มาทำความรู้จักกับปุ๋ยเคมีกันดีกว่า
ความเป็นมาของปุ๋ยเคมี
1. เมื่อก่อนดินเสื่อมโทรมแก้ไขด้วยการย้ายที่ปลูก
ก่อนนั้น ปุ๋ยที่เกษตรกรรู้จักก็คือ ปุ๋ยคอก เช่น มูลเป็ด มูลไก่ มูลวัว ฯลฯ ซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การเพาะปลูกข้าว พืชไร่ และไม้ผลจะไม่ค่อยมีการใช้ปุ๋ย ทั้งนี้เนื่องจากดินของเรายังมีความอุดมสมบูรณ์สูง เมื่อพบว่าดินเริ่มจะเสื่อม ผลผลิตลดลง ก็จะย้ายที่เพาะปลูกใหม่ โดยการเปิดป่า หักร้างถางพง ทำเช่นนี้ติดต่อกันมาช้านาน
ในระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผืนป่าเหลือให้หักร้างถางพงเพื่อเปิดที่เพาะปลูกใหม่ได้อีกแล้ว การเพาะปลูกพืชจึงถูกจำกัดอยู่กับการปลูกพืชซ้ำที่เดิม ดินก็เริ่มเสื่อมโทรม โดยเฉพาะความอุดมสมบูรณ์หรือปริมาณธาตุอาหารพืชในดินหมดไป ผลผลิตพืชจึงลดลง
2. เริ่มการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ (ปุ๋ยเคมี) ปรับปรุงบำรุงดิน
เกษตรกรรู้จักใช้ปุ๋ยเคมีมานานกว่า 70 ปี ซึ่งตอนนั้นเกษตรกรจะเรียกว่า ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ตัวแรกที่รู้จักกันคือ ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนเป็นหลัก และนำมาใช้กับพืชผักสวนครัวเป็นส่วนใหญ่ ในยุคนั้นเกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์พวกปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักเป็นหลักในการปรับปรุงบำรุงดิน แต่มีความยากลำบากในการหามาใช้ให้เพียงพอกับพื้นที่ที่เพาะปลูกอยู่ จึงต้องหันมาใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยมีพ่อค้านำเข้าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตจากต่างประเทศมาขาย และการใช้ปุ๋ยดังกล่าวก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
3. กระทรวงเกษตรฯ เริ่มส่งเสริมการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในนาข้าว โดยการให้ความรู้กับเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาให้รู้จักใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยศึกษาทดลองกับการปลูกข้าว อีกทั้งยังได้รับความช่วยเหลือด้านการศึกษาและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยกับนาข้าวจากผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริกา ภายใต้องค์กรให้ความช่วยเหลือที่เรียกว่า ยูซ่อม และต่อมาก็เปลี่ยนเป็น ยูเสด ซึ่งได้นำปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟต สูตร 16-20-0 เข้ามาทดลองใช้กับการปลูกข้าว ปรากฎว่าได้ผลดีมาก และดีกว่าการใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ทั้งนี้เนื่องจากปุ๋ย 16-20-0 มีทั้งธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งสอดคล้องกับสภาพการขาดแคลนธาตุอาหารของดินในที่นาของประเทศไทย ซึ่งพบว่าขาดธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ส่วนโพแทสเซี่มในดินนาของไทยมีอยู่แล้วอย่างเพียงพอ เกษตรกรจึงเริ่มรู้จักและตื่นตัวในการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น พ่อค้าก็มองเห็นโอกาสในการเปิดตลาดค้าปุ๋ยวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน จึงมีการนำเข้ามาจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันหลายสิบล้านตันต่อปี
4. เมื่อ “ปุ๋ยวิทยาศาสตร์” เปลี่ยนชื่อเป็น “ปุ๋ยเคมี”
ต่อมามีการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดย “บริษัทปุ๋ยเคมี” เกิดขึ้น ซึ่งผลิตปุ๋ยแอมโมเนียมซับเฟตและยูเรียจากถ่านหินลิกไนต์ที่ลำปาง และให้รัฐบาลทำการผูกขาดการผลิตและการตลาดไว้กับบริษัทปุ๋ยเคมีแต่เพียงผู้เดียว การผูกขาดตลาดปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตและยูเรียมีผลทำให้พ่อค้าหันมาต่อต้าน และหันมานำเข้าปุ๋ยคอมปาวด์สูตร NP และ NPK เช่น 16-20-0 และ 15-15-15 มาจำหน่ายแทน ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตและยูเรีย ในที่สุดบริษัทปุ๋ยเคมีก็ขาดทุน และเลิกกิจการไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกษตรกรรู้ว่า ปุ๋ยวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่หลากหลาย ไม่ใช่มีแต่ปุ๋ย N เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปุ๋ย NP และ NPK สูตรต่างๆ ซึ่งใช้ได้ผลดีกว่า เกษตรกรจึงหันมาใช้ปุ๋ย NP และ NPK เพิ่มมากขึ้นแทนที่จะใช้แต่ปุ๋ย N อย่างเดียว
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ถูกเรียกชื่อว่าปุ๋ยเคมีอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยได้ตรา พ.ร.บ. ปุ๋ย 2518 ขึ้น โดยบัญญัติปุ๋ยประเภทนี้ว่า “ปุ๋ยเคมี” และกำหนดให้กระสอบที่บรรจุปุ๋ยประเภทนี้จะต้องพิมพ์คำว่า “ปุ๋ยเคมี” ไว้ให้เห็นเด่นชัด จังมีการใช้คำว่า “ปุ๋ยเคมี” กันอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านการควบคุมให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ปุ๋ยและในด้านวิชาการ รวมทั้งในตำราดินและปุ๋ยทั้งหลาย ฯลฯ ตั้งแต่นั้นมา
5. แม่ปุ๋ยเคมี เป็นสารประกอบทางเคมี ผลิตจากแร่และอากาศที่มีอยู่ในธรรมชาติ
ปุ๋ยเคมีเป็นสารประกอบทางเคมีเช่นเดียวกับเกลือแกง ซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมี ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ ได้มาจากน้ำทะเลแล้วเอามาทำให้แห้งจนได้ผลึกเกลือแกงที่เรียกว่า “เกลือสมุทร” หรือมาจากแร่พวกหินเกลือที่อยู่ใต้ดินแล้วนำมาแยกเอาสารประกอบโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักออกมา ก็จะได้เกลือแกงที่เราเรียกว่า “เกลือสินเธาว์” ปุ๋ยเคมีที่เรียกว่าปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ก็เช่นเดียวกัน ได้มาจากแร่โพแทชที่อยู่ใต้ดินเช่นเดียวกับแร่หินเกลือ โดยมีสารประกอบโพแทสเซียมคลอไรด์เป็นองค์ประกอบหลัก นำมาแยกเอาโพแทสเซียมคลอไรด์อกมาก็เรียกว่า “ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์” หรือ “มิวริเอตออฟโพแทช” (MOP) จะมีโพแทสเซียม (K2O) ประมาณ 60% มีสูตร 0-0-60
ส่วนปุ๋ยฟอสเฟต ซึ่งให้ธาตุอาหารฟอสฟอรัส เป็นสารประกอบพวกแคลเซียมฟอสเฟต ได้มาจากการที่เอาแร่ที่เรียกว่าหินฟอสเฟตมาบดให้ละเอียดมากๆ แล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยโดยตรงที่เราเรียกว่า “ปุ๋ยหินฟอสเฟต” แต่ปุ๋ยหินฟอสเฟตเมื่อใส่ลงไปในดินจะละลายยากจึงให้ธาตุอาหารฟอสเฟตน้อยมาก เมื่อเอาหินฟอสเฟตมาทำปฏิกิริยากับกรดจะทำให้แคลเซียมฟอสเฟตละลายน้ำได้ง่ายขึ้น จึงเป็นประโยชน์แก่พืชได้มากและเร็ว เรียกปุ๋ยฟอสเฟตประเภทนี้ว่า “ซูเปอร์ฟอสเฟต” ต่อมามีการพัฒนากระบวนการผลิตปุ๋ยฟอสเฟตเพื่อให้ละลายน้ำได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นปุ๋ยแอมโมเนียมฟอสเฟตชนิดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะละลายน้ำง่ายแล้ว ยังให้ธาตุอาหารได้ทั้งฟอสฟอรัสและไนโตรเจน
สำหรับปุ๋ยไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต และยูเรีย ธาตุไนโตรเจนในปุ๋ยเหล่านี้จะได้มาจากก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาทำปฎิกิริยากับก๊าซไฮโดรเจน ได้ก๊าซแอมโมเนีย จากนั้นก็นำไปผลิตเป็นสารประกอบแอมโมเนียมซัลเฟตและยูเรียเป็นปุ๋ยไนโตรเจนต่อไป
6. จากแม่ปุ๋ยไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม นำมาผสมเป็นปุ๋ยสูตรต่างๆ
ปุ๋ยเคมีที่ได้จากกระบวนการผลิตดังกล่าวเรียกว่า “แม่ปุ๋ย” สามารถนำมาใช้เป็นปุ๋ยใส่ลงในดินให้ธาตุไนโตรเจน ฟอสเฟต และโพแทสเซียมแก่พืชได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะนำมาผสมกันเป็นปุ๋ยผสมสูตรต่างๆ เพื่อให้มีทั้งธาตุ NP และ NPK อยู่ร่วมกันในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสมกับดินและพืชที่ปลูก
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ปุ๋ยเคมีก็เป็นสารประกอบทางเคมีที่เรารู้จักคุ้นเคยในการใช้ประโยชน์เป็นอาหารและยารักษาโรคในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ซึ่งไม่มีส่วนไหนเลยที่จะเป็นสารพิษและเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ทุกครั้งที่มีการปลูกพืชและเก็บเกี่ยวผลผลิตขายออกไปจากไร่นา ธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิตจะไม่มีโอกาสกลับคืนสู่ไร่นาอีก จึงสูญเสียไปจากดินอย่างถาวร ส่วนธาตุอาหารที่อยู่ในต้น ราก และใบจะมีโอกาสกลับคืนมาสู่ดินได้อีกในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก จึงเห็นได้ว่าเป็นการส่งคืนธาตุอาหารกลับสู่ดินเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นจากทั้งหมดที่พืชดูดดึงขึ้นไปจากดิน
จะเห็นได้ว่า ถ้าไม่ต้องการให้ดินขาดดุลธาตุอาหารจำเป็นจะต้องคืนทุกส่วนของพืชที่เป็นต้น ราก และใบ ทั้งหมดกลับสู่ดินในรูปของปุ๋ยอินทรีย์ และจะต้องชดเชยส่วนของธาตุอาหารที่ติดไปกับผลผลิตกลับคืนให้ครบถ้วนด้วย การใส่ปุ๋ยเคมีให้กับดินเพื่อให้เพียงพอสำหรับการปลูกพืชในครั้งต่อไปจึงเป็นหลักการจัดการปรับปรุงบำรุงดินที่ถูกต้องและยั่งยืน
ดังนั้นคำแนะนำที่ถูกต้องก็คือ เกษตรกรควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงบำรุงดินให้มากและติดต่อกันยาวนานเท่าที่จะทำได้ เพราะนอกจากจะได้ธาตุอาหารคืนมาบางส่วนแล้วยังทำให้สภาพทางกายภาพและทางเคมีของดินดีขึ้นเรื่อยๆ และพร้อมกันนั้นต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพื่อชดเชยส่วนของธาตุอาหารที่สูญเสียไปอย่างถาวรกับผลผลิตที่ขายออกไป และในที่สุดการใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ดังกล่าวจะทำให้ปุ๋ยเคมีที่ใช้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยลงแต่ยังคงได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่เหมือนเดิม
ข้อมูลจาก http://www.vigotech.in.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=539805118&Ntype=8
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น