4 หัวใจหลัก เพื่อนักปลูกผักมือใหม่
“มือร้อนปลูกผักไม่ขึ้น” “ผักไม่งามเหมือนที่ตลาด” “ซื้อดินถุงมาปลูกผัก ทำไมไม่ขึ้น” และอีกหลากหลายปัญหาที่มักจะได้ยินจากนักปลูกผักมือใหม่ หรือจากคนรอบข้างที่อยากจะเริ่มปลูกผักปลอดสารเคมีไว้บริโภคในครัวเรือน จริงๆ แล้วปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการที่เราไม่เข้าใจธรรมชาติของผัก หรือหลักการของการปลูกผัก ดังนั้นก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า
การปลูกผักมีความแตกต่างจากการปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักต้องการการดูแลเอาใจใส่ และต้องการเวลาจากนักปลูกผักพอสมควร
เนื่องจาก…
ผักเป็นพืชล้มลุก มีอายุสั้น อายุประมาณ 30-45 วันเราต้องทำการเก็บเกี่ยวและปลูกใหม่ หากลองสังเกตเวลาเราปลูกต้นไม้ ถ้าลืมรดน้ำ ต้นไม้ยังเจริญเติบโตได้ ในทางกลับกัน หากเราลืมรดน้ำผัก หรือโดนแดดแรงๆ ผักไม่โต บางต้นแคระแกร็น ซ้ำร้ายผักตายไปต่อหน้าต่อตา
ผักมีรากสั้น หาอาหารเองไม่เก่ง ผักมีระบบรากเป็นรากฝอย หยั่งรากตื้น โดยเฉพาะผักเมืองหนาว เช่น ผักสลัด คะน้า กวางต้ง ผักบุ้ง เป็นต้น เราจึงจำเป็นต้องเตรียมดินให้ดี อุดมสมบูรณ์ และหมั่นเติมธาตุอาหารให้แก่ผักด้วย
ดังนั้นใครอยากปลูกผัก ลองตัวเองก่อนว่า เราขี้เบื่อไหม อดทนพอไหม มีเวลาดูแลผักไหม จากนั้นขอแค่ทำความเข้าใจกับ 4 ปัจจัย คือ ดิน แดด น้ำ และเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นหัวใจหลักสำหรับการปลูกผักปลอดสารเคมี เพียงเท่านี้การปลูกผักจะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ปัจจัยแรก ‘ดิน’ ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
แหล่งอาหารที่ผักใช้ในการเจริญเติบโตอยู่ในดิน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรุงดินให้มีสารอาหารที่เพียงพอแก่ผัก โดยทั่วไป ปัญหาส่วนใหญ่ของคนเมือง คือดินตามบ้านจัดสรรเป็นลักษณะดินจากสิ่งก่อสร้าง มีอิฐ หิน และเศษปูน อีกกรณีคือ คนเมืองที่อยู่ คอนโด หอพัก หรือตึกแถว ไม่มีพื้นที่ดินในการปลูกผักเลย ทำให้คนเมืองจำเป็นต้องซื้อดินปลูกตามร้านขายต้นไม้ เช่น ดินใบก้ามปู ดินขุยไผ่ หรือดินปลูกที่ผสมขุยมะพร้าวและมูลสัตว์มาใช้ในการเพาะปลูก ซึ่งไม่เพียงพอต่อการปลูกผัก
เนื่องจากดินถุงแบบนี้มีปริมาณเนื้อดินน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นเศษกิ่งไม้ ใบไม้ ขุยมะพร้าวที่ยังย่อยสลายไม่ดี ไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของผัก ดังนั้นเราจำเป็นต้องใส่อินทรีย์วัตถุอื่นๆให้แก่ผัก เช่น
ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์ ช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ผัก
แกลบสด ระบายน้ำได้ดี มีความพรุน ทำให้อากาศผ่านได้ดี
แกลบเผา หรือแกลบดำ ช่วยอุ้มน้ำได้ดี
กาบมะพร้าว ช่วยอุ้มน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้ดิน
ปุ๋ยหมัก เป็นปุ๋ยที่ผ่านกระบวนการหมักจากเศษผัก ผลไม้ เศษใบไม้ และเศษอาหารด้วยจุลินทรีย์ ช่วยเพิ่มธาตุอาหาร ช่วยการเจริญเติบโต
เริ่มเตรียมดินสำหรับเพาะกล้า ย้ายกล้า
ในขั้นตอนนี้ เราให้ความสำคัญกับการระบายน้ำและการเก็บความชื้นของดินเป็นหลัก สิ่งสำคัญคือการ ‘ร่อนดิน’
ใช้ดิน 1 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 ส่วน ร่อนส่วนผสมต่างๆ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน
นำดินที่ผสมแล้วใส่ลงในถาดตะกร้า นำไม้บรรทัดขีดเป็นแนวร่องตามความยาวของตะกร้า
หยอดเมล็ดพันธุ์ลงในร่องแล้วกลบ
นำกระดาษหนังสือพิมพ์ปิดทับ แล้วรดน้ำผ่านกระดาษหนังสือพิมพ์ให้ชุ่ม รดน้ำเช้า เย็นโดยสังเกตวันที่สอง ผักจะเริ่มงอกออกมาจากเมล็ด นำกระดาษหนังสือพิมพ์ออก รดน้ำต่อไปอีกประมาณ 2-3วัน สังเกตว่าต้นกล้าจะมีใบแทงออกมา จากนั้นจึงทำการย้ายลงถาดเพาะกล้า
นำดินที่ร่อนและผสมแล้วใส่ลงไปในถาดหลุมสำหรับเพาะกล้า
ย้ายต้นกล้าจากตะกร้ามาลงถาดหลุม โดยย้ายหนึ่งหลุมต่อหนึ่งต้นกล้า โดยวางต้นกล้าแนวนอนแล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นกดที่โคนต้นกล้าเพื่อให้ต้นกล้าตั้งตรง ทำจนเต็มถาด
รดน้ำเช้า-เย็น นำถาดไว้ในที่ที่มีแดดรำไร รดน้ำหมักชีวภาพทุกๆ 3 วัน ดูแลต้นกล้าแบบนี้จนต้นกล้ามีอายุครบ 20 วัน จึงทำการย้ายต้นกล้าลงกระถางหรือลงแปลงปลูกผัก
กล้าแข็งแรง ลงกระถางก็ได้ ลงแปลงก็ดี
เมื่อเราได้ต้นกล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง อายุประมาณ 20 วันแล้ว ทำการเตรียมดินสำหรับปลูก
สิ่งสำคัญคือ ธาตุอาหารที่พืชใช้ในการเจริญเติบโต
ใช้ดินปลูก 1 ส่วน แกลบดิบ 1 ส่วน แกลบเผา 1 ส่วน ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน (ไม่ต้องร่อนดิน)
นำกาบมะพร้าว 1 มือ รองที่ก้นกระถาง นำดินลงกระถาง โดยเลือกกระถางให้เหมาะสมกับผักที่ปลูก เช่น ต้นหอม ผักชี สะระแหน่ ใช้กระถางขนาด 8 นิ้ว ปลูกผักคะน้า กวางตุ้ง ผักสลัด ใช้กระถางขนาด 10 นิ้ว ส่วนผักสวนครัว เช่น พริก กะเพรา โหระพา ใช้กระถางขนาด 12-15 นิ้ว เป็นต้น เราสามารถเลือกใช้ได้ทั้งกระถางดินเผาหรือกระถางพลาสติก โดยกระถางดินเผาซึ่งมีรูพรุนรอบๆ จะถ่ายเทความชื้นของดินได้ดี แต่เปราะบางแตกหักง่าย มีน้ำหนักมาก ส่วนกระถางพลาสติกจะช่วยรักษาความชื้นได้ดี มีน้ำหนักเบา แต่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ถ้ารดน้ำมากไปผักจะเน่าตายได้
หากมีพื้นที่ นำต้นกล้าปลูกลงดิน กลบดิน และใช้ฟางคลุมดิน รดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อผักมีอายุได้ประมาณ 30-45 วัน ตัดผักไปรับประทานได้เลย โดยตัดใบผักไปรับประทาน ไม่จำเป็นต้องถอนรากออกมา
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ นักปลูกหลายคนอาจจะหมดกำลังใจเพราะรู้สึกขั้นตอนยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่ง่ายเลย แต่ถ้าเราให้ความสำคัญกับขั้นตอนการเตรียมดินอย่างดี และดูแลต้นกล้าให้แข็งแรงแล้ว รับรองได้เลยว่านักปลูกทุกท่าน เริ่มต้นมาถูกทาง และเชื่อว่าเหลือเกินว่า ผักจะเจริญเติบโต จนได้รับประทานอย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก https://www.greenery.org/articles/suanpakrimbiang-soil/
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น