การจัดการดินและธาตุอาหาร สำหรับนาข้าว : ตรวจวิเคราะห์ดินในนาข้าว ส่งตรวจกับ iLab.work

 “ข้าว” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสําคัญของประเทศ การผลิตข้าวในปัจจุบัน เน้นการแข่งขันทางการตลาด ดังนั้นชาวนาจึงให้ความสำคัญต่อการลดต้นทุนการผลิต ให้ได้ผลกำไรสูงสุด อย่างไรก็ตาม การลดต้นทุนไม่ได้หมายถึงการลดปัจจัยการผลิต ตัวอย่างเช่น การใส่ปุ๋ย หากใส่ปุ๋ยอย่างถูกวิธี สอดคล้องกับสภาพดิน ชนิดพืช และเหมาะกับเวลาที่พืชต้องการก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้


ดินดี และการใช้ปุ๋ยที่เหมาะสม

ดิน เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากในการเพาะปลูกพืช พื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไทยสามารถจำแนกลักษณะดินนาได้ 3 ลักษณะ คือ ดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย หรือดินร่วนปนดินทราย ซึ่งวิธีการจัดการและการใส่ปุ๋ยก็แตกต่างกันไป

ดินเหนียว เป็นดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์สูงกว่าดินชนิดอื่นๆ การวิเคราะห์ธาตุอาหารหลักพบว่า ดินเหนียวมีปริมาณธาตุโพแทสเซียมเพียงพอต่อความต้องการของข้าวแล้ว การใส่ปุ๋ยเคมีจึงแนะนำให้ใส่เพียงปุ๋ยไนโตรเจน (N) และปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) เท่านั้น แต่เนื่องจากมีการเพาะปลูกอย่างต่อเนื่องมานานหลายสิบปี จึงอาจจะต้องมีการเติมปุ๋ยหรือธาตุอาหารโพแทสเซียม (K) ลงไปบ้าง

ดินร่วนและดินทราย ลักษณะเนื้อดินหยาบกว่า และความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ควรใช้ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักครบ คือ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K)

ดินร่วนปนทราย และดินทราย เป็นดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ จึงนิยมปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด เพื่อให้มีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น สามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น สำหรับปุ๋ยพืชตระกูลถั่ว ที่มีคุณสมบัติพิเศษช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ แล้วปลดปล่อยไนโตรเจนลงสู่ดิน ได้แก่ “ปอเทือง” เป็นปุ๋ยพืชสดที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยแต่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง หรือ “ถั่วพร้า” ใช้เมล็ดพันธุ์ถั่วพร้าประมาณไร่ละ 10 กิโลกรัม ได้ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 2-3 ตัน ต่อไร่ (น้ำหนักสด) ได้ปุ๋ยไนโตรเจน หรือ ยูเรีย (46-0-0) ประมาณ 30-39 กิโลกรัม ต่อไร่

ปัญหาดินเปรี้ยว

ปัจจุบัน พื้นที่ทำนาหลายแห่งประสบปัญหาดินเปรี้ยว ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการปลูกข้าวเช่น จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอบางน้ำเปรี้ยว) จังหวัดนครนายก (อำเภอองครักษ์ อำเภอหนองเสือ และอำเภอใกล้เคียง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อำเภอเสนา อำเภอบางบาล) รวมทั้งพื้นที่ที่มีการตักหน้าดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี แนะนำให้เกษตรกรเตรียมดินก่อนปลูกดังนี้ คือ ขังน้ำในนาข้าวประมาณ 1-2 วัน และปล่อยน้ำทิ้ง ประมาณ 1-2 รอบ ใส่ปุ๋ยธาตุอาหารรองแมคซีแคลช่วงตีดินหรือทำเทือก อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ ถ้าเกษตรกรใส่ไม่ทันช่วงดังกล่าว ให้ใส่หลังจากนั้นในอัตราเดียวกัน หลังจากนั้นให้ปลูกข้าวตามขั้นตอนปกติ

ปัญหาดินเปรี้ยว

ธาตุอาหารสำหรับข้าว

ในอดีตพื้นที่การเกษตรแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ย พืชก็สามารถให้ผลผลิตได้ เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรมีน้อยและการเพิ่มผลผลิตทำได้โดยการขยายพื้นที่เพาะปลูก แต่ปัจจุบันมีการใช้ที่ดินเพาะปลูกพืชอย่างต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีการบำรุงดินอย่างเหมาะสมทำให้ดินเสื่อมโทรม ส่งผลให้ผลผลิตลดลง ดังนั้นการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ยั่งยืน จึงต้องใส่ธาตุอาหารบำรุงดิน เท่ากับที่เอาออกไปจากดินในรูปของผลผลิต ทั้งนี้ ธาตุอาหารสำคัญที่ข้าวต้องการ และเป็นตัวกำหนดการเจริญเติบโตและปริมาณการให้ผลผลิตของข้าว ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) ซึ่งดินโดยทั่วไปมีไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเพิ่มให้กับพืชในรูปของปุ๋ยเคมี

ไนโตรเจน (N) มีความสำคัญกับข้าวในทุกระยะการเจริญเติบโต และใช้มากในระยะแรก เพื่อช่วยการแตกกอ ขยายขนาดใบ ทั้งส่งผลต่อการออกรวง และติดเมล็ดอีกด้วย หากต้นข้าวได้รับไนโตรเจนในอัตราส่วนที่เหมาะสมจะทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโต แตกกอดีและให้ผลผลิตสูง

โดยการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนให้เกิดประสิทธิ ภาพสูงสุดควรใส่ในขณะที่ดินมีความชื้นแล้วจึงปล่อยน้ำเข้าท่วมแปลงนาภายใน 3-5 วัน

ฟอสฟอรัส (P) ทำให้ต้นข้าวมีระบบรากที่แข็งแรง กระตุ้นพัฒนาการทางลำต้นในช่วงเริ่มต้นเพิ่มประสิทธิการแตกกอ และมีส่วนสำคัญต่อการให้ผลผลิต พื้นที่ภาคกลางแม้จะมีฟอสฟอรัสสะสมในดินสูง แต่การปลูกข้าว ก็ยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ปุ๋ยฟอสฟอรัสในการปลูกข้าว

โพแทสเซียม (K) ข้าวได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอจะส่งเสริมให้ข้าวใช้ธาตุไนโตรเจนและ ฟอสฟอรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยให้ต้นข้าวแตกกอดี ใบสมบูรณ์ ราก ลำต้นแข็งแรง เพิ่มรวงและการติดเมล็ด ทนทานการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ต้านทานการเข้าทำลายของเชื้อโรค ส่งผลต่อผลผลิตข้าวทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี

การใส่ปุ๋ยนาข้าว

ปุ๋ย เป็นปัจจัยสำคัญในการทำนา การตรวจวิเคราะห์ดินในแปลงนาก่อนปลูก โดยเก็บตัวอย่างดินตามหลักการส่งไปตรวจวิเคราะห์เพื่อจะได้รู้ว่าสภาพดินในพื้นที่แปลงปลูกมีธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม (N P K) มากน้อยแค่ไหน มีความเป็นกรดด่างในระดับใด แล้วนำผลการตรวจวิเคราะห์ดินมากำหนดสูตรปุ๋ยที่จะใช้ จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเลือกใช้ปุ๋ย ให้ตรงกับสภาพดิน ในอัตราส่วนและระยะเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้พืช โดยเฉพาะ “ข้าว” ที่ต้องการใช้ปุ๋ยในปริมาณค่อนข้างสูง สามารถเติบโตได้ดี

ระยะการเจริญเติบโต ของต้นข้าวในแต่ละช่วง มีความต้องการอาหารแตกต่างกันออกได้ ดังนี้

ระยะข้าวงอก ถึงระยะกล้า ต้นข้าวจะใช้อาหารที่สะสมในเมล็ดตั้งแต่ข้าวเริ่มงอก จนถึงต้นกล้าอายุ 14 - 20 วัน

ระยะกล้า ต้นข้าวเริ่มดูดธาตุอาหารผ่านราก ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K)

ระยะแตกกอ หลังข้าวตั้งตัว ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) อีกครั้ง เพื่อให้ข้าวแตกหน่อใหม่แข็งแรง

ระยะข้าวสร้างรวงอ่อน (กำเนิดช่อดอก ) ก่อนเก็บเกี่ยวข้าว 2 เดือน ต้องบำรุงด้วยปุ๋ยไนโตรเจน (N) เพื่อสร้างรวงให้สมบูรณ์แข็งแรง มีจำนวนเมล็ดต่อรวงมาก

ระยะข้าวตั้งท้อง บำรุงด้วยปุ๋ยไนโตรเจน (N) เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของรวง

ระยะข้าวออกดอก ช่วงนี้นาข้าวต้องมีน้ำอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ต้นข้าวสร้างเมล็ดให้เต็ม ระยะนี้ข้าวจะดึงอาหารที่สะสมอยู่ที่ใบแก่(ส่วนล่าง) มาใช้

ระยะพลับพลึง เป็นระยะ ข้าวสุกแก่เต็มที่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยข้าวได้ตรงกับช่วงเวลาที่พืชต้องการ จะช่วยลดต้นทุนและได้ผลผลิตสูง เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตได้อย่างยั่งยืน

เทคนิคใส่ปุ๋ยเพิ่มผลผลิตข้าว

ข้าวเป็นพืชที่ปลูกง่าย เมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกข้าวคือ ดินเหนียวกึ่งดินร่วนเหนียว เป็นที่ราบลุ่ม และสามารถอุ้มน้ำได้ดี ระดับหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตร มีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ระหว่าง 5.0-6.5 มีปริมาณธาตุอาหาร ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เฉลี่ย 3.55 0.22 และ 1.8 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับรวมทั้งมีความสม่ำเสมอของพื้นที่เพื่อง่ายในการปล่อยน้ำเข้าและออกจากแปลงรวมถึงการวางแผนใช้ปุ๋ยและการป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช แต่อย่างไรก็ตามในการปลูกข้าวนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายๆอย่างเข้ารวมอยู่ด้วยกันเพื่อให้ข้าวมีผลผลิตมากที่สุด อาทิเช่น แหล่งน้ำ อุณหภูมิ แสงแดด ฯลฯ

การใช้ปุ๋ยตามประเภทของดิน 

การใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว จะต้องคำนึงถึงลักษณะของดินและชนิดของปุ๋ยที่ใส่ให้ตรงตามความต้องการของต้นข้าว ปริมาณหรืออัตราปุ๋ยที่ใช้สำหรับข้าวแต่ละพันธุ์ ไม่ใส่ปุ๋ยมากเกินไปจนต้นข้าวเกิดอาการเฝือใบ ต้นสูง ลำต้นอ่อน และอ่อนแอต่อการทำลายของโรค – แมลง หรือใส่ปุ๋ยน้อยเกินไป ไม่เพียงพอกับความต้องการของข้าวทำให้ได้ผลผลิตต่ำ หรือต้นข้าวแสดงอาการขาดธาตุอาหาร

การใช้ปุ๋ยตามประเภทของดิน สำหรับนาดินเหนียว แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ดังนี้

การใส่ปุ๋ยนาข้าว ดินเหนียว

ครั้งที่ 1 เมื่อข้าวมีอายุประมาณ 20-25 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ ผสม สูตร 16-20-0 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ (แนะนำให้ ผสมธาตุอาหารเสริมแมคซีแคล อัตรา 7-10 กิโลกรัมต่อไร่)

ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวมีอายุประมาณ 45-50 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16-20-0 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่

ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวอายุประมาณ 70-75 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่

เทคนิคใส่ปุ๋ยสำหรับนาดินทราย เนื่องจากดินทรายความสามารถในการดูดซับธาตุอาหารโพแทสเซียมค่อนข้างต่ำกว่าดินเหนียว ดังนั้นจึงแนะนำปุ๋ยสูตร 16-16-8 แทน 16-20-0 ซึ่งการใส่แบ่งออกเป็น 3 ครั้ง ดังนี้

การใส่ปุ๋ยนาข้าว

ครั้งที่ 1 เมื่อข้าวมีอายุประมาณ 20-25 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 5-10 กิโลกรัมต่อไร่ ผสม สูตร 16-16-8 อัตรา 20 กิโลกรัมต่อไร่ (แนะนำให้ ผสมธาตุอาหารเสริมแมคซีแคล อัตรา 7-10 กิโลกรัมต่อไร่)

ครั้งที่ 2 เมื่อข้าวมีอายุประมาณ 45-50 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-8 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่

ครั้งที่ 3 เมื่อข้าวอายุประมาณ 70-75 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่

ทั้งนี้ การใส่ปุ๋ยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น สภาพดินในแปลงปลูก พันธุ์ข้าว รวมถึงโรคและแมลงในแปลงปลูกด้วย

เกร็ดความรู้ เทคนิคปลูกข้าวน้ำน้อย

หากเกษตรกรมีวางแผนใช้น้ำที่เหมาะสมไม่ว่าจะทำนาอยู่ในเขตชลประทานหรือการใช้น้ำฝน ก็จะส่งผลให้ต้นข้าวเจริญเติบโตและได้ผลผลิตข้าวคุ้มทุน ปัจจุบันมีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาสนใจทำนา โดยเลือกปลูกข้าวนาดำ ที่ใช้น้ำน้อย ที่เรียกว่า “การทํานาเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” เริ่มจากใช้แหนแดงหว่าน ลงในแปลงนาข้าวก่อน เพื่อปิดหน้าดินไม่ให้วัชพืชขึ้น การใช้แหนแดงในนาข้าวทดแทนปุ๋ยยูเรีย สามารถบำรุงต้นข้าวให้เติบโตแข็งแรงและแตกกอดี เพราะแหนแดงจะเข้าไปช่วยตรึงไนโตรเจน ให้กับต้นข้าว ที่ปลูกในลักษณะนาเปียกสลับแห้ง แม้จะปลูกข้าวทำนาตลอดทั้งปี โดยไม่พักที่นาเลยก็ตาม

ขั้นตอนการเตรียมดินปลูกข้าวด้วยวิธีปกติ เมื่อหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวแล้วระบายน้ำออกจากนาให้แห้ง เมื่อข้าวอายุประมาณ 10-12 วันให้พ่นสารกำจัดวัชพืชโดยพิจารณาตามชนิดของวัชพืชที่เกิดขึ้นเมื่อวัชพืชตายได้ 3 วัน ให้เพิ่มระดับน้ำในนาประมาณ 3 ซม.ขังนาน 3 วัน ใส่ปุ๋ยครั้งแรกด้วยปุ๋ยเคมีแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 16-20-0 อัตรา 30-35 กิโลกรัม/ไร่ แล้วรักษาระดับน้ำท่วมผิวดินขังน้ำไว้จนกระทั่งน้ำแห้งหากพบวัชพืชให้รีบกำจัดอีกครั้ง ประมาณ 2 สัปดาห์น้ำในนาเริ่มแห้ง ดินเริ่มแตกระแหง ให้ปล่อยน้ำเข้าแปลงนาระดับ 3 - 5 ซม. ขังไว้จนกระทั่งน้ำแห้ง ให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งจนกระทั่งข้าวอายุประมาณ 45-50 วัน

หากพบวัชพืชต้องรีบกำจัดก่อนใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อข้าวอยู่ในระยะแตกกอสูงสุด (อายุ 45 - 50 วัน) ให้เพิ่มระดับน้ำในนาสูง 5 ซม. ขังไว้นาน 3 วัน จนข้าวเริ่มกำเนิดช่อดอก (อายุ 50 - 55 วัน) ใส่ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 2 ด้วยปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 อัตรา 10-15 กิโลกรัม/ไร่ หลังจากนั้น 7 วัน ให้เพิ่มระดับน้ำ 10 ซม. รักษาระดับน้ำจนข้าวออกดอกถึงระยะแป้งในเมล็ดเริ่มแข็ง (15-20 วัน หลังข้าวออกดอก) หลังข้าวออกดอกแล้ว 20 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงให้แห้งเพื่อเร่งการสุกแก่

“การปลูกข้าววิธีนี้เรียกว่า ระบบเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว มีข้อจำกัด คือ ทำได้เฉพาะในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำได้ และไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ดินเค็ม ซึ่งอาจทำให้ข้าวตายได้ นอกจากนี้ ควรงดการระบายน้ำให้แห้งในช่วงข้าวตั้งท้อง และปล่อยให้หน้าดินแห้งก่อนการเก็บเกี่ยว 15 วัน โดยดินที่เหมาะกับการปลูกข้าวด้วยวิธีนี้คือดินที่ ไม่เผาตอฟางข้าว (เพราะมีอินทรียวัตถุในดินให้ข้าวเลี้ยงตัวระหว่างหน้าดินแห้ง)”

เกร็ดความรู้ พันธุ์ข้าว

เนื่องจาก ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีผลกระทบต่อภาคการเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงส่งเสริมให้นักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาวิจัยเรื่อง การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในบริบทของระบบเกษตรที่มั่นคงต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Robust Agriculture System to Climate Change) พบว่า “ ข้าว” เป็น 1 ใน 5 พืชเศรษฐกิจของไทยที่จะได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้เกิดความแปรปรวนของผลผลิตรายปี ระหว่างปี 2560-2570 ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปี 2553) เสนอแนะให้เกษตรกรปรับตัวในการเพาะปลูกพืช เช่น ปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชที่เหมาะสม

การปรับเปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกและเทคนิคการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในอนาคต ตลอดจนแนวทางการปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถทนทานต่อภูมิอากาศในอนาคตได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น แนวทางการปรับตัวของ “นาน้ำฝน” ควรหันมาปลูกข้าวพันธุ์เบา เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 เช่น พันธุ์ กข 15 โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ฝนในช่วงต้นฤดูมีมาก แต่มีน้อยช่วงปลายฤดู นอกจากนี้สนับสนุนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่มีระบบรากลึก ที่มีความทนทานต่อสภาวะแล้งได้มากขึ้น รวมทั้งการจัดการ การปลูกข้าวให้เหมาะสมกับพื้นดินตามสภาพท้องถิ่น เช่น ปรับจากการปลูกโดยวิธีปักดำ จากสภาพอากาศเดิมที่มีฝนเพียงพอต่อการเตรียมกล้า ไปสู่การหว่านข้าวแห้ง หรือ หว่านน้ำตม

การวิเคราะห์ผลกระทบขององค์ประกอบชุดดินพบว่า สมบัติทางเคมีของดิน คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ดังนั้นการจัดการปุ๋ยที่เหมาะสม ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และเคมี เป็นเรื่องจำเป็น ที่สามารถจัดการและแก้ปัญหาได้ โดยการวิเคราะห์ต้นทุนของธาตุอาหารที่มีในดินแล้วเติมส่วนที่ขาดให้ตรงกับความต้องการของข้าว ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีแล้ว ต้องนำมาปรับใช้เพื่อความแม่นยำ รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพ

แนวทางการปรับตัวของนาชลประทาน เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เริ่มจากการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น ทำให้อายุข้าวสั้นลง ดังนั้นอัตราการเจริญเติบโต (growth) ของข้าวในอนาคตจะต้องสูงขึ้น เพื่อให้ทันกับระยะพัฒนาการ (development) ที่สั้นลง เพื่อคงประสิทธิภาพการให้ผลผลิตสูงขึ้น ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรหลายพื้นที่หันมาใช้พันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้นลง เพื่อให้มีรอบการปลูกข้าวต่อปี มากขึ้น และหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของพื้นที่ เช่น หลีกเลี่ยงน้ำท่วมและน้ำทะเลหนุนเข้าในพื้นที่ เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีของข้าวนาชลประทานที่ปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปีนั้น สามารถบริหารจัดการได้หลายส่วน ทั้งพันธุ์ข้าว การจัดการน้ำ วิธีการเตรียมดิน และวิธีการปลูก อย่างการปักดำหรือหว่านข้าวตม ซึ่งเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพพื้นที่ รวมไปถึงการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

การวิเคราะห์ผลกระทบขององค์ประกอบชุดดิน พบว่า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดิน เป็นปัญหาที่ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง ทั้งนี้ ไม่รวมปัญหาระบบรากข้าว ที่แก้ไขโดยความสามารถของพันธุ์ข้าวและการเตรียมดิน ฟางข้าว มีความจำเป็นมากในแต่ละฤดู หากมีการไถกลบตอซังข้าวลงไปในดิน และ ปล่อยให้มีการย่อยสลายระยะหนึ่งก่อนการปลูกข้าว จะมีส่วนในการคืนธาตุอาหารสู่ดิน พร้อมกับการปรับปรุงโครงสร้างทางกายภาพไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ การบริหารจัดการดิน – น้ำและใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง จะช่วยลดต้นทุนการผลิตข้าวได้อย่างมาก ตั้งแต่ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลงเพราะข้าวแตกกอดีขึ้น การใช้ปุ๋ยในปริมาณที่ลดลง พ่นสารป้องกันกำจัดโรคและแมลงน้อยลง แต่ได้ผลผลิตข้าวที่ดีและมีคุณภาพดีขึ้น

ข้อมูลจาก https://www.chiataigroup.com/en/article-detail/fertilizerforrice

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?