การบำรุงดินและการใส่ปุ๋ยสวนผลไม้

 ๑. การบำรุงดิน

ในบรรดาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทั้งทางกิ่ง ใบ และการผลิดอกออกผลของไม้ผล นอกจากฟ้าอากาศแล้ว อาหารพืชหรือปุ๋ยนับว่า เป็นปัจจัยโดยตรงในการส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช อาหารพืชเกือบทั้งหมดจะได้มาจากดิน ชาวสวนจึงมักจะคำนึงถึงเรื่องดินแต่เพียงอย่างเดียว ในปีหนึ่งๆ ต้นไม้จะดูดอาหารไปใช้เป็นจำนวนมาก ถ้าไม่มีการเติมธาตุอาหารลงไปแทนส่วนที่สูญหายไป จะทำให้ดินจืดลงทุกที และในที่สุดดินที่ว่านั้นจะใช้ปลูกต้นไม้ไม่ได้ผล เมื่ออาหารไม่เพียงพอ การเจริญเติบโตของพืชก็จะผิดปกติ และในที่สุดพืชอาจจะตายได้

พืชต้องการธาตุอาหารต่างๆ จากดิน คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซี่ยม แมกนีเซียม กำมะถัน นอกจากนี้ต้องการธาตุอาหารรอง เช่น แมงกานีส โบรอน ทองแดง เหล็ก สังกะสี และโมลีบดินัม อาหารพืชที่เราให้ลงไปในดินจะมีทั้งอินทรียสาร และอนินทรียสาร

อินทรียสาร เช่น ใบไม้ผุ หญ้าหมัก มูลสัตว์ จะช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น เช่น ทำให้ดินร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดี นอกจากนี้จะเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินบ้าง แต่น้อยมาก ตัวอย่างเช่น มูลวัวหรือควาย จะมีธาตุอาหารโดยประมาณ คือ ไนโตรเจน ๐.๘-๑.๓% กรดฟอสฟอริก ๐.๓-๐.๙% เป็นต้น ต้นไม้จะไม่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในทันที แต่จะปล่อยให้ปุ๋ยผุพังโดยผ่านกระบวนการต่างๆ เสียก่อน และจะมีจุลินทรีย์ในดินเข้าช่วยด้วย

อาหารพืชที่อยู่ในรูปอนินทรียสาร เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต แอมโมเนียมไนเตรต โซเดียม ไนเตรต แอมโมเนียมฟอสเฟต ยูเรีย สารเหล่านี้เป็นแหล่งที่มาของธาตุไนโตรเจน (N) สารพวกซุปเปอร์ฟอสเฟต ดับเบิลซุปเปอร์ฟอสเฟต แคลเซียมฟอสเฟต กระดูกป่น และแอมโมเนียมฟอสเฟต จะให้ธาตุฟอสฟอรัส (P) ส่วนสารที่ให้ธาตุโพแทช (K) ที่นิยมกันมาก คือ โพแทสเซียมคลอไรด์ และโพแทสเซียมซัลเฟต ดินจำเป็นต้องได้ธาตุอาหารจากปุ๋ยอนินทรีย์ เมื่อดินที่ไม้ผลขึ้นอยู่นั้นมีธาตุอาหารต่างๆ ไม่เพียงพอ การใส่ปุ๋ยควรกระทำเมื่อพืชขาดธาตุอาหาร และใส่ในจำนวนพอดีไม่ขาดไม่เกิน ตลอดจนให้ธาตุอาหารที่พืชต้องการ

๒. การใส่ปุ๋ยสวนผลไม้

การให้ปุ๋ยไม้ผลนั้นแตกต่างจากการให้ปุ๋ยพืชที่มีรากตื้นๆ เช่น พืชไร่หรือผัก และเนื่องจากไม้ผลยืนต้นมีอายุยืนนาน ผลของการใส่ปุ๋ยจึงมีความสำคัญยิ่งกว่า เพราะการขาดธาตุอาหารบางอย่างใช้เวลานานจึงจะแสดงอาการให้เห็น การให้ปุ๋ยไม้ผลมีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาหลายอย่างด้วยกัน เช่น ดิน อายุของต้น ชนิดของไม้ผล ปริมาณน้ำฝน ตลอดจนวิธีปฏิบัติงานสวน จึงไม่สามารถกำหนดวิธี และอัตราการให้ปุ๋ยที่แน่นอนตายตัวลงไปได้ ฉะนั้นการให้ปุ๋ยในแต่ละสวนอาจแตกต่างกันออกไป สำหรับหลักทั่วไปในการพิจารณาให้ปุ๋ย ควรมีดังนี้

๒.๑ ควรทราบปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน หรือในส่วนต่างๆ ของต้นไม้ว่ามีเพียงพอหรือไม่ และธาตุอาหารเหล่านั้นพืชสามารถจะเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้มากน้อยเพียงไร การทดสอบเพื่อหาปริมาณธาตุอาหารอาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การวิเคราะห์ดิน การวิเคราะห์ส่วนของพืช และการทดลองปุ๋ย ตลอดจนการสังเกตอาการของต้นไม้

๒.๒ ควรทราบความต้องการของต้นไม้ในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโตว่า ระยะไหนต้นไม้ต้องการอาหารมากที่สุด และระยะไหนต้นไม้ต้องการธาตุอาหารอะไรมาก ปกติเราแบ่งการเจริญเติบโตของต้นไม้ออกเป็น ๒ ตอน คือ การเจริญทางกิ่งใบ กับการเกิดดอกติดผล ระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโตจะต้องการธาตุอาหารแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น กล้วยเมื่อเราปลูกจากหน่อ ในช่วง ๓ เดือนแรกจะกินปุ๋ยน้อย พอเริ่มเข้าเดือนที่ ๔ ซึ่งเป็นระยะแตกเนื้อสาวของกล้วย และจะกินเวลาจนถึงสิ้นเดือนที่ ๖ ช่วงนี้กล้วยต้องการปุ๋ยเป็นจำนวนมาก และต้องการไนโตรเจนสูง จึงควรโหมให้ปุ๋ยตั้งแต่เดือนที่ ๔ ถึงเดือนที่ ๖ พอเลยระยะนี้ไปแล้วพืชจะต้องการปุ๋ยลดลง ถ้าเราใส่ปุ๋ยมากพืชก็จะนำไปใช้เป็นประโยชน์ได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น การให้ปุ๋ยกล้วยเมื่อเลยเดือนที่ ๖ หลังจากปลูกไปแล้ว ควรเป็นปุ๋ยที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพของกล้วย นั่นคือ ควรมีธาตุโพแทชสูง

๒.๓ ควรใส่ปุ๋ย เพื่อให้ต้นไม้ให้ผลกำไรมากที่สุด พืชโดยทั่วไปต้องการธาตุอาหาร N:P:K: ในอัตราส่วน ๕:๑:๒ ซึ่งในอัตราส่วนนี้ธาตุอาหารทั้ง ๓ จะมีอำนาจเท่าๆ กัน และธาตุอาหารจะเป็นประโยชน์ต่อพืชมากที่สุด หรือจะกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ถ้าดินปลูกพืชไม่มีธาตุอาหารอะไรอยู่เลย และสภาพแวดล้อมอื่นเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช ถ้าเราให้ปุ๋ยพืช N:P:K: ในอัตรา ๕:๑:๒: แล้ว พืชนั้นจะเจริญเติบโตสามารถให้ดอกผลอย่างดียิ่ง เพราะธาตุทั้งสามไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

๒.๔ การใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่หลายๆ ครั้งต่อปี ธาตุอาหารบางอย่าง เช่น ไนโตรเจน เมื่อให้ลง ไปในดินแล้วจะไหลซึมได้ง่าย ถ้าเราให้ในปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว พืชจะเอาไปใช้ไม่ทัน และธาตุอาหารอื่นๆ ก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน กล่าวคือ พืชจะทยอยใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ การใส่ปุ๋ยจึงควรแบ่งใส่ ๒-๓ ครั้ง หรือมากกว่าต่อปี ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงอายุของต้นไม้ด้วย ไม้ผลที่ยังเล็กอยู่ควรแบ่งใส่หลายๆ ครั้ง เพราะระบบรากยังไม่แข็งแรงพอ ไม้ผลที่โตแล้วมักแบ่งใส่เป็น ๓ ครั้งต่อปี เช่น ครั้งแรกให้ก่อนหรือต้นฤดูฝน ครั้งที่สองให้ตอนปลายฤดูฝน และอีกครั้งหนึ่งตอนก่อนออกดอก หรือหลังเก็บเกี่ยวผลแล้ว อย่างไรก็ดีควรพิจารณาสภาพท้องที่ และชนิดของไม้ผลประกอบด้วย

ข้อมูลจาก https://saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=5&chap=2&page=t5-2-infodetail08.html

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม