตลาดให้ถูกต้องแล้ว จะเห็นว่ามันสำปะหลังเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงมาก สามารถแข่งขัยชนกับธัญพืชอื่นได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนมากได้เปลี่ยนมาปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี พร้อมกับการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูก การดูแลรักษาโดยไม่ทำลายดินและสิ่งแวดล้อม เช่นการนำน้ำทิ้งจากโรงงานแป้งมันมาใช้ปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการชะล้างหน้าดินด้วย การปลูกแฝกขวางแนวลาดเอียง รวมกับการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีบำรุงดิน เกษตรกรดีเด่นที่คณะกรรมการบริหารมูลนิธิกองทุนมันสำปะหลังคัดเลือกได้ในปี พ.ศ. 2544 จำนวน 3 รายได้แก่ นายแสวง พานทอง จังหวัดนครราชสีมา ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ ระยอง 90 ได้ผลผลิต 5 – 7 ตันต่อไร่ นายติ๊ด ศรีภูมิ จังหวัดปราจีนบุรี ได้ผลผลิต 6 ตันต่อไร่ และนายประสิทธิ์ ดวงจันทร์ทิพย์ จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ผลผลิต 4.85 ตันต่อไร

โดยทั่วไป มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถแลูกและขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิดในประเทศไทย ตั้งแต่ดินหยาบจนถึงดินเหนียว ปฏิกิริยาของดินตั้งแต่เป็นกรดจัดถึงเป็นด่างปานกลาง มีค่า pH ระหว่าง 4.5-8.0 และในดินที่มีระดับความอุดมสมบูรณ์ต่ำจนถึงระดับสูง แต่ดินที่เหมาะสมสำหรับมันสำปะหลังคือดินที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบ ตั้งแต่ดินร่วนปนทรายจนถึงดินเหนียวปนทรายที่สามารถระบายน้ำได้ดี มีค่า pH ระหว่าง 5.0 – 7.0 หน้าดินมีความลึกตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไป แหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ได้แก่ชุดดินโคราช ส่วนชุดดินสัตหีบ เป็นตัวแทนดินในภาคตะวันออก

ปัญหาการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดินมักเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมันสำปะหลังซึ่งปลูกในดินร่วนทรายขาดสิ่งปกคลุมดินในระยะแรกของการเจริญเติบโตประกอบกับสภาพของพื้นที่ปลูกไม่ราบเรียบ บางแห่งมีความลาดเท ทำให้การสูญเสียผิวดินชั้นบนจากการไหลบ่าของน้ำฝน ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี การสูญเสียผิวหน้าดินทำให้อินทรียวัตถุ แหล่งสำคัญของธาตุอาหารพืชลดน้อยลง โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่เดิมอย่างต่อเนื่องยาวนาน การเสื่อมของดินเกิดขึ้นอย่างชัดเจน

การปรับปรุงและบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การผลิต โดยการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปและเพิ่มเติมตามความต้องการของพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของดิน แต่ต้องพิจารณาใช้ปุ๋ยเคมีในเชิงเศรษฐกิจ ไม่ฟุ่มเฟือย ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

จากข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 3 มีนาคม 2546 เกี่ยวกับการประชุมกำหนดวิสันทัศน์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม และได้ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุติการส่งเสริมการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังโดยให้เหตุผลว่า “การส่งออกอ้อยประสบผลขาดทุนรัฐบาลอุดหนุนไม่ไหว ฉะนั้นจึงไม่ควรสนับสนุน ส่วนมันสำปะหลังเป็นพืชทำลายดิน เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ จึงไม่ควรส่งเสริมการปลูกมันสำปะหลังเช่นกัน” อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า พ.ต.ท. ทักษิณไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง เพราะถ้าผลผลิตต่อไร่แค่ 700-800 บาท ถือว่าไม่คุ้มและหากไปขยายพื้นที่ปลูกจะทำให้การบุกรุกป่ามากขึ้น ฉะนั้นปล่อยให้มีการผลิตเท่าเดิมและให้พัฒนาการปลูกเดิมให้ดีขึ้น

มันสำปะหลังเป็นพืชทำลายดินหรือไม่นั้น เป็นคำถามในเชิงวิชาการเกษตรที่ดั้งเดิม สำหรับนักวิชาการที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับมันสำปะหลัง ทั้งในภาครัฐและเอกชนเคยพบเห็นมานานกว่า 30 ปี ศาสตราจารย์ ดร.เจริญศักดิ์ โรจน์ฤทธิ์พิเชษฐ์ ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้สรุปไว้ใน เรื่อง มันสำปะหลังเป็นพืชทำลายดินจริงหรือ (เอกสารประกอบการฝึกอบรมเพื่อสร้างวิทยากรมันสำปะหลังในท้องถิ่น 30 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2546 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทยฯ) ว่า ในอดีตได้มีบทความเกี่ยวกับมันสำปะหลังในแง่มุมพืชทำลายดินมากมายซึ่งมีผลให้พูดกันต่อๆ ไป แม้กระทั่งผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงก็กระจายข้อมูลดังกล่าวออกไป ทำให้เกิดการเข้าใจผิดกันไปต่าง ๆ นานา

ไม่มีพืชใดไม่ต้องกรธาตุอาหารจากดิน ธาตุอาหารจะสูญเสียไปจากดินได้อย่างน้อย 2 วิธีการ กล่าวคือ 1) พืชดูดไปใช้ จะสะสมอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตออกไป ธาตุอาหารเหล่านั้นจึงติดออกไปจากดิน และ 2) การชะล้างล้างหน้าดินหรือซึมลงใต้ดินระดับลึกพืชไม่สามารถนำไปใช้ได้ ธาตุอาหารที่ละลายน้ำหรือจับติดกับเม็ดดิน เวลาน้ำไหลบ่าจะเกิดการชะล้างไปจากแปลงเพาะปลูก ทำให้เสียธาตุอาหารไปฉะนั้นการปลูกพืชซ้ำที่เดิมติดต่อกันนานหลายปี หากไม่มีการใส่ปุ๋ย หรือธาตุอาหารชดเชย ทำให้ดินลดความอุดมสมบูรณ์ลงเป็นธรรมดา

การดูดใช้ธาตุอาหารจากดินของมันสำปะหลัง จากการวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารจากส่วนต่าง ๆ เช่น ต้น ใบ และหัว เก็บเกี่ยวเมื่ออายุ 12 เดือนให้ผลผลิต 2.93 ตันต่อไร่ พบว่ามันสำปะหลังใช้ธาตุอาหาร ไนโตรเจน และโพแทสเซียม จำนวน 15.2 และ 12.4 กิโลกรัมต่อไร่ ตามลำดับ และใช้ ฟอสฟอรัส จำนวน 3.6 กิโลกรัมต่อไร่

เมื่อจะพิจารณาว่ามันสำปะหลังทำลายดินมากหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าการปลูกมันสำปะหลังนำส่วนไหนของพืชไปจากดิน การปลูกพืชนี้เป็นการค้าเรานำส่วนหัวสดออกไปจากดินเท่านั้น ส่วนของใบก็ร่วงกลับคืนสู่ดิน ส่วนลำต้นก็ใช้ปลูกกลับสู่ดินอีก ดังนั้นธาตุอาหารที่มันสำปะหลังนำออไปจากดินก็คือส่วนหัวเท่านั้น จากรายงานของนักวิทยาศาสตร์หลาย ๆ ท่านทั้งในประเทศ และต่างประเทศตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 ถึง 1975 ที่ทำการวิเคราะห์จากแหล่งต่าง ๆ พันธุ์และปลูกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ กัน พบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณธาตุอาหารที่อยู่ในหัวสดจำนวน 1 ตัน จะมีธาตุไนโตรเจน 2.05 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 0.94 กิโลกรัม และโพแทสเซียม 5.02 กิโลกรัม

เมื่อปี 2519 สาขาดินและปุ๋ย กองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร ได้เปรียบเทียบปริมาณธาตุอาหารที่พืชนำออกไปจากดิน โดยเปรียบเทียบมันสำปะหลังกับ ข้าวโพด ปอแก้ว และอ้อย จากผลผลิตเฉลี่ยต่อ 1 ไร่ พบว่ามันสำปะหลังหัวสด 3,000 กิโลกรัมนำธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออกไปจากดิน 4.5 1.2 และ 14.7 กิโลกรัมตามลำดับ ข้าวโพดเมล็ด 300 กิโลกรัมนำธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออกไปจากดิน 4.8 2.3 และ 7.1 กิโลกรัมตามลำดับ ปอแก้ว ต้น-ใบ-เส้นใย 640 กิโลกรัมนำธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออแกไปจากดิน 10.9 4.0 และ 11.1 กิโลกรัมตามลำดับ อ้อย ลำต้นสด 8,000 กิโลกรัม นำธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมออกไปจากดิน 12.0 6.4 และ 32.8 กิโลกรัมตามลำดับ จะเห็นได้ว่ามันสำปะหลังนำธาตุอาหารไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ออกไปจากดินในปริมาณที่น้อยกว่าพืชอื่น ๆ ในการทดลองนี้ ส่วนโพแทสเซียม มันสำปะหลังนำออกไปจากดินรองจากอ้อย

พืช
ผลผลิต/ไร่
ธาตุอาหาร (กิโลกรัม)
ไนโตรเจน
ฟอสฟอรัส
โพแทสเซียม
มันสำปะหลัง
ข้าวโพด
ปอแก้ว
อ้อย
หัวสด 3,000 กก.
เมล็ด 300 กก.
ต้น-ใบ-ใย 640 กก.
ต้นสด 8,000 กก.
4.5
4.8
10.9
12.0
1.2
2.3
4.0
6.4
14.7
7.1
11.1
32.8

ที่มา :กองพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร 2519

รายงานอื่นที่ได้ผลการวิจัยทำนองเดียวกัน พบว่ามันสำปะหลังไดผลผลิต 2,188 กิโลกรัม และอ้อยได้ผลผลิต 7,015 กิโลกรัม อ้อยนำธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ออกไปจากดินมากกว่ามันสำปะหลังส่วนข้าวโพดได้ผลผลิต 314 กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับมันสำปะหลังแล้วพบว่า มันสำปะหลังนำธาตุโพแทสเซียมออกไปจากดินมากกว่าข้าวโพด แต่ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสน้อยกว่าข้าวโพด

จากข้อมูลการวิจัยดังกล่าวข้างต้นสรุปได้ว่า มันสำปะหลังไม่ได้นำธาตุอาหารหลักออกไปจากดินมากกว่าพืชอื่น ดังนั้นคำกล่าวที่ว่ามันปะหลังทำลายดินอาจไม่ถูกต้องนักเมื่อเปรียบเทียบกับการนำธาตุอาหารออกจากดินของพืชไร่ชนิดอื่น ๆ การจัดการดินของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต่างหาก ที่จะทำลายดินหรืออนุรักษ์ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยเฉพาะดินร่วนปนทรายที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ การปลูกพืชในพื้นที่ลาดเอียงควรมีการเตรียมดินขวางแนวระดับความลดเอียง แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกร หรือผู้รับจ้างเตรียมแปลงด้วยแทรกเตอร์จะไถดินตามความลาดเอียงเพราะสะดวกรวดเร็วในทางปฏิบัติเป็นเหตุให้การพังทลายชะล้างความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มมากขึ้น การปรับปรุงและบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การผลิต โดยการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปและเพิ่มเติมตามความต้องการของพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการเป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จำเป็น

 ดิน…ปุ๋ย…และมันสำปะหลัง

จากผลการทดลองของ โชติ สิทะบุศย์และคณะ เมื่อปี 2524 และ 2528 พบว่าการใส่ปุ๋ยเคมี และไถกลบต้นและใบมันสำปะหลังหลังเก็บเกี่ยวทุกปี ในปีที่ 10 ปริมาณของฟอสฟอรัส (P2O5) โพแทสเซียม (K2O) ในดินเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอินทรียวัตถุ (OM) ลดลงบ้างแสดงให้เห็นว่าการปลูกมันสำปะหลังในที่เดิมโดยมีการใส่ปุ๋ยเคมีและไถกลบต้นใบนานติดต่อกันถึง 10 ปี ยังคงรักษาและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินได้

สภาพปัจจุบันในเขตปลูกมันสำปะหลังเก่าแก่ดั้งเดิมนานกว่า 30-50 ปี คือบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว ผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยเมื่อประมาณ 20 ปีที่ผ่านมาประมาณ 2,200 – 2,300 กิโลกรัมต่อไร่ จากสถิติการเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรปีเพาะปลูก 2544/45 รายงานว่า จังหวัดดังกล่าวมีผลผลิตมันสำปะหลังเฉลี่ยตั้งแต่ 2,999 – 2,143 กิโลกรัมต่อไร่ หากมันสำปะหลังเป็นพืชทำลายดินแล้ว ทำไมผลผลิตมันสำปะหลังในเขตปลูกดั้งเดิมจึงมีผลผลิตที่สูงขึ้น ควรปรับปรุงและบำรุงรักาาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแก่การผลิตโดยการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกใช้ไปและเพิ่มเติมตามความต้องการของพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตตามต้องการ

 สรุป

จากข้อมูลทางวิชาการที่เสนอมาเกี่ยวกับการทำลายดินของมันสำปะหลัง พบว่ามันสำปะหลังไม่ได้นำธาตุอาหารออกจากดินมากกว่าพืชไร่ชนิดอื่น แต่เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกมันสำปะหลังในดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และเป็นดินร่วนปนทรายซึ่งปกติมีการชะล้างพังทลายสูงอยู่แล้ว การจัดการดินที่ถูกต้องเพื่อลดการชะล้างพังทลาย ร่วมกับการบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการผลิต โดยการใช้ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์เพื่อทดแทนธาตุอาหารที่ถูกใช้ไปหรือถูกชะล้างไป เป็นวิธีแก้ปัญหาการขาดความอุดมสมบูรณ์ของดินที่จำเป็น

------------------------------------------

คุณสุรพงษ์ เจริญรัถ

ผู้เขียน

ข้อมูลจาก http://web.sut.ac.th/cassava/?name=11cas_research&file=readknowledge&id=60

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?