ดินที่มีปัญหาทางด้านการเกษตร

ดินที่มีปัญหาทางด้านการเกษตร หมายถึง ดินที่มีสมบัติทางกายภาพและเคมีไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ทำให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามปกติได้ ส่วนใหญ่เป็นดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ได้แก่ ดินเค็ม.. ดินเปรี้ยวจัด.. ดินทรายจัด.. ดินอินทรีย์.. ดินปนกรวด.. และดินตื้น.. นอกจากนี้ยังรวมถึงพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง ซึ่งถ้ามีการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรแล้ว จะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง หากว่าจะใช้ดินเหล่านี้ในการปลูกพืชแล้ว จำเป็นต้องมีการจัดการเพื่อแก้ไขสภาพของดินให้เหมาะสมก่อนการปลูกพืชตามวิธีการปกติเสียก่อน

ดินที่มีปัญหาประเภทต่างๆ ที่พบในประเทศไทย

1.ดินเปรี้ยวจัด

ดินเปรี้ยวจัด หมายถึง ดินที่มีสภาพความเป็นกรดสูงมาก เนื่องจากอาจจะมี กำลังมี หรือได้เคยมีกรดกำมะถันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเกิดดินชนิดนี้อยู่ในหน้าตัดของดิน และปริมาณของกรดกำมะถันที่เกิดขึ้นนั้น มีมากพอที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดิน และการเจริญเติบโตของพืชในบริเวณนั้น

การเกิดดินเปรี้ยวจัด..

เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการกำเนิดของดิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับตะกอนน้ำทะเลหรือตะกอนน้ำกร่อย ทำให้เกิดการสะสมสารประกอบกำมะถันขึ้นในดิน ซึ่งเมื่อดินแห้ง สารประกอบกำมะถันเหล่านี้จะแปรสภาพทำให้เกิดกรดกำมะถันขึ้นในดิน ทำให้ดินเป็นกรดสูงมากจนมีผลกระทบต่อพืชที่ปลูก โดยทั่วไปจะมีค่าความเป็นกรดเป็นด่าง หรือพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.0 และมักจะพบจุดประสีเหลืองฟางข้าว ของสารจาโรไซต์ (jarosite) ในชั้นดินล่าง

แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามระดับความลึกของจุดประสีเหลืองฟางข้าวที่พบ ได้แก่

1.ดินเปรี้ยวจัดระดับตื้น พบจาโรไซต์ภายใน 50 ซม. จากผิวดิน

2. ดินเปรี้ยวจัดระดับลึกปานกลาง พบจาโรไซต์ภายในช่วง 50-100 ซม. จากผิวดิน

3. ดินเปรี้ยวจัดระดับลึก พบจาโรไซต์ที่ระดับความลึกมากกว่า 100 ซม.จากผิวดิน

ปัญหาที่เกิดจากดินเปรี้ยวจัด

การที่ดินมีความเป็นกรดสูงเกินไปทำให้เกิดการขาดแคลนธาตุอาหารที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืช เช่น ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส นอกจากนี้สภาพที่เป็นกรดสูงยังทำให้ธาตุเหล็กและอะลูมินัมละลายออกมาอยู่ในดินมากจนถึงระดับที่เป็นพิษต่อพืชที่ปลูก

การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด มีหลายวิธี สำหรับดินที่มีปฏิกิริยาของดินเป็นกรดไม่รุนแรง อาจใช้วิธีการทำให้กรดเจือจางลง โดยการใช้น้ำชะล้างความเป็นกรดในดิน หรือการขังน้ำไว้นานๆ แล้วระบายออกก่อนปลูกพืช ร่วมกับการเลือกพันธุ์พืชที่ทนต่อดินกรด สำหรับการจัดการดินที่มีปฏิกิริยาของดินเป็นกรดรุนแรงมาก จะใช้วิธีการใส่วัสดุปูน เช่น ปูนมาร์ล ปูนขาว หินปูนบด หินปูนฝุ่น ผสมคลุกเคล้ากับหน้าดินในอัตราที่เหมาะสมตามความต้องการปูนของดิน เพื่อช่วยลดความเป็นกรดในดิน หรือใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นวิธีการที่สมบูรณ์ที่สุดและใช้ได้ผลมากในพื้นที่ซึ่งดินเป็นกรดรุนแรงมากและถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นเวลานาน

2.ดินอินทรีย์...

ดินอินทรีย์ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ดินพรุ” หมายถึง ดินที่เกิดจากการสะสมเศษซากอินทรีย์ ที่เกิดจากการสลายตัวเน่าเปื่อยของพืชพรรณไม้ตามธรรมชาติ ที่ขึ้นอยู่ในแอ่งที่ลุ่มต่ำมีน้ำแช่ขังเป็นเวลานาน จนเกิดการสะสมเป็นชั้นดินอินทรีย์ที่หนากว่า 40 ซม

ดินอินทรีย์ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลง บริเวณชายฝั่งทะเลที่เคยมีน้ำขึ้นลงท่วมถึง จนเกิดเป็นแอ่งต่ำปิด ที่น้ำทะเลไม่สามารถเข้าถึงได้อีก เนื่องจากมีสันทรายปิดกั้นไว้ ต่อมานานวันเข้าน้ำทะเลที่แช่ขังอยู่จึงค่อยๆ จืดลงและมีพืชพวกหญ้าหรือกกงอกขึ้นมา เมื่อพืชเหล่านี้ตายทับถมกันจนพื้นที่ตื้นเขินขึ้น ต้นไม้เล็กใหญ่จึงขึ้นมาแทนที่ เกิดเป็นป่าชนิดที่เรียกว่า “ป่าพรุ” ต่อมาต้นไม้ใหญ่น้อยล้มตายลงตามอายุทับถมลงในแอ่งน้ำขัง ที่อัตราการย่อยสลายของเศษซากพืชเกิดขึ้นได้อย่างช้าๆ จึงเกิดการทับถมอินทรียสารเกิดเป็นชั้นดินอินทรีย์ที่หนาขึ้นเรื่อยๆ

ลักษณะของดินอินทรีย์

สีดินเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มหรือน้ำตาลแดงคล้ำ องค์ประกอบของดินส่วนใหญ่เป็นอินทรียวัตถุทั้งที่ย่อยสลายแล้ว และบางส่วนที่ยังคงสภาพเป็นเศษชิ้นส่วนของพืช เช่น กิ่ง ก้าน ลำต้น หรือราก ที่มีการสะสมเป็นชั้นหนามากกว่า 40 ซม. ขึ้นไป ดินตอนล่างถัดจากชั้นดินอินทรีย์ลงไป จะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงินซึ่งเป็นตะกอนน้ำทะเล ซึ่งบางแห่งอาจมีการสะสมสารประกอบกำมะถันที่จะเกิดเป็นดินเปรี้ยวจัด เมื่อมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่จนดินอยู่ในสภาพที่แห้งด้วย

ปัญหาของดินอินทรีย์

เป็นดินที่มีชิ้นส่วนของพืชเป็นองค์ประกอบมาก พื้นที่มักจะี่มีน้ำขัง หากระบายน้ำออกจนแห้ง ดินจะยุบตัวมาก มีน้ำหนักเบา ติดไฟง่าย และต้นพืชที่ปลูกไม่สามารถตั้งตรงอยู่ได้ นอกจากนี้ในบริเวณที่มีดินที่มีศักยภาพเป็นดินเปรี้ยวจัดอยู่ตอนล่าง หลังจากมีการระบายน้ำออก ดินจะกลายเป็นดินกรดจัดรุนแรงด้วย

การปรับปรุงแก้ไข

เลือกพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจืดบริเวณขอบพรุ และมีชั้นวัสดุอินทรีย์หนาน้อยกว่า 100 ซม.จากผิวดิน

มีแนวป้องกันน้ำท่วมร่วมกับคลองระบายน้ำ และคลองส่งน้ำในระบบ ที่สามารถป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมได้ เพื่อใช้ปลูกข้าว โดยเลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ที่ทนต่อสภาพความเป็นกรดของดิน

ในบริเวณที่ปลูกพืชไร่ ควรมีแนวป้องกันน้ำท่วม และคูระบายน้ำ มีการควบคุมระดับใต้ดินให้คงที่ เพื่อป้องกันการเกิดกรดของดินเพิ่มขึ้น หากดินเป็นกรดจัดมาก ปรับสภาพความเป็นกรดในดิน และเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหาร โดยไถคลุกเคล้าวัสดุปูน หินปูนฝุ่นอัตรา 2.5-3.0 ตัน/ไร่ ให้ทั่วบนสันร่อง และหว่านในร่องคูน้ำ

3.ดินเค็ม

ดินเค็ม หมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในสารละลายดินมากเกินไป จนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืช เนื่องจากทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำ และมีการสะสมไอออนที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืชด้วย

ดินเค็มที่พบในประเทศไทย สามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดและสัณฐานภูมิประเทศ ได้ 2 ประเภท คือ

1.ดินเค็มชายฝั่งทะเล

มักพบบริเวณตามแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมถึง หรือเคยเป็นพื้นที่ๆมีน้ำทะเลท่วมมาก่อน โดยพบมากที่สุดตามแนวฝั่งชายทะเลในภาคใต้ เกิดจากการได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล และทำให้เกิดการสะสมเกลือในดิน

2.ดินเค็มบก พบบริเวณในแอ่งที่ลุ่มหรือตามเชิงเนิน ที่เป็นพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างสภาพพื้นที่แบบลูกคลื่น โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่บริเวณขอบเขตแอ่งโคราช หรือที่แอ่งสกลนคร และพบบ้างในภาคกลางแถบจังหวัดเพชรบุรี

ปัญหาของดินเค็ม

ปลูกพืชไม่ได้ผลหรือผลผลิตลดลงและมีคุณภาพต่ำ เนื่องจากมีปริมาณเกลือที่ละลายได้ในน้ำมากเกินไป จนเป็นอันตรายต่อพืช พืชเกิดอาการขาดน้ำ และได้รับพิษจากธาตุที่เป็นส่วนประกอบของเกลือที่ละลายออกมา

การปรับปรุงแก้ไข

1. การจัดการดินเค็มชายทะเล อาจทำได้ 2 ลักษณะใหญ่ คือ การจัดการให้เหมาะกับสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น การปลูกป่าชายเลน การทำนาเกลือ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการดัดแปลงสภาพธรรมชาติ เช่น การสร้างเขื่อนปิดกั้นน้ำทะเล เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ปลูกถาวร และการยกเป็นร่องสวนเพื่อปลูกไม้ทนเค็ม เป็นต้น

2. การจัดการดินเค็มในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยการใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน เช่น การใช้พืชทนเค็ม การไถกลบพืชปุ๋ยสด ปุ๋ยอินทรีย์ หรือใส่วัสดุปรับปรุงดิน เช่น แกลบ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือการปลูกข้าวโดยใช้ต้นกล้าที่อายุมากกว่าปกติ และปักดำด้วยจำนวนต้นมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรมบางอย่างที่ จะมีผลกระทบต่อการที่จะทำให้เกลือแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นได้ เช่น การทำเหมืองเกลือขนาดใหญ่ การตัดไม้ทำลายป่า หรือการสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่มีแหล่งสะสมเกลือ

4.ดินทรายจัด

ดินทรายจัด หมายถึง ดินที่มีเนื้อดินบนเป็นดินทราย หรือดินทรายปนร่วน มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบมากกว่าร้อยละ 85 มีความหนามากกว่า 50 เซนติเมตร

ดินมีการระบายน้ำดีจนถึงดีเกินไป ไม่อุ้มน้ำ ทำให้ดินเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ และเกิดการกร่อนได้ง่าย มักเกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดินที่เป็นตะกอนเนื้อหยาบ หรือตะกอนทรายชายฝั่งทะเล พบได้ทั้งในพื้นที่ลุ่มและพื้นที่ดอน

ดินทรายในพื้นที่ดอน 

พบตามบริเวณหาดทราย สันทรายชายทะเล หรือบริเวณพื้นที่ลาดถึงที่ลาดเชิงเขา เนื้อดินเป็นทรายตลอด มีการระบายน้ำดีมากจนถึงดีมากเกินไป ดินไม่อุ้มน้ำ และเกิดการชะล้างพังทะลายได้ง่ายเนื่องจากอนุภาคดินมีการเกาะตัวกันน้อยมาก ส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง สับปะรด

ดินทรายในพื้นที่ลุ่ม 

มักพบตามที่ลุ่มระหว่างสันหาด หรือเนินทรายชายฝั่งทะเล หรือบริเวณที่ราบที่อยู่ใกล้ภูเขาหินทราย ดินมีการระบายน้ำเลวหรือค่อนข้างเลว ทำให้ดินแฉะหรือมีน้ำขังเป็นระยะเวลาสั้นๆ ได้ หลังจากที่มีฝนตกหนัก บางแห่งใช้ทำนา บางแห่งใช้ปลูกพืชไร่ เช่น อ้อย และปอ บางแห่งเป็นทืทิ้งร้าง หรือเป็นทุ่งหญ้าธรรมชาติ

นอกจากนี้ในบางพื้นที่ บริเวณหาดทรายเก่า หรือบริเวณสันทรายชายทะเล โดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกและภาคใต้ อาจพบดินทรายที่มีชั้นดินดานอินทรีย์ ซึ่งเป็นดินทรายที่มีลักษณะเฉพาะตัวคือ ช่วงชั้นดินตอนบนจะเป็นทรายสีขาว แต่เมื่อขุดลึกลงมา จะพบชั้นทรายสีน้ำตาลปนแดงที่เกิดจากการจับตัวกัน ของสารประกอบพวกเหล็ก และอินทรียวัตถุอัดแน่นเป็นชั้นดานในตอนล่าง ซึ่งในช่วงฤดูแล้งชั้นดานในดินนี้ จะแห้งแข็งมากจนรากพืชไม่อาจชอนไชผ่านไปได้ ส่วนในฤดูฝนดินจะเปียกแฉะ ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ป่าเสม็ด ป่าชายหาด ป่าละเมาะ หรือบางแห่งใช้ปลูกมะพร้าว มะม่วงหิมพานต์

ปัญหาดินทราย

ดินระบายน้ำดีเกินไป อุ้มน้ำได้น้อย มีความสามารถในการจับหรือแลกเปลี่ยนประจุธาตุอาหารต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก มีธาตุอาหารน้อย เกิดการชะล้างพังทลายได้ง่าย

การปรับปรุงแก้ไข

ปรับปรุงบำรุงดินดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยการใช้ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ เช่นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปลูกพชปุ๋ยสดแล้วไถกลบ เพื่อเพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน และปริมาณธาตุอาหารให้เพียงพอแก่ความต้องการของพืช และควรจะต้องมีระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างเหมาะสม

5.ดินตื้น

ดินตี้น หมายถึง ดินที่มีชั้นลูกรัง ก้อนกรวด เศษหิน ปะปนอยู่ในเนื้อดิน หรือมีชั้นหินปูนมาร์ล หรือพบชั้นหินพื้น อยู่ตื้นกว่า 50 เซนติเมตรจากผิวดิน เนื้อดินจะมีปริมาณชิ้นส่วนหยาบ กรวด หรือลูกรังปนอยู่ มากกว่าร้อยละ 35 ทำให้มีปริมาตรของดินน้อย ดินจึงอุ้มน้ำได้น้อย มักขาดแคลนน้ำในฤดูฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และให้ผลผลิตต่ำ

แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

1) ดินตื้นที่มีการระบายน้ำเลว พบในบริเวณที่ราบต่ำที่มีน้ำขังในช่วงฤดูฝน แสดงว่าดินมีการระบายน้ำค่อนข้างเลว ขุดลงไปจากผิวดินที่ระดับความลึก 25-50 เซนติเมตร มีกรวดหรือลูกรังปนอยู่ในเนื้อดินมากกว่า 35 เปอร์เซ็นโดยปริมาตร ถ้าขุดลึกลงมาถัดไปจะเป็นชั้นดินที่มีศิลาแลงอ่อนปนทับอยู่บนชั้นหินผุ

2) ดินตื้นปนลูกรังหรือกรวดที่มีการระบายน้ำดี พบตามพื้นที่ลอนลาดหรือเนินเขา ตั้งแต่บริเวณผิวดินลงไปมีลูกรังหรือหินกรวดมนปะปนอยู่ในดินมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร และดินประเภทนี้บางแห่งก็มีก้อนลูกรังหรือศิลาแดงโผล่กระจัดกระจายทั่วไปที่บริเวณผิวดิน

3) ดินตื้นปนหินมีการระบายน้ำดี พบตามพื้นที่ลอนลาดหรือบริเวณเนินภูเขา ดินประเภทนี้เมื่อขุดลงไปที่ความลึกประมาณ 30- 50 เซนติเมตร จะพบเศษหินแตกชิ้นน้อยใหญ่ปะปนอยู่ในเนื้อดินมากกว่า 35 เปอร์เซ็นโดยปริมาตร บางแห่งพบหินผุหรือหินแข็งปะปนอยู่กับเศษหิน บางแห่งมีก้อนหินและหินโผล่กระจัดกระจายทั่วไปตามหน้าดิน

4) ดินตื้นปนปูนมาร์ล พบตามพื้นที่ลาดถึงพื้นที่ลอนลาด หรือบริเวณที่ลาดเชิงเขา เมื่อขุดลงไปในระดับความลึกที่ 20-50 เซนติเมตร จะพบสารประกอบจำพวกแคลเซียมหรือแมกนิเซียมคาร์บอเนตปนอยู่ ทำให้ดินประเภทนี้จัดว่าเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่มีข้อเสียคือมีปฏิกิริยาเป็นด่าง เป็นข้อจำกัดต่อพืชบางชนิดที่ไวต่อความเป็นด่าง เช่น สัปปะรด

การเกิดดินตี้น

เกิดมาจากวัตถุกำเนิดดิน เช่น หินดินดานเชิงเขา หรือเศษหินเชิงเขา ที่ส่วนใหญ่เป็นพวกหินตะกอนเนื้อหยาบ คือ หินทราย หินกรวดมน แตกกระจัดกระจายร่วงหล่นออกมาทับทมเกะกะอยู่บริเวณเชิงเขา หรือเป็นผลจากกระบวนการทางดินที่ทำให้เกิดการสะสมปูนมาร์ลหรือศิลาแลงในดิน

ปัญหาดินตี้น

ดินตื้นนั้นเป็นดินที่ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกเพราะ มีปริมาณชิ้นส่วนหยาบปนอยู่ในดินมาก ทำให้มีเนื้อดินน้อย มีธาตุอาหารน้อย ไม่อุ้มน้ำ ชั้นล่างของดินชนิดนี้จะแน่นทึบรากพืชชอนไชไปได้ยาก พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้อย่างปกติ

การปรับปรุงแก้ไข

การจัดการดินในพื้นที่เหล่านี้จะต้องกระทำอย่างระมัดระวัง ควรเลือกทำการเกษตรในพื้นที่ที่มีหน้าดินหนามากกว่า 25 ซม. และไม่มีก้อนกรวดหรือลูกรังกระจัดกระจายอยู่ที่ผิวดินมาก ปรับปรุงดินด้วยการไถกลบพืชปุ๋ยสด ร่วมกับการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกอัตรา 2-3 ตัน/ไร่ หรือขุดหลุมปลูกไม้ผลขนาด 75x75x75 ซม. หรือถึงชั้นหินพื้น และปรับปรุงหลุมปลูกด้วยหน้าดิน ที่ไม่มีก้อนกรวดหรือลูกรังร่วมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ใช้ปุ๋ยเคมีตามชนิดพืชที่ปลูก ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์น้ำและผลิตภัณฑ์สารเร่ง พด.3 และพด.7 หรือพัฒนาเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์

ข้อมูลจาก http://oss101.ldd.go.th/web_soils_for_youth/s_problem2.htm


   ####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?