การปลูกพืชตระกูลถั่ว ปรับปรุงโครงสร้างดิน - ดินดีขึ้นหรือยัง ตรวจวิเคราะห์ได้ iLab

การปลูกพืชตระกูลถั่ว


ถั่วเขียวถั่วเขียว

เป็นพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทนแล้ง นิยมปลูกสลับกับการปลูกข้าวเพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว ช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดิน เพิ่มรายได้เกษตรกร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ถั่วเขียวสามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินแถบทุกชนิด ที่มีค่าความเป็นกรดด่าง 5.5-7.0 อุณหภูมิที่เหมาะสม 25-35 องศาเซลเซียส การปลูกและงอกในช่วงอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ถั่วเขียวจะชะงักการเจริญเติบโต

การปลูกในฤดูแล้ง เริ่มปลูกเดือนธันวาคม และไม่เกินเดือนมกราคม โดยปลูกได้ทันทีหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปีในสภาพดินมีความชื้น

พันธุ์ถั่วเขียว

พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 84-1 ชัยนาท 72 เมล็ดพันธุ์ควรมีความงอกไม่ต่ำกว่า 85 เปอร์เซ็นต์

การปลูก

แบบไม่ให้น้ำ อาศัยความชื้นในดินหลังเก็บเกี่ยวข้าวโดยไถดิน 1-2 ครั้ง หว่านเมล็ดอัตรา 5-6 กิโลกรัมต่อไร่แล้วพรวนดินกลบ

แบบให้น้ำ ปลูกเป็นแถวใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างต้น 10 เซนติเมตร จำนวน 2 ต้นต่อหลุม โดยการไถ พรวน ปรับระดับดินให้สม่ำเสมอ ตัดร่องเพื่อระบายน้ำ

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านพร้อมกับการเตรียมดิน

การให้น้ำ ไม่ควรให้ถั่วเขียวขาดน้ำช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

วัชพืช

หลังงอก ใช้สารเคมีพ่นที่ระยะวัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบ หรือประมาณ 15-20 วัน หลังถั่วเขียวงอกวัชพืชใบแคบ ใช้สารเคมี ฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล (15% อีซี) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือควิซาโลฟอบ-พี-เทฟิวริล (6%อีซี) 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับ

วัชพืชใบกว้าง ใช้สารเคมี โฟมีซาเฟน (25% อีซี) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นคลุมไปบนต้นถั่วเขียวและวัชพืช ห้ามใช้เกินอัตราที่กำหนด เพราะเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเขียว

แมลงศัตรู

1 ระยะต้นกล้า

-หนอนแมลงวันเจาะลำต้น พ่นด้วยสารเคมี ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังถั่วเขียวงอก ไม่เกิน 7-10 วัน และพ่นครั้ง 2 ห่างกัน 7 วัน

2 ระยะออกดอกและติดฝัก

-เพลี้ยไฟ ใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อพบการทำลายใบและดอกในระยะถั่วเจริญเติบโตจนถึงระยะติดฝักอ่อน

-หนอนเจาะฝัก ใช้สารเคมีไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในระยะถั่วออกดอกถึงติดฝัก

โรคที่สำคัญ

-โรครากเน่า โคนเน่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีเมทาแลกซิล อัตรา 5 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

-โรคราแป้ง ใช้พันธุ์ต้านทาน หรือใช้สารเคมีเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 15-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อถั่วเขียวอายุ 30 วัน และพ่นซ้ำทุกๆ 10 วัน จำนวน 2 ครั้ง

การเก็บเกี่ยว

ที่อายุ 60-75 วัน ควรเก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อถั่วเขียวมีฝักแก่ 80 เปอร์เซ็นต์และครั้งที่ 2 หลังจากเก็บเกี่ยวครั้งแรกประมาณ 14 วัน โดยใช้มือปลิดฝักแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำสำหรับเก็บเมล็ดพันธุ์ หรือใช้เครื่องเกี่ยวนวด

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ตากฝักถั่วเขียว 1-2 แดด เพื่อลดความชื้น กะเทาะเมล็ดด้วยเครื่องกะเทาะหรือใช้รถนวดที่ปล่อยลมยางให้อ่อน กะเทาะเมล็ดออกจากฝัก ร่อนทำความสะอาด นำเมล็ดที่ได้ไปผึ่งแดดอีกครั้งเพื่อลดความชื้น ให้ได้ 10-12 เปอร์เซ็นต์ บรรจุเมล็ดถั่วเขียวในกระสอบที่สะอาดและเย็บปากกระสอบให้มิดชิดส่งจำหน่าย

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวไว้ใช้เอง

เมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวมักขาดแคลน ควรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองโดย

1.ใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้

2.ปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนำ

3.ตรวจแปลงสม่ำเสมอ และกำจัดพันธุ์ปน อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะต้นกล้า และระยะออกดอก/ติดฝัก

4.เก็บเกี่ยวฝักแก่โดยใช้มือปลิดฝักแก่ที่เปลี่ยนเป็นสีดำ จะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่าเครื่องเกี่ยวนวด

5.ภายหลังกะเทาะเมล็ด ทำความสะอาดผึ่งแดดอีกครั้งให้เมล็ดแห้งสนิท (ความชื้น 10-11 เปอร์เซ็นต์)ทดสอบโดยใช้ฟันขบเมล็ดจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ

6.บรรจุเมล็ดพันธุ์ในภาชนะที่สะอาดและปิดได้มิดชิด เช่น ถุงพลาสติกหนา ปี๊บ หรือถังพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิทวางภาชนะไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้น มีการป้องกัน แมลง หนูหรือสัตว์อื่นๆ เข้ารบกวน

ข้อมูล

สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท อ.เมือง จ.ชัยนาท โทร. 056-405080-1

ถั่วเหลือง

เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงอายุสั้น ใช้น้ำน้อยทนแล้ง นิยมปลูกสลับกับการปลูกข้าวเพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูข้าว ช่วยเพิ่มธาตุอาหารและอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินเพิ่มรายได้เกษตรกร

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ถั่วเหลืองสามารถเจริญเติบโตได้ดี ในดินร่วน ดินร่วนเหนียว และดินร่วนเหนียวปนทราย ที่มีค่าความเป็นกรดด่าง 5.5-7.0 อุณหภูมิที่เหมาะสม 15-35 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เมล็ดจะงอกช้าลง 8-10 วัน

การปลูกในฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนธันวาคม โดยปลูกได้ทันทีหลังเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ในสภาพดินมีความชื้น

พันธุ์ถั่วเหลือง

-พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักสด ได้แก่ พันธุ์นครสวรรค์ 1 เชียงใหม่ 2 และ เชียงใหม่ 60

-พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักแห้ง ได้แก่ พันธุ์เชียงใหม่ 60 สจ.5 และเชียงใหม่ 6

การปลูก

ในพื้นที่นามีน้ำชลประทานหลังการเก็บเกี่ยวข้าวไม่จำเป็นต้องไถพรวนดิน แต่ต้องขุดร่องน้ำเพื่อการระบายน้ำออกจากแปลง ระยะห่างร่อง 3-5 เมตร ปลูกแบบหว่านแล้วพรวนดินกลบ หรือปลูกเป็นแถวใช้ระยะปลูก ระหว่างแถว 50 เซนติเมตร ระหว่างต้น 20 เซนติเมตร จำนวน 3-5 ต้นต่อหลุม ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ 12-15 กิโลกรัมต่อไร่

การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยเกรด 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่หว่านพร้อมกับการเตรียมดิน

การให้น้ำ อย่าให้ถั่วเหลือง ขาดน้ำช่วงออกดอกติดฝักจะทำให้ผลผลิตลดลง

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

วัชพืช

หลังงอก ใช้สารเคมีพ่นที่ระยะวัชพืชส่วนใหญ่มีใบ 3-5 ใบหรือประมาณ 15-20 วันหลังถั่วเหลืองงอก

วัชพืชใบแคบ ใช้สารเคมี ฟลูเอซิฟอบ-พี-บิวทิล (15%อีซี)40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

วัชพืชใบกว้าง ใช้สารเคมี โฟมีซาเฟน (25% อีซี) 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นคลุมไปบนต้นถั่วเหลืองและวัชพืช ห้ามใช้เกินอัตราที่กำหนด เพราะเป็นอันตรายต่อต้นถั่วเหลือง

แมลงศัตรู

1 ระยะต้นกล้า

-หนอนแมลงวันเจาะลำต้น พ่นด้วยสารเคมีไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หลังถั่วเหลืองงอกไม่เกิน 7-10 วัน และพ่นครั้งที่ 2 ห่างกัน 7 วัน

2 ระยะออกดอกและติดฝัก

-แมลงหวี่ขาว ใช้สารเคมีอิมิดาโคลพริด 10 % เอสแอด อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นครั้งแรกเมื่อพบใบยอดย่นและหงิกงอ และพ่นอีก 2-3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน

-หนอนเจาะฝัก ใช้สารเคมีไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นในระยะถั่วออกดอกถึงติดฝัก

โรคที่สำคัญ

-โรครากเน่า โคนเน่า คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเคมีเมทาแลกซิล อัตรา 5 กรัม ต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม

การเก็บเกี่ยว

เก็บเกี่ยวฝักสดเมื่ออายุ 65-75 วัน และเมล็ดแห้งเก็บเกี่ยวเมื่อใบร่วง มีฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 ของจำนวนฝักทั้งหมดโดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องเกี่ยวนวด

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ต้นถั่วเหลืองที่เก็บเกี่ยวแล้วผึ่งไว้ในแปลง 1-2 วัน จึงนำไปนวดด้วยเครื่องนวดถั่วเหลือง ทำความสะอาดเมล็ด ผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ บรรจุเมล็ดในกระสอบที่สะอาดและปิดมิดชิดเพื่อรอส่งจำหน่าย

การผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือ

เมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองมักขาดแคลน ควรผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดย

1.ใช้เมล็ดพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้

2.ปลูกและปฏิบัติดูแลรักษาตามคำแนะนำ

3.ตรวจแปลงสม่ำเสมอ และกำจัดพันธุ์ปน อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะต้นกล้า และระยะออกดอก/ติดฝัก

4.เก็บเกี่ยวโดยใช้เคียวเกี่ยวต้น ขณะใบร่วง ฝักแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ร้อยละ 95 จะได้เมล็ดพันธุ์ที่ดีกว่าเครื่องเกี่ยวนวด

5.ภายหลังกะเทาะเมล็ด ทำความสะอาด ผึ่งแดดอีกครั้งให้เมล็ดแห้งสนิท (ความชื้น 10-11 เปอร์เซ็นต์)ทดสอบโดยใช้ฟันขบเมล็ดจะแตกเป็นชิ้นเล็กๆ

6.บรรจุเมล็ดพันธุ์ในภาชนะที่สะอาดและปิดได้มิดชิด เช่น ถุงพลาสติกหนา ปี๊บ หรือถังพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิทวางภาชนะไว้ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ไม่เปียกชื้น มีการป้องกัน แมลง หนูหรือสัตว์อื่นๆ เข้ารบกวน

ข้อมูล

สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยพืชไร่เชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทร. 053-498537

ถั่วลิสงถั่วลิสง

เป็นพืชล้มลุก ลักษณะเป็นพุ่มเตี้ย ดอกมีขนาดเล็ก มีสีเหลือง เติบโตขยายไปทางแนวราบใต้ผิวดิน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ดินที่เหมาะสม คือ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือ ดินร่วนเหนียวปนทราย มีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำขังต้องการน้ำสม่ำเสมอโดยเฉพาะระยะแทงเข็ม และสร้างฝัก

การปลูกในฤดูแล้ง สามารถปลูกได้ 2 แบบ ดังนี้

1.ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน เดือนธันวาคม-มกราคม เก็บเกี่ยวเดือนเมษายน-พฤษภาคม

2.ปลูกหลังนาอาศัยความชื้นในดิน เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยมีเงื่อนไข คือ ต้องเป็นแหล่งที่มีน้ำใต้ดินตื้น

พันธุ์ถั่วลิสง

พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักแห้ง ได้แก่ พันธุ์ไทนาน 9 ขอนแก่น 5 และขอนแก่น 84-7

พันธุ์ที่ใช้ในรูปฝักสด นำไปต้มทั้งเปลือกแล้วจำหน่าย ได้แก่ พันธุ์กาฬสินธุ์ 2 และขอนแก่น 84-8

พันธุ์ที่ใช้ในรูปเมล็ดโต ใช้แปรรูปผลิตภัณฑ์ ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 6

การปลูก

การปลูก โดยอาศัยความชื้นในดิน ให้เตรียมดินอย่างละเอียดไถดิน 2 ครั้ง และพรวน 1-2 ครั้ง แล้วไถเบิกร่องห่างกัน 40-50 เซนติเมตร หยอดเมล็ด 2-3 เมล็ดต่อหลุม ห่างกัน 10-20 เซนติเมตร ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ (ทั้งเปลือกฝัก)

การใส่ปุ๋ย

ตามค่าวิเคราะห์ดิน หรือใส่ปุ๋ยเกรด 12-24-12 อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร หรือ เกรด 16-16-8 อัตรา 35 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือ โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบหลังถั่วลิสงงอก โดยใส่ช่วงดินมีความชื้น

การป้องกันกำจัดศัตรูพืช

วัชพืช

กำจัดวัชพืชด้วยแรงงานคนหรือเครื่องจักร 2 ครั้ง เมื่ออายุ 15-20 วัน และ 30-40 วันหลังงอก หรือ ก่อนงอกพ่นสารเคมีอะลาคลอร์ 48% อีซี อัตรา 125-175 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร แต่ถ้าลิสงงอกแล้ว ให้ใช้สารฟลูอะซิฟอป-บิวทิล 35 % อีซี 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

แมลงศัตรู

-เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ใช้สารเคมีคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

-หนอนชอนใบ ใช้สารเคมีไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

-เสี้ยนดิน ใช้สารเคมีคลอไพริฟอส 40% อีซี อัตรา 375 มิลลิลิตรต่อน้ำ 80 ลิตร ใช้พ่นในพื้นที่ 1 ไร่ โดยพ่นครั้งแรกเมื่อถั่วอายุ 30-35 วัน และพ่นซ้ำเมื่ออายุ 60-65 วัน

โรคที่สำคัญ

-โรคโคนเน่า คลุดเมล็ดก่อนปลูกโดยสารไอโพรไดโอนหรือคาร์เบนดาซิม 50% ดับบลิวพี 3-5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม

-โรคยอดไหม้ ใช้พันธุ์ทนทานของแก่น 6 หรือใช้สารเคมีกำจัดเพลี้ยไฟที่เป็นพาหนะนำโรค

-โรคราสนิม และใบจุด ใช้สารเคมีแมนโคเซบ 80% ดับบลิวพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

การเก็บเกี่ยว

-อายุประมาณ 90-110 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุ์โดยแกะฝักดูสีเปลือกฝักด้านใน ที่เปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาล และเยื่อหุ้มเมล็ดเป็นสีชมพูหรือสีแดง มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของทั้งต้น แสดงว่าถั่วลิสงแก่พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้

-ถั่วลิสงฝักสด จะเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่ถั่วจะแก่จัด เพราะจะมีรสชาติดีกว่า

-วิธีเก็บเกี่ยว ถอนหรือใช้จออบขุด ปลิดฝักด้วยมือหรือเครื่องปลิด เลือกเฉพาะฝักที่สมบุรณ์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว

ถั่วลิสงฝักสด ควรบรรจุในกระสอบป่านที่สะอาด แล้วส่งตลาดภายใน 24 ชั่วโมง ถั่วลิสงฝักแห้ง ให้ตากฝักบนแคร่ หรือตะแกรงตาข่ายลดความชื้นให้ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อลดปัญหาการเกิดเชื้อรา หลังจากนั้นทำความสะอาดและบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อรอจำหน่าย

การเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงไว้ใช้เอง

โดยแบ่งพื้นที่เป็นแปลงเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ มีการดูแลกำจัดพันธุ์ปน และปฏิบัติ ดังนี้

1.ใช้เมล็ดพันธุ์ตรงตามพันธุ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ปลูก ดูแลรักษาตามคำแนะนำ

2.การเก็บเมล็ดสำหรับทำพันธุ์ ต้องตากฝักถั่วลิสงให้แห้ง มีความชื้นในเมล็ดไม่เกิน 9 เปอร์เซ็นต์ สังเกตจากการเขย่าฝักเมล็ดจะเคลื่อนไหว

3.เก็บเมล็ดทั้งฝักแห้ง จะเก็บได้นานกว่า และเมล็ดขนาดปานกลาง จะเก็บรักษาได้นานกว่าเมล็ดขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

4.บรรจุฝักแห้งในถุงพลาสติกหนา และเก็บได้นานกว่าในถุงผ้าและกระสอบป่าน เมื่อจะปลูกจึงนำออกมากะเทาะเมล็ด

5.เมล็ดถั่วลิสงที่กะเทาะแล้ว ต้องเก็บรักษาไว้ในห้องเย็นอุณหภูมิประมาณ 10-15 องศาเซลเซียส การเก็บฝักไว้ในสภาพปกติ ถั่วลิสงจะเสื่อมความงอกเร็วภายในเวลา 3-5 เดือน

ข้อมูล

สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม

ศูนย์วิจัยพืชไร่ขอนแก่น อ.เมือง จ.ขอนแก่น โทร.043-203506

ข้อมูลจาก https://www.doa.go.th/rhizobium/?page_id=838

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม