การจัดการปัญหาดินปนเปื้อน

 ความหมายของดิน

ดินปนเปื้อน หมายถึง การที่สารเป็นพิษในรูปต่าง ๆ ถูกผสมลงในดินธรรมชาติ การปนเปื้อนนี้อาจเกิดจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หรือเกิดจากธรรมชาติก็ได้ แต่ทำให้ที่ดินนั้นเกิดความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร หรือมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของมนุษย์และสัตว์ หรือต้องการปรับปรุงที่ดินนั้นให้คืนสู่สภาพเดิม

ภาวะมลพิษของดิน (soil pollution) หมายถึง ภาวะการปนเปื้อนของดินด้วยสารมลพิษ (soil pollutant) มากเกินขีดจำกัด จนมีอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย ตลอดจนการเจริญเติบโตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์

ลักษณะของดิน

ในสภาพปัจจุบัน ดินนอกจากจะทำหน้าที่เป็นแหล่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค อย่างที่เคยเป็นมาแต่โบราณแล้ว ดินยังต้องเป็นแหล่งรองรับสิ่งปฏิกูลแห่งเทคโนโลยีทั้งหลาย นอกจากนั้นดินยังได้รับผลข้างเคียงจากการใช้สารเคมีในการเกษตร ผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากดินในสภาพปัจจุบัน จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพน้ำ และอากาศ อันเป็นพื้นฐานสำคัญของคุณภาพชีวิต

จากพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2551 มาตรา 14 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่าพื้นที่ใดมีการใช้หรือทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมี หรือวัตถุอื่นใดที่จะทำให้ที่ดินเกิดความเสื่อมโทรมต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการพัฒนาที่ดิน มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษาควบคุมการใช้ที่ดินบริเวณนั้นและให้มีแผนที่แนบท้ายประกาศด้วย แผนที่ดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งประกาศกรณีมีการปนเปื้อนเกิดขึ้น ให้ผู้กระทำการปนเปื้อนดำเนินการปรับปรุงที่ดินให้คืนสู่สภาพเดิมหรือชดเชยค่าเสียหายให้แก่รัฐหรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย” เช่น การปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงสู่พื้นที่ทำการเกษตร หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมมีความเค็มเพิ่มขึ้นและมีผลกระทบต่อพืชที่ปลูก การทำให้พื้นที่เพาะปลูกปนเปื้อนด้วยสารเคมีหรือโลหะหนักแล้วมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นต้น

สภาพปัญหาของดิน

แหล่งกำเนิดสารมลพิษ และสารมลพิษในดิน

สารมลพิษในดินมีแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมด้านการเกษตร การอุตสาหกรรม วัสดุเหลือใช้ และน้ำทิ้งจากชุมชน จะเห็นได้ว่า แหล่งกำเนิดสารมลพิษแต่ละแหล่ง ทำให้เกิดสารมลพิษที่แตกต่าง การใช้สารเคมีฆ่าศัตรูพืชทำให้ดินเป็นแหล่งสะสมสารเคมีที่มีผลตกค้างนาน เช่น สารประเภทคลอรีนอินทรีย์ เป็นต้น สารกำจัดศัตรูพืชประเภทอนินทรีย์มักจะใช้ธาตุพิษเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น สารหนู ทองแดง ปรอท ฯลฯ ซึ่งเป็นธาตุที่อยู่ในรูปของสารพิษในดินได้นาน

การใช้ปุ๋ยเคมี และการไถพรวนที่ไม่เหมาะสม เป็นการแพร่กระจายธาตุปุ๋ย และอนุภาคแขวนลอยสู่แหล่งน้ำ ซึ่งการชะล้างพังทลายของดินจากการใช้ที่ดินไม่เหมาะสม เช่น การเพาะปลูกพืชที่ขาดสิ่งปกคลุมผิวหน้าดิน การทำเหมืองเปิด ฯลฯ ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายดังกล่าวได้เช่นกัน นอกจากนั้นแล้วการชะล้างพังทลายหน้าดินในปริมาณมากจะทำให้อนุภาคขนาดทราย หรือกรวด เคลื่อนทับถมทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำลดลง และอาจรุนแรงถึงขั้นทำลายที่อยู่อาศัย หรือสถานที่วางไข่ของปลาได้เช่นกัน

การใช้ดินที่ไม่ถูกต้อง ที่ทำให้เกิดการเร่งให้ดินเป็นกรด-ด่าง เช่น การใช้ปูนที่มากเกินไป หรือการใช้ปุ๋ยทีมีฤทธิ์ตกค้างเป็นด่างเวลานาน การทำนาเกลือ ฯลฯ อาจทำให้เกิดการสะสมเกลือบริเวณผิวหน้าดิน ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ผล ทำให้แหล่งน้ำในบริเวณดังกล่าวมีคุณภาพลดลงจนถึงขั้นไม่อาจนำมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้น ในกรณีที่มีเกลือบริเวณผิวดินมาก เมื่อมีการไหลของเกลือไปกับน้ำไหลบ่า จะทำให้ดินและแหล่งน้ำข้างเคียงมีการสะสมเกลือเพิ่มขึ้นได้ ในสภาพที่ดินเป็นกรด หากดินนั้นมีปริมาณซัลเฟตในดินสูงจะทำให้ดินและน้ำในแหล่งนั้นเป็นกรดจัด ทำให้ธาตุอาหารพืชที่ละลายได้น้อยในสภาพกรด โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัส เกิดการขาดแคลน และในสภาพเช่นนี้ เหล็ก และอะลูมินัม ซึ่งละลายได้ดี อาจมีมากในสารละลายดิน จนถึงระดับเป็นพิษต่อพืชได้

การใช้ดินเป็นแหล่งทิ้งวัสดุเหลือใช้ และการทิ้งน้ำทิ้งที่มีสารมลพิษในปริมาณสูงลงไปในดิน เป็นการสะสมสารมลพิษในดินได้เช่นกัน ส่วนสารมลพิษจะเป็นชนิดใดย่อมขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุเหลือใช้หรือน้ำทิ้งชนิดนั้น ตัวอย่างเช่น วัสดุเหลือใช้ในการเกษตร หรือน้ำทิ้งจากบ้านเรือน อาจเป็นการสะสมสารพิษประเภทอินทรีย์ของไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัส แต่หากเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมหรือขยะจากตัวเมือง หรือน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม อาจเป็นการสะสมธาตุพิษ หรือสารพิษประเภทอนินทรีย์ในดินด้วย เป็นต้น

สาเหตุการปนเปื้อนของดิน

1. เกิดตามธรรมชาติ

1.1 วัตถุต้นกำเนิดดิน มีองค์ประกอบของเกลือแร่หรือสารประกอบของโลหะ

1.2 ดินเปรี้ยว ดินเค็ม หรือมีโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว ปรอท

2. เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่

2.1 การทำเหมืองแร่ การบด การทิ้งหางแร่ การจัดการที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการปนเปื้อนของโลหะหนักในพื้นที่เกษตรกรรม

2.2 การถลุงแร่และเถ้าลอย โลหะหนักส่วนใหญ่ในอากาศมาจากโรงไฟฟ้า โรงถลุงโลหะ และโรงงานที่ใช้สารเคมี การเผาไหม้ถ่านหิน กิจกรรมย่อยอื่น ๆ เช่น โรงงานแบตเตอร์รี่ โรงงานทำหลอดฟลูออเรสเซนต์ เป็นต้น

2.3 การใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตร ก่อให้เกิดสิ่งปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนักธาตุต่าง ๆ เช่น สารหนู แคดเมียม ทองแดง และสังกะสี

2.4 การใช้น้ำเสียในระบบชลประทานจากการที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลอง แล้วมีการนำน้ำไปใช้ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือสารพิษอื่น ๆ ในดิน

2.5 การใช้กากตะกอนน้ำเสีย การใช้กากตะกอนน้ำเสียในปริมาณมาก ๆ ย่อมทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักโดยเฉพาะทองแดง

2.6 การใช้ปุ๋ยคอก หากมีโลหะหนักเป็นวัตถุเจือปนในอาหารสัตว์ เช่น การเติมสารหนูลงในอาหารสุกร การควบคุมโรคในสัตว์ปีก และการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ ทำให้มีโลหะหนักในมูลของสัตว์ปีกหรือปุ๋ยคอกจากปศุสัตว์ เมื่อนำปุ๋ยคอกไปใช้อาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนในดินได้

ผลเสียจากดินปนเปื้อน

พืชผักที่ปลูกในดินที่ปนเปื้อน หรือน้ำที่เจือปนด้วยโลหะหนัก เช่น แร่ทองแดง ตะกั่ว แคดเมียม และสังกะสี เมื่อรับประทานหรือดื่มเข้าไปจะเกิดโรคที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1. โรคอิไต-อิไต มีอาการของโรคเกี่ยวกับไต ปวดกระดูกจนถึงกระดูกผิดรูป ถ้าเป็นมากอาจถึงขั้นเดินไม่ได้

2. โรคไข้ดำหรือมะเร็งผิวหนังจากพิษสารหนูเรื้อรัง มีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ได้แก่ มีตุ่มคันตามมือและเท้า ผิวมีสีคล้ำผิดปกติ หากเป็นในเด็กจะทำให้มีระดับสติปัญญาน้อยกว่าระดับเฉลี่ย มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ไตอาจอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง ดีซ่าน มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นอัมพาตได้

3. โรคที่เกิดจากความเป็นพิษของตะกั่ว การปนเปื้อนของตะกั่ว ทำให้ประชาชนที่อาศัยในบริเวณนั้นมีอาการของโรคที่เกิดจากพิษตะกั่ว ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ได้แก่ อาการถ่ายท้อง ปวดท้อง ปวดศีรษะ กระดูก ชา บวมตามแขนขา หากเป็นในเด็กทำให้มีสภาพผิดปกติ และมีพัฒนาการทางสมองช้า

การแจกกระจายพื้นที่ดิน

การแพร่กระจายของสารกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อม

การใช้สารกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยมีมานานไม่น้อยกว่าสามทศวรรษ โดยที่ปริมาณการใช้มิได้ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิต เพื่อที่จะศึกษาถึงผลตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการเก็บตัวอย่างทดสอบในปี พ.ศ. 2519 จากสัตว์น้ำ นก ผลผลิตการเกษตร เลือดมนุษย์ และนมมารดา พบว่า ในปลาและแพลงก์ตอนพืชที่ใช้ศึกษาคือ ปลาหางนกยูง ปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ และแพลงก์ตอนพืชคือ Chlorella sp. Ankistrodesmus sp. และ Scenedesmus sp. สารกำจัดศัตรูพืชที่มีผลร้ายแรงที่สุดคือสารพวกดีลดริน และดีดีที พวกที่มีผลน้อยต่อสัตว์และพืชเหล่านี้คือพาราควอตและบีเอชซี แต่ที่มีผลต่อแพลงก์ตอนพืชส่วนใหญ่คือสารปราบวัชพืช สำหรับในนก มีรายงานว่าในจำนวนนก 30 ชนิด ที่จับมาศึกษาที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม มีนกถึง 14 ชนิดที่มีสารพิษตกค้างประเภทอินทรีย์คลอรีน โดยที่นกแต่ละตัวมีสารพิษหลายชนิดรวมกันอยู่ และมีการสะสมที่ไขมันมากที่สุด สำหรับดินและน้ำที่ใช้ศึกษาพบว่า น้ำ ดิน และตะกอนดินกว่า 2,000 ตัวอย่าง ทั่วประเทศไทยมีสารกำจัดศัตรูพืชในระดับที่ตรวจพบได้ ส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่มคลอรีนอินทรีย์พวกดีดีทีและดีลดริน และอาจพบสารในกลุ่มฟอสเฟตอินทรีย์และคาร์บาเมตในบางท้องที่ สำหรับพืชผัก ผลไม้ พืชไร่ พืชน้ำมัน พืชอาหารสัตว์ และไข่ที่ทำการสำรวจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ถึง 2530 รวมทั้งสิ้นประมาณ 3,000 ตัวอย่าง พบว่า ในจำนวนตัวอย่างเหล่านี้มีการปนเปื้อนด้วยสารกลุ่มคลอรีนอินทรีย์ และฟอสเฟตอินทรีย์มากกว่า 2,000 ตัวอย่าง (มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์)

ผลข้างเคียงของสารกำจัดศัตรูพืช

จากการแพร่กระจายของสารกำจัดศัตรูพืชในสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์มากมายหลายประการ เช่น เพิ่มปัญหา เมื่อมีการใช้สารเคมีฆ่าศัตรูพืชโดยการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชนิดหนึ่งให้หมดไป เท่ากับเป็นการลดการแก่งแย่งกับเผ่าพันธุ์อื่นที่อยู่ในระบบนิเวศน์นั้น แมลงหรือพืชที่ไม่ได้เป็นอันตรายจากสารเคมีชนิดดังกล่าวก็จะเติบโตแทนที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดศัตรูพืชพันธุ์ใหม่ที่ผิดไปจากเดิมโดยระดับความรุนแรงอาจเท่ากับหรือมากกว่าเดิมก็ได้ จึงอาจกล่าวได้ว่ามนุษย์ทำลายล้างเผ่าพันธุ์หนึ่งให้หมดสิ้นไป อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดเผ่าพันธุ์ใหม่เข้ามาแทนที่

การใช้ประโยชน์พื้นที่ในปัจจุบัน

การจัดการผลตกค้างสารกำจัดศัตรูพืชในดิน

 หากมีการตกค้างของสารเคมีไม่เป็นที่พึงประสงค์แล้ว การกำจัดจะทำได้ยากมาก ซึ่งหากจำเป็นที่จะลดปริมาณสารเคมีฆ่าศัตรูพืชที่ตกค้างในดินลงจนเหลือในระดับที่ไม่ก่อผลกระทบต่อพืชหลักอาจมีการจัดการวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้คือ

1. ปลูกพืชทนต่อสารพิษชนิดนั้น หรือพืชที่ไม่เป็นอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว และเก็บเกี่ยวนำออกไปจากพื้นที่

 2. การไถลึกกลับหน้าดิน เพื่อลดระดับความเป็นพิษของสารจากผิวดิน วิธีนี้มีข้อเสียคือการสลายตัวของสารกำจัดศัตรูพืชในดินล่างจะเป็นไปโดยเชื่องช้ากว่าเมื่อสารนั้นอยู่ดินบน เพราะทำให้ปัจจัยการเสื่อมสภาพของสารทางชีวเคมีลดลง

3. การใช้ระบบชลประทานเพื่อชะล้างสารนั้นออกจากพื้นที่ และเคลื่อนย้ายลงลึกเลยระบบรากพืช วิธีเช่นนี้ควรฝังท่อระบายน้ำดักอยู่ใต้ผิวดิน

4. การใช้สารดูดซับสารเคมี เช่น activated carbon อาจใช้คลุกเคล้ากับดินเพื่อลดระดับความเป็นพิษของสารกำจัดศัตรูพืช

5. การใช้สารเคมีหรือจุลินทรีย์เพื่อลดสภาพพิษ เช่น ปริมาณดีดีทีในดินจะลดลงอย่างรวดเร็ว หากมีการคลุกเชื้อแบคทีเรีย Aerobacter erogenes และให้ดินอยู่ในสภาพน้ำขัง

แนวทางการจัดการดิน

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหา

1. ใช้สารปรับปรุงบำรุงดิน เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปูน หรือสารปรับปรุงดินที่ไม่มีโลหะหนักปนเปื้อนสูง และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

2. บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกจากโรงงาน โรงงานอุตสาหกรรมควรมีการบำบัดน้ำเสียและตรวจสอบคุณภาพน้ำให้การปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ

3. น้ำใช้หรือน้ำชลประทาน ที่อยู่ใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือไหลผ่านพื้นที่ทำเหมืองแร่ ควรมีการตรวจสอบการปนเปื้อนก่อนนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร

4. หลีกเลี่ยงการนำวัสดุที่อาจเป็นอันตรายมาถมที่ดิน เศษวัสดุที่มีโลหะหนักปนเปื้อน กากแบตเตอร์รี่ ไม่ควรนำมาถมที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้พื้นที่นั้นในการปลูกพืชอาหารโดยตรง แต่น้ำจะชะละลายโลหะหนักลงสู่แหล่งน้ำ หรือเคลื่อนย้ายปนเปื้อนไปในพื้นที่อื่น

5. สอดส่อง ดูแล พื้นที่ทิ้งขยะไม่ให้มีการใช้ที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะหรือของเสียที่สงสัยว่าจะเป็นอันตรายจากสารปนเปื้อน

6. ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดิน นอกจากการดูแล รักษาที่ดินของตนให้สะอาดเหมาะสมกับการทำการเกษตรแล้ว ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ใกล้เหมืองแร่เก่าหรือโรงงานอุตสาหกรรม ควรส่งตัวอย่างดินไปตรวจวิเคราะห์เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโลหะหนักปนเปื้อนจนอาจเป็นอันตรายได้

สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมพัฒนาที่ดินนั้น จะมีเกณฑ์การประเมินระดับการปนเปื้อนของสารเคมีหรือวัตถุอื่นใดว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ รวมถึงมีกฎเกณฑ์การจัดการ และวิธีดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว หากพื้นที่ใดมีการปนเปื้อนเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการปนเปื้อนของโลหะหนักในดิน ซึ่งเป็นธาตุพิษที่ไม่เสื่อมสลาย และเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่งนั้น จะมีประกาศมาตรฐานโลหะหนักในดินเกษตรกรรม เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินคุณภาพดินว่าจะผลิตพืชอาหารได้อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินต่อไป

การดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดิน

โลหะหนักเป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบทั่วไปในดินทุกชนิด แต่ความเข้มข้นของโลหะหนักจะแตกต่างกันตามชนิดของวัตถุต้นกำเนิดดิน นอกจากนั้นโลหะหนักในดินอาจมาจากสารหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ใส่ลงไปในดิน เช่น ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก วัสดุปรับปรุงดิน และสารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น ซึ่งการประเมินว่าดินมีการปนเปื้อนหรือไม่ จำเป็นต้องทราบค่าพื้นฐานโลหะหนักในดินก่อน ซึ่งค่าพื้นฐานโลหะหนัก (Background concentration) เป็นความเข้มข้นของโลหะหนักเพื่อใช้เป็นค่าเปรียบเทียบหรือประเมินว่าดินมีการปนเปื้อนของโลหะหนักหรือไม่ ค่าพื้นฐานไม่ได้เป็นค่าบ่งชี้อันตรายที่อาจเกิดขึ้น แต่เป็นค่าระดับที่นำมาใช้เพื่อตรวจสอบต่อไปว่าการปนเปื้อนในพื้นที่ที่เกินระดับค่าพื้นฐานนั้น เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์หรือไม่ จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ พืช หรือเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อวิเคราะห์สาเหตุการปนเปื้อนต่อไป

จากการสำรวจข้อมูลปริมาณโลหะหนักในพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด ในดินพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ โดยศึกษาปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู แคดเมียม ทองแดง ตะกั่ว และสังกะสี เพื่อต้องการทราบค่าโลหะหนักที่มีอยู่ในดินทั่วไปหรือค่าพื้นฐานของโลหะหนัก (Background concentration) โดยมีการเก็บตัวอย่างดินในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศไทย จำนวน 3,186 ตัวอย่าง ที่ระดับความลึก 0-15 เซนติเมตร เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู (As) แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) ตะกั่ว (Pb) และสังกะสี (Zn) ในรูปทั้งหมดในดิน ด้วยเครื่อง ICP-OES และ HVG-AAS จากนั้นคำนวณค่าพื้นฐานโลหะหนักในดิน (Chen, et al., 1999) ผลการศึกษาพบปริมาณสารหนู (As) อยู่ในช่วง <0.001 – 46.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณแคดเมียม (Cd) อยู่ในช่วง <0.001 – 7.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณทองแดง (Cu) อยู่ในช่วง <0.01 – 53.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ปริมาณตะกั่ว (Pb) อยู่ในช่วง <0.005 – 191.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปริมาณสังกะสี (Zn) อยู่ในช่วง <0.04 – 117.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม รายละเอียดดังแสดงในตารางที่ 1 โดยสามารถกำหนดค่าพื้นฐานในดินเกษตรกรรม ได้ดังนี้ สารหนู (As) เท่ากับ 26 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แคดเมียม (Cd) เท่ากับ 1.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทองแดง (Cu) เท่ากับ 41 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่ว (Pb) เท่ากับ 55 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และสังกะสี (Zn) เท่ากับ 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

หากมาพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ดินในประเทศไทยยังมีค่าเฉลี่ยปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐานที่อ้างอิงในดินต่างประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียกำหนด อย่างไรก็ตามการปนเปื้อนโลหะหนักที่เกินจากค่าพื้นฐานอาจเกิดได้จากการปนเปื้อนในน้ำที่ใช้ในระบบชลประทาน จากกิจกรรมมนุษย์ เช่น การทิ้งกากสารอันตราย มลพิษจากอุตสาหกรรม การใช้ปุ๋ยเคมี รวมทั้งกิจกรรมที่รบกวนชั้นดินทำให้เกิดการปลดปล่อยโลหะหนักออกจากชั้นธรณีวิทยา เช่น กิจกรรมเหมืองแร่ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งจากการสำรวจและจัดทำค่าพื้นฐาน ทำให้ประเทศไทยสามารถนำมาใช้เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนเบื้องต้นในพื้นที่ ถ้ามีการปนเปื้อนเกินค่าพื้นฐานดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษในพื้นที่ จะต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างละเอียด มีการจัดการเพื่อลดสาเหตุของปัญหา เปลี่ยนชนิดพืชที่เพาะปลูก และตัดวงจรการปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหาร

ปัจจุบันได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพดิน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1) เพื่ออยู่อาศัยและเกษตรกรรม 2) เพื่อการอื่นนอกเหนือจากการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม ประกาศโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ. 2547) ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดมาตรฐานคุณภาพดิน ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ 119 ง ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างดินมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพดินเบื้องต้น กรณีจำเป็นต้องมีการพิสูจน์สภาพการปนเปื้อนเพื่อการฟื้นฟู ให้มีการประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมในลำดับต่อไป

สรุปและข้อเสนอแนะ

ดินปนเปื้อน ทั้งที่เกิดตามธรรมชาติ และเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ส่งผลให้ที่ดินนั้นเกิดความเสื่อมโทรม มีปัญหาต่อการใช้ประโยชน์ทางการเกษตร และมีผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัย ตลอดจนการเจริญเติบโตของมนุษย์ พืช และสัตว์ สำหรับแนวทางปฏิบัติของกรมพัฒนาที่ดินนั้น มีเกณฑ์การประเมินระดับการปนเปื้อนของสารเคมีหรือวัตถุอื่นใดว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ รวมถึงมีกฎเกณฑ์การจัดการ และวิธีดำเนินงานได้อย่างรวดเร็ว การประเมินว่าดินมีการปนเปื้อนหรือไม่ ต้องทราบค่าพื้นฐานโลหะหนักในดิน ซึ่งเป็นค่าระดับที่นำมาใช้เพื่อตรวจสอบว่าการปนเปื้อนในพื้นที่ที่เกินระดับค่าพื้นฐานนั้น เกี่ยวข้องกับกิจกรรมของมนุษย์หรือไม่ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ พืช หรือเกิดมลพิษในสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบและวิเคราะห์สาเหตุการปนเปื้อนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป โดยกำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพดิน แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1) เพื่ออยู่อาศัยและเกษตรกรรม และ 2) เพื่อการอื่นนอกเหนือจากการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม จากการสำรวจพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด ในดินพื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศ โดยศึกษาปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักในดิน ได้แก่ สารหนู (As) แคดเมียม (Cd) ทองแดง (Cu) ตะกั่ว (Pb) และสังกะสี (Zn) ผลการศึกษาพบว่าดินในประเทศไทยยังมีค่าเฉลี่ยปริมาณโลหะหนักไม่เกินค่ามาตรฐานที่อ้างอิงในดินต่างประเทศ ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชีย กำหนด

ดังนั้น ประเทศไทยควรทำการสำรวจมาตรฐานคุณภาพดินทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตรกรรม เพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนเบื้องต้น หากพบว่ามีการปนเปื้อนเกินค่าพื้นฐานที่กำหนด จะต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อนอย่างละเอียดเพิ่มเติม มีการจัดการตามสาเหตุของปัญหา และป้องกันการแพร่กระจายไปสู่พื้นที่อื่น และในพื้นที่ที่พบว่ามีการปนเปื้อนจะต้องตรวจสอบซ้ำทุกปี นอกจากนี้ควรห้ามมิให้พื้นที่นั้นปลูกพืชอาหารซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ได้

ข้อมูลจาก https://www.ldd.go.th/Web_Soil/polluted.htm

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 


 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ