ปุ๋ยอินทรีย์ เจาะลึกทุกรายละเอียด

ปุ๋ยมีหลายประเภทที่แบ่งออกตามลักษณะ และคุณสมบัติต่างๆ วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก ปุ๋ยอินทรีย์ แบบเจาะลึกทุกรายละเอียด

คำว่า “อินทรีย์” หมายถึงสิ่งมีชีวิต ปุ๋ยอินทรีย์ก็เลยมีความหมายตรงตัวว่าเป็นปุ๋ยที่ได้มาจากส่วนประกอบของสิ่งมีชีวิต ไม่ใช่การสังเคราะห์ขึ้นมาเองเหมือนกับปุ๋ยเคมี หากเจาะลึกลงไปอีกหน่อย ปุ๋ยอินทรีย์ก็คือปุ๋ยที่ได้จากการย่อยสลายอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ และบรรดาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ซึ่งผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยมีจุลินทรีย์เป็นตัวช่วย จากก้อนใหญ่กลายเป็นก้อนเล็ก จากก้อนเล็กก็ลดลงมาจนเป็นอณูยิบย่อย เราเรียกสิ่งสุดท้ายนี่ว่า ฮิวมัส ซึ่งมีประโยชน์มากต่อพื้นดินและพืช

ความจริงแล้วปุ๋ยอินทรีย์เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือ การเอาใบไม้ที่ร่วงลงจากต้นมาถมไว้ที่โคนต้น พอเวลาผ่านไปใบไม้เหล่านี้ก็ย่อยสลายกลายเป็นฮิวมัส และเป็นตัวเพิ่มสารอาหารให้กับต้นไม้ในลักษณะของปุ๋ยอินทรีย์นั่นเอง แต่ระยะเวลาเหล่านี้จะค่อนข้างนาน หากจะใช้วิธีนี้บนพื้นที่เกษตรหลายร้อยไร่ก็คงไม่ไหว ดังนั้นเราจึงมีกระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นมาใช้ได้เอง ด้วยกรรมวิธีต่างๆ เช่น การใช้มูลวัว มูลไก่ มูลค้างคาว ซากพืช ซากสัตว์ ตลอดจนขยะที่ย่อยสลายได้และไม่เป็นมลพิษจากครัวเรือน นำมาสับ บด หมัก บ่ม ร่อน สกัด หรือด้วยวิธีการอื่นๆ เพื่อช่วยให้ชิ้นส่วนขององค์ประกอบเล็กลงและย่อยสลายจนได้แร่ธาตุที่เราต้องการได้เร็วขึ้น แต่ทั้งนี้เราก็สามารถเติมธาตุอาหารต่างๆ ลงไปเพิ่มได้ ถ้าคิดว่าปุ๋ยอินทรีย์ที่จะออกมานั้นยังมีแร่ธาตุไม่เพียงพอ

แร่ธาตุของปุ๋ยอินทรีย์

แร่ธาตุในปุ๋ยอินทรีย์ที่มีตามธรรมชาติหลังผ่านการหมักบ่มเรียบร้อยแล้วจะมีธาตุทั้งหมด 13 ธาตุ โดยแบ่งย่อยอีกเป็นธาตุหลักและธาตุรองตามหน้าที่การทำงานของแร่ธาตุเหล่านั้น

ธาตุหลัก คือ ธาตุที่เป็นแร่ธาตุพื้นฐานที่พืชต้องการและจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมากด้วย ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) โพแทสเซียม (K)

ธาตุรอง คือ ธาตุที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อย หากขาดพร่องไปก็ไม่ได้ส่งผลกระทบที่เสียหายแบบรุนแรงมากนัก ได้แก่ แคลเซียม (C) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S)

ธาตุเสริม คือ ธาตุที่พืชต้องการใช้ในปริมาณที่น้อยมากๆ แต่ก็ขาดไม่ได้เหมือนกัน ธาตุกลุ่มนี้ได้แก่ เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) โบรอน (B) โมลิบดินัม (Mo) ทองแดง (Cu) สังกะสี (Zn) คลอรีน (Cl)

นี่คือแร่ธาตุทั้งหมดที่จะได้ โดยสัดส่วนก็จะแปรผันไปตามวัตถุดิบตั้งต้นที่นำมาใช้ เช่น ถ้าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการหมักบ่มพืชชนิดเดียวก็จะมีอัตราส่วนแร่ธาตุที่ต่างกับการหมักบ่มพืชหลายชนิด และแน่นอนว่าถ้าปุ๋ยนั้นมีส่วนผสมจากสัตว์ด้วยก็จะแตกต่างออกไปอีก แต่ไม่ว่าอย่างไรปุ๋ยอินทรีย์ทุกรูปแบบก็จะมีแร่ธาตุสำคัญ คือ N-K-P ครบถ้วนอยู่แล้ว เราจึงเลือกเอาวัตถุดิบที่เราหาได้ง่ายและสะดวกในการนำมาใช้งานได้

ชนิดของปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่จะทำใช้เองก็ได้หรือจะหาซื้อจากท้องตลาดก็ได้ เพียงแต่ว่าถ้าซื้อจากร้านค้าก็ต้องแน่ใจว่าไม่ใช่ปุ๋ยที่ผสมส่วนของเคมีลงไป และส่วนมากในท้องตลาดก็จะทำปุ๋ยอินทรีย์ออกมาในรูปแบบของปุ๋ยเม็ดเพื่อให้สะดวกกับการใช้งาน หากอยากได้แบบน้ำหรือแบบผงมากกว่าก็ต้องลงมือทำเสียเอง ทีนี้พอพูดว่าปุ๋ยอินทรีย์หลายคนอาจจะยังนึกไม่ออก เราจึงแยกชนิดของปุ๋ยอินทรีย์ให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นดังนี้

ปุ๋ยหมัก : ปุ๋ยแบบนี้คือปุ๋ยที่ได้จากการหมักซากพืช ซากสัตว์ และอินทรียวัตถุต่างๆ ด้วยการนำส่วนประกอบทั้งหมดมารวมกันและรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นปิดให้มิดชิดเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับจุลินทรีย์

ปุ๋ยคอก : แบบนี้เป็นปุ๋ยจากมูลสัตว์ จะเป็นแบบของเหลวหรือของแข็งก็ใช่ทั้งหมด ปุ๋ยแบบนี้ดีตรงที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรอีก สามารถนำไปใช้ได้เลยทันที

ปู๋ยพืชสด : ปุ๋ยที่ได้จากต้นพืชในพื้นที่นั่นเอง ต่างกับปุ๋ยหมักตรงที่เราไม่ได้เอาพืชไปหมักรวมกัน แต่เราใช้วิธีไถกลบแล้วปล่อยให้พืชสดๆ นั้นย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ส่วนมากนิยมใช้เป็นพืชตระกูลถั่วเพราะให้ธาตุไนโตรเจนในระดับสูง

นอกจากนี้ก็ยังสามารถผสมผสานปุ๋ยทั้งสามแบบเข้าด้วยกันกลายเป็นปุ๋ยแบบใหม่ได้ มันคือการสร้างสรรค์จากวัตถุดิบใกล้ตัว หากต้องการใช้ปุ๋ยในปริมาณน้อยก็บ่มหรือหมักในถัง หากต้องการใช้เยอะก็เอาไปหมักกองรวมกันในที่ที่หนึ่งหรือจะขุดเป็นหลุมบ่อเพื่อหมักปุ๋ยโดยเฉพาะเลยก็ได้

ข้อดีและข้อเสียของปุ๋ยอินทรีย์

สำหรับหลายคนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่อีกหลายคนก็ไม่ใช่เรื่องที่สะดวกนัก ปุ๋ยอินทรีย์ถ้าต้องซื้อก็มักจะหาซื้อยากกว่าปุ๋ยเคมี และในบางพื้นที่ก็ดันมีราคาสูงกว่าปุ๋ยเคมีเสียอีก เกษตรกรจำนวนไม่น้อยจึงยังไม่ค่อยอยากเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี แต่เดี๋ยวเราจะต้องมาดูจุดเด่นจุดด้อยของปุ๋ยอินทรีย์เพื่อชั่งใจกันให้ดีอีกครั้งหนึ่ง

ข้อดี

ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมที่ปุ๋ยเคมีไม่มี อย่าลืมว่าธาตุทั้งสองกลุ่มนี้ ต่อให้ความต้องการของพืชจะน้อย แต่ก็ไม่สามารถขาดได้อย่างเด็ดขาด

ปุ๋ยอินทรีย์ไม่ทำร้ายผิวดิน ยังคงทำให้ดินมีสภาพเป็นกลางเหมาะสมกับการเพาะปลูกอยู่เสมอ

ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพื้นดินให้มากขึ้นจากเดิม

ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยปรับให้หน้าดินร่วนซุยโดยไม่ต้องไถพรวนกันมากนัก ซึ่งนั่นส่งผลดีต่อพืชที่จะลงปลูกด้วย

ข้อเสีย

ปริมาณธาตุอาหารหลักต่ำกว่าปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีสามารถอัดระดับแร่ธาตุได้อย่างเต็มที่

ต้นทุนถูกกว่าเพราะไม่ต้องใช้ในปริมาณที่มาก

ไม่สามารถบังคับได้ชัดเจนว่าจะเร่งส่วนไหนของพืช เช่น เร่งใบ เร่งดอก เป็นต้น

ความสำคัญของปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่อาจจะหาใช้งานได้ไม่ง่ายนักในบางพื้นที่ แต่มันมีความสำคัญต่อภาคการเกษตรค่อนข้างมาก ยิ่งถ้าต้องการทำการเกษตรแบบยั่งยืน หมายถึง ไม่ต้องฟื้นฟูหน้าดินกันบ่อยๆ ไม่ต้องมีการพักการใช้งานหน้าดินด้วย แบบนี้ก็ต้องนำปุ๋ยอินทรีย์เข้ามาใช้ ถึงจะใช้ไม่ได้ตลอดแต่การสลับใช้กับปุ๋ยเคมีก็ยังให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว ประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่น่าสนใจมีดังนี้

ปุ๋ยอินทรีย์มีแร่ธาตุเพียงพอต่อการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของพืช อาจจะมองไม่เห็นชัดนักในระยะแรกที่ใช้งาน แต่ในระยะยาวนั้นมีผลมาก ต้นพืชจะค่อยๆ แข็งแรงและเพิ่มผลผลิตขึ้นเป็นหลายเท่าตัว

ปุ๋ยอินทรีย์ปรับระดับความเป็นกรด-ด่างของดิน เพื่อให้เหมาะสมต่อการเติบโตของพืช ทั้งยังรักษาสภาพของค่ากรดด่างในดินให้เสถียรอยู่เสมอ

ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเซตระบบนิเวศน์ของดินเสียใหม่ ด้วยการทำให้เม็ดดินร่วนซุย ไม่จับเป็นก้อนแข็งหรึอก้อนเหนียวทึบน้ำ ความชื้น อากาศและน้ำจึงไหลผ่านได้สะดวก ซึ่งถือเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีมากๆ ต่อต้นพืช

ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเสริมพลังในการทำงานของจุลินทรีย์ในดิน เริ่มจากเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการย่อยสลายอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินได้ดีขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น การใส่ปุ๋ยไปจนถึงระดับนี้จึงเหมือนการลงทุนครั้งเดียวที่จะให้ผลลัพธ์ต่อเนื่องไปอีกยาวนาน

ปุ๋ยอินทรีย์ไม่เป็นมลพิษต่อพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตในดิน ตลอดจนไม่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

ปุ๋ยอินทรีย์ใช้งานได้ง่าย แถมยังสามารถทำใช้เองได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท เพียงแต่ต้องลงแรงในการหมักบ่ม หรือด้วยกระบวนการอื่นๆ แทน ถือว่าเป็นการนำของที่อาจจะกลายไปเป็นเพียงขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ได้ลดขยะและได้บำรุงดินไปในคราวเดียว

จะเห็นว่าผลลัพธ์จากการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่ได้รับในระยะยาวทั้งสิ้น แต่มันก็คุ้มค่ากับการรอคอยเสมอ เมื่อไรที่เราใช้งานธรรมชาติได้อย่างที่มันควรจะเป็น ธรรมชาติก็จะตอบแทนด้วยผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์แน่นอน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/ปุ๋ยอินทรีย์

http://www.siamchemi.com/ปุ๋ยอินทรีย์/

https://sites.google.com/site/puayxinthriychiwphaphtramakhu/home/what-is-pui

ขอขอบคุณที่มาจาก : https://www.phasitpuythai.com/

ข้อมูลจาก http://www.tanud.go.th/site/index.php?option=com_content&view=article&id=516:2018-02-26-07-53-44&catid=55:2017-09-21-03-55-42&Itemid=100

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ