N-P-K ธาตุอาหารหลักที่มักขาดแคลน

ในบรรดาธาตุอาหารจำนวน 17 ธาตุที่พืชต้องการเพื่อดำรงชีวิตนั้น ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส(P) และ โพแทสเซียม (K) จัดเป็นธาตุอาหารหลัก เนื่องจาก 

1) พืชต้องการในปริมาณมาก จึงจะเพียงพอต่อการเจริญเติบโต และ 2) ดินที่ใช้ในการเกษตรโดยทั่วไปมักขาดแคลนธาตุหลัก ธาตุใดธาตุหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งธาตุเสมอ เกษตรกรจึงต้องใช้ปุ๋ยในปริมาณและสัดส่วนของธาตุทั้งสามที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้พืชได้รับอย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูกาลผลิต

ความสำคัญของธาตุอาหารหลักต่อการเจริญเติบโตของพืช

การอธิบายบทบาทของธาตุอาหารหลัก คือไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมต่อการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของพืชในอดีต ผู้อธิบายมักกล่าวอย่างง่ายๆว่า “ไนโตรเจนสร้างใบ ฟอสฟอรัสสร้างดอกและโพแทสเซียมสร้างผล” เพื่อสื่อว่าการเจริญเติบโตของพืชช่วงใด ควรเพิ่มธาตุใดให้แก่พืช

ในปัจจุบันการอธิบายบทบาทของธาตุอาหาร จะกล่าวถึงเรื่องราวต่อไปนี้ คือ

(1) บทบาทของธาตุนั้นๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวเคมีของเซลล์พืช

(2) บอกให้เข้าใจว่าพืชต้องการธาตุอาหารทุกธาตุ แต่ละธาตุเพียงพอและสมดุลกัน อย่างเหมาะสมกับแต่ละระยะการเจริญเติบโตของพืช

(3) ส่วนการใส่ปุ๋ยก็เป็นการใส่เพื่อให้ธาตุที่ดินมีไม่เพียงพอ สำหรับการเจริญเติบโตในแต่ละระยะ

การกล่าวถึงบทบาทของธาตุหลักอย่างย่อๆในบทนี้ เพื่อเกริ่นนำไว้ก่อน ส่วนรายละเอียดจะได้อธิบายอีกครั้งหนึ่งในเรื่องที่ว่าด้วยธาตุนั้นๆโดยเฉพาะ

1) ไนโตรเจน: เป็นองค์ประกอบในสารประกอบต่อไปนี้

(1) โปรตีน (โครงสร้างเซลล์ เอนไซม์ เยื่อหุ้มเซลล์ พาหะสำหรับการดูดน้ำและธาตุอาหาร

(2) สารดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรม และสารอาร์เอ็นเอ (RNA) ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรตีน

(3) ฮอร์โมนพืช คือ ออกซินและไซโทไคนิน และ (ง) สารอินทรีย์ไนโตรเจนในพืชอีกมากมายหลายชนิด

2) ฟอสฟอรัส: เป็นองค์ประกอบในสารประกอบต่อไปนี้

(1) กรดนิวคลีอิก ซึ่งมีสองอย่างคือ DNA เป็นสารพันธุกรรมและควบคุมการแบ่งเซลล์ กับ RNA ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนและเอนไซม์

(2) ฟอสโฟลิพิด ในโครงสร้างเยื่อของเซลล์ทุกชนิด

(3) สาร ATP เป็นแหล่งพลังงานสำหรับกระบวนการต่างๆในเซลล์ และ

(4) โคเอนไซม์ (coenzyme) ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของเอนไซม์ต่าง

3. โพแทสเซียม: ธาตุนี้มิได้เป็นองค์ประกอบของสารอินทรีย์ใดๆ แต่มีบทบาทสำคัญ คือ

(1) ช่วยในการขยายขนาดของเซลล์ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตทั้งด้านขนาดและความสูง

(2) ช่วยในการสังเคราะห์แสง เพื่อสร้างน้ำตาลและแป้ง

(3) ขนส่งน้ำตาล สารอาหารและธาตุอาหารต่างๆทางท่อลำเลียงอาหาร ไปเลี้ยงยอดอ่อน ดอก ผล และราก

(4) ช่วยรักษาสมดุลของประจุไฟฟ้าในเซลล์ เพื่อให้มีสภาพเหมาะกับกิจกรรมต่างๆ

(5) เร่งการทำงานของเอนไซม์ประมาณ 60 ชนิด และ

(6) ช่วยให้พืชแข็งแรงและมีภูมิทานโรคพืชหลายชนิด  

3. ปัญหาความขาดแคลนของธาตุหลักไนด

1) ไนโตรเจน: ประมาณ 80% ของไนโตรเจนในดินเป็นองค์ประกอบของอินทรียวัตถุ ดังนั้นอินทรียวัตถุจึงเป็นแหล่งสำคัญของธาตุนี้ แต่ดินที่ใช้เพาะปลูกมักมีอินทรียวัตถุน้อย (ต่ำกว่า 1%) และการปลดปล่อยไนโตรเจนจากอินทรียวัตถุค่อนข้างช้า ดังนั้นปริมาณของธาตุนี้ที่พืชได้รับจากดินจึงไม่ค่อยเพียงพอ

2) ฟอสฟอรัส: พืชมักจะขาดฟอสฟอรัส เนื่องจาก

(1) สารประกอบของฟอสฟอรัสในดินทั้งประเภทสารอินทรีย์ และสารอนินทรีย์ ส่วนใหญ่ละลายน้ำยาก จึงไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ต่อพืช สำหรับฟอสเฟตไอออนรูปที่ดูดไปใช้ประโยชน์ คือ H2PO-4 และ HPO4-2 ก็มีอยู่ในสารละลายดินเพียงเล็กน้อย

(2) ดินมีการตรึงฟอสฟอรัสรูปที่เป็นประโยชน์ไว้อย่างแข็งแรง ทำให้พืชดูดมาใช้ยาก พืชจึงได้รับธาตุนี้จากปุ๋ยที่ใส่น้อยกว่าความคาดหมาย 

3) โพแทสเซียม: เป็นอีกธาตุหนึ่งที่พืชมักจะขาดแคลน เนื่องจาก

(1) ส่วนใหญ่เป็นองค์ประกอบของแร่ ซึ่งไม่ละลายน้ำ

(2) โพแทสเซียมในดินที่ละลายง่ายมักมีน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช

(3) โพแทสเซียมไอออนในสารละลายของดิน ซึ่งพืชใช้ประโยชน์ได้ มักถูกน้ำชะล้างออกไปจากดิน

4.  การใช้ปุ๋ยทางดิน

ปุ๋ยที่ใช้ทางดินมีทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ซึ่งผลการใช้เป็นดังนี้

1) ปุ๋ยอินทรีย์: มีความสำคัญ คือ

(1) ช่วยปรับปรุงสมบัติทางเคมี ฟิสิกส์ และชีวภาพของดินให้เหมาะแก่การเจริญของราก  

(2) ให้ธาตุอาหารหลายธาตุ แต่ละธาตุมีปริมาณค่อนข้างต่ำ เช่น ปุ๋ยคอกโดยทั่วไปมีไนโตรเจน 1-2% ฟอสฟอรัส 0.6-0.8% และโพแทสเซียม 1.2-2.0% เท่านั้น การใส่อัตราต่ำ จึงให้ธาตุอาหารหลักน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินที่มีโพแทสเซียมที่เป็นประโยขน์ต่ำอยู่แล้ว

2) ปุ๋ยเคมี:

(1) สมบัติของปุ๋ยเคมี: เนื่องจากปุ๋ยนี้ผลิตโดยกระบวนการทางเคมี ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้

ก) ประกอบด้วยธาตุอาหารบางธาตุตามที่ระบุไว้ในสูตรปุ๋ย

ข) มีสัดส่วนของธาตุที่เป็นองค์ประกอบแตกต่างกันตามชนิดของปุ๋ย

ค) เป็นสารประกอบที่ละลายง่าย รูปที่เป็นประโยชน์ของธาตุนั้นๆมีความเข้มข้นสู

(2) การใช้ให้มีประสิทธิภาพสูง: การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพ ต้องยึดหลัก 4 ประการ (4R, Right)คือ

ก) ใส่ปุ๋ยซึ่งมีธาตุอาหารตรงกับที่ดินขาดแคลน (right kind)

ข) ใช้อัตราพอเหมาะ (right rate)

ค) ใช้ให้สอดคล้องกับช่วงการเจริญเติบโตของพืช (right time)

 ง) ใส่ในบริเวณที่พืชดูดไปใช้ได้เต็มที่ (right place)

(3) เหตุที่การใช้ปุ๋ยเคมีไม่ให้ผลตามเป้าหมาย: สาเหตุสำคัญที่ทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีทางดินได้ผลต่ำกว่าความคาดหมาย มี 2 ประการ คือ

ก) ไม่ได้ทำตามหลัก 4 ข้อข้างต้น เกษตรกรจึงขาดความมั่นใจว่า ได้ใส่ปุ๋ยซึ่งมีธาตุอาหารตรงกับที่ดินขาดแคลน และใช้อัตราพอเหมาะหรือไม่ เพราะส่วนมากมิได้วิเคราะห์ดิน เพื่อประเมินระดับของธาตุหลักที่เป็นประโยชน์มาก่อน และ

ข) ประสิทธิภาพตามธรรมชาติของการใช้ปุ๋ยเคมีทางดินที่ให้ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม สำหรับพืชไร่ทั่วไปในแต่ละฤดูปลูก มีค่าประมาณ 50, 25 และ 50% ตามลำดับ หากคาดหมายว่าปุ๋ยธาตุอาหารหลักที่ใส่ทางดินไม่เพียงพอ หรือไม่สมดุลตามความต้องการของพืช ก็ควรเสริมด้วยการใช้ปุ๋ยทางใบ 

5. การใช้ปุ๋ยทางใบ

การใช้ปุ๋ยทางใบมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

1) ป้องกันการขาดธาตุอาหารบางธาตุ  เนื่องจากพืชได้รับจากดินและปุ๋ยที่ใส่ทางดินไม่เพียงพอในบางช่วงของการเจริญเติบโต

2) เน้นการเพิ่มธาตุอาหารบางธาตุในช่วงวิกฤติ เช่น ช่วงที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงมาก ใกล้ออกดอก หรือกำลังพัฒนาผล ซึ่งการขาดธาตุอาหารในช่วงดังกล่าว จะทำให้ผลผลิตลดลงอย่างมาก และ

3) ใช้แก้ปัญหาการขาดธาตุอาหาร ที่ต้องการผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง

อย่างไรก็ตามการใช้ปุ๋ยทางใบให้เกิดผลดี นอกจากจะเลือกชนิดปุ๋ยที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องใช้ในอัตราที่แนะนำ ร่วมกับสารเสริมประสิทธิภาพที่ดี และฉีดพ่นอย่างถูกวิธี ในช่วงการเจริญเติบโตที่คาดว่าพืชต้องใช้ธาตุเหล่านั้นปริมาณมาก

ข้อมูลจาก https://soilmate.co.th/news/detail/35

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 




                                    


 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ