ดิน หิน และแร่
ดิน
ดินเกิดจากอะไร....??
ดิน เกิดจากวัตถุตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากผลของการผุพังสลายตัวของหินและแร่ ต่างๆ ผสมคลุกเคล้ารวมกับอินทรียวัตถุหรืออินทรียสารที่ได้มาจากการสลายตัวของเศษซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อยจากการกระทำของจุลินทรีย์ให้มีขนาดเล็กมาก คลุกเคล้ากัน ทับถมอัดตัวจนเป็นเนื้อเดียวกัน มีลักษณะร่วนไม่เกาะกันแข็งเป็นหิน เกิดขึ้นปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวในการเจริญเติบโตของพืช มีน้ำและอากาศเป็นส่วนประกอบพอประมาณ
คุณภาพของดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูกขึ้นอยู่กับคุณภาพของหินและแร่ต้นกำเนิด รวมทั้งสารอินทรีย์ ซึ่งเรียกว่า "ฮิวมัส" (ฮิวมัส คือ ซากพืช ซากสัตว์ที่ย่อยโดยการกระทำของจุลินทรีย์แล้วทับถมกลายเป็นดิน จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ ประกอบด้วยธาตุอาหารที่จำเป็นของพืช) ที่ปะปนอยู่ ดินที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชโดยทั่วไป ประกอบด้วยหินและแร่ธาตุ 45% อากาศ 25% น้ำ 25% และสารอินทรีย์ 5% (ดังรูปคลิก)
จากแผนภูมิแสดงองค์ประกอบของดินจะพบว่า
1.อนินทรียวัตถุหรือแร่ธาตุต่างๆ มีมากที่สุด ที่เกิดจากการสลายตัวของหินและแร่ธาตุต่างๆเป็นแหล่งกำเนิดธาตุอาหารของพืชและแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในดิน
2.อินทรียวัตถุมีน้อยที่สุด ที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยผุผังจากจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสลาย เรียกว่า "ฮิวมัส" เป็นแหล่งอาหารของพืชและช่วยทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
3.อากาศพบในดินโดยจะแทรกซึมในส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างเม็ดดิน ทำให้ดินเกิดความพรุนและร่วนซุย ก๊าซที่พบโดยทั่วไปในดิน คือ ก๊าซไนโตรเจน (N2) ออกซิเจน (O2) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ซึ่งรากพืชและจุลินทรีย์ดินใช้ในการหายใจ และสร้างพลังงานในการดำรงชีวิต
4.น้ำพบปริมาณเท่าๆกันกับอากาศ แทรกซึมในส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างเม็ดดินในส่วนที่ไม่มีอากาศ เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงมาบนผิวดิน น้ำยังทำให้ดินเกิดความชุ่มชื้นและอ่อนนุ่ม และช่วยละลายแร่ธาตุให้พืชสามารถดูดซึมได้
ชั้นของดิน
ดินทุกชนิดประกอบไปด้วยหน้าดินเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นจะแตกต่างกันที่ สี ผิวพื้น โครงสร้าง ความพรุนและปฏิกิริยาของดิน ชั้นดินสมบูรณ์มี 5 ชั้น คือ ชั้น O ชั้น A ชั้น B ชั้น C และชั้น R ดังรูป
ชั้นของอินทรียวัตถุ
คือชั้น O จะอยู่ตอนบนสุดของรูปด้านข้างของดิน โดยจะประกอบด้วยอินทรียวัตถุเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ดินชั้นนี้มีสีค่อยข้างดำ ประกอบด้วยซากพืชและซากสัตว์ ทั้งที่ผุพังไปแล้วและยังไม่ผุพัง ดินโดยทั่วไปจะมีชั้นนี้บางมาก
ชั้นดิน A
เป็นชั้นดินแร่ธาตุที่อยู่บนสุดของรูปด้านข้าง มีอินทรีย์ผสมคลุกเคล้าอยู่มากกว่าชั้นดินอื่น ชั้นดิน O และชั้น A รวมเรียกว่า ดินชั้นบน
ชั้นดิน B
เป็นดินชั้นล่างที่สะสมส่วนที่ถูกชะล้างมาจากชั้นดิน A และมักจะมีความหนามากกว่าชั้นอื่นๆ
ชั้นดิน C
เป็นชั้นของวัตถุต้นกำเนิดดิน ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่สลายตัวแตกหักผุกร่อนของหินและแร่
ชั้นหิน R
เป็นชั้นหินแข็งที่อยู่ใต้ชั้นดิน C
ประเภทและสมบัติของดินที่เหมาะสมกับการปลูกพืช แบ่งตามเกณฑ์ ดังนี้
เนื้อของดิน
1.ดินเหนียวเป็นดินที่มีเนื้อละเอียด มีดินเหนียวอยู่ประมาณร้อยละ 40 ขึ้นไป ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำได้และซึมผ่านได้ยาก มีช่องว่างในเนื้อดินน้อย ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกบัว เพราะเก็บน้ำได้นาน
2.ดินร่วนเป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก เช่น มะม่วง เข็ม สัก ไผ่ เป็นต้น
3.ดินทรายเป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวมๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวมๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที
ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งธาตุอาหารและน้ำ
ให้นักเรียนดูการทดลองเกี่ยวกับการอุ้มน้ำของดิน ดังวีดีโอด้านล่างประกอบนะครับ
สีของดิน
1.ดินสีดำ มีฮิวมัสเป็นส่วนประกอบสูง จึงเหมาะแก่การปลูกพืช
2.ดินสีเหลืองปนน้ำตาล มีฟอสฟอรัสออกไซด์เป็นส่วนประกอบสูง
3.ดินสีน้ำเงิน มีเหล็กเป็นส่วนประกอบสูง
ความเป็นกรดและเบส
ค่าพีเอชของดิน จะบอกเป็นค่าตัวเลขตั้งแต่ 1 ถึง 14
- ถ้าดินมีค่าพีเอชน้อยกว่า 7 แสดงว่าดินนั้นเป็นดินกรดยิ่งมีค่าน้อยกว่า 7 มาก ก็จะเป็นกรดมาก
- แต่ถ้าดินมีพีเอชมากกว่า 7 จะเป็นดินด่าง
- ส่วนดินที่มีพีเอชเท่ากับ 7 พอดีแสดงว่าดินเป็นกลาง
1.ดินเปรี้ยวคือดินที่มีความเป็นกรดมาก เนื่องจากมีการเน่าเปื่อยของสารอินทรีย์ในดินมาก หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์บางชนิดมากเกินไป แก้ไขได้โดยการเติมปูนขาวหรือดินมาร์ล (ดินมาร์ลคือดินที่เกิดจากการสลายตัวของหินปูน)
2.ดินเค็มคือ ดินที่มีความเป็นเบสสูง เนื่องจากเป็นดินที่มีหินปูนเป็นองค์ประกอบสูง แก้ไขได้โดย เติมผงกำมะถันหรือแอมโมเนียมซัลเฟต
ประโยชน์ของดิน
ดินมีประโยชน์มากมายมหาศาลต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ
1.ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรมเพราะดินเป็นต้นกำเนิดของการเกษตรกรรมเป็นแหล่งผลิตอาหารของมนุษย์ ในดินจะมีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารรวมทั้งน้ำที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช อาหารที่คนเราบริโภคในทุกวันนี้มาจากการเกษตรกรรมถึง 90%
2.การเลี้ยงสัตว์ดินเป็นแหล่งอาหารสัตว์ทั้งพวกพืชและหญ้าที่ขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด เช่น งู แมลง นาก ฯลฯ
3.เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยแผ่นดินเป็นที่ตั้งของเมือง บ้านเรือน ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมของชุมชนต่าง ๆ มากมาย
4.เป็นแหล่งเก็บกักน้ำเนื้อดินจะมีส่วนประกอบสำคัญ ๆ คือ ส่วนที่เป็นของแข็ง ได้แก่ กรวด ทราย ตะกอน และส่วนที่เป็นของเหลว คือ น้ำซึ่งอยู่ในรูปของความชื้นในดินซึ่งถ้ามีอยู่มาก ๆ ก็จะกลายเป็นน้ำซึมอยู่คือน้ำใต้ดิน น้ำเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมลงที่ต่ำ เช่น แม่น้ำลำคลองทำให้เรามีน้ำใช้ได้ตลอดปี
ปัญหาทรัพยากรดิน
ดินส่วนใหญ่ถูกทำลายให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หรือตัวเนื้อดินไปเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ และการสูญเสียตามธรรมชาติทำให้เราไม่อาจใช้ประโยชน์จากดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสูญเสียดินเกิดได้จากสิ่งต่อไปนี้
1.การกัดเซาะและพังทลายโดยน้ำน้ำจำนวนมากที่กระทบผิวดินโดยตรงจะกัดเซาะผิวดิน ให้หลุดลอยไปตามน้ำ การสูญเสียบริเวณผิวดินจะเป็นพื้นที่กว้าง หรือถูกกัดเซาะเป็นร่องเล็ก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความแรง และบริเวณของน้ำที่ไหลบ่าลงมาก
2.การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่าถางป่าทำให้หน้าดินเปิด และถูกชะล้างได้ง่ายโดยน้ำและลมเมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ชะล้างเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปกับน้ำ ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลง
3.การเพาะปลูกและเตรียมดินอย่างไม่ถูกวิธีการเตรียมที่ดินทำการเพาะปลูกนั้นถ้าไม่ถูกวิธีก็จะก่อความเสียหายกับดินได้มากตัวอย่างเช่น การไถพรวนขณะดินแห้งทำให้หน้าดินที่สมบูรณ์หลุดลอยไปกับลมได้ หรือการปลูกพืชบางชนิดจะทำให้ดินเสื่อมเร็ว การเผาป่าไม้ หรือตอข้าวในนา จะทำให้ฮิวมัสในดินเสื่อมสลายเกิดผลเสียกับดินมาก
การอนุรักษ์ดิน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพังทลายหรือการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินนั้น จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงดินเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ตะกอนดินที่ถูกชะล้างทำให้แม่น้ำและปากแม่น้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกใช้เงินเป็นจำนวนมาก เราจึงควรป้องกันไม่ให้ดินพังทลายหรือเสื่อมโทรมซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการอนุรักษ์ดิน ดังนี้
1.การใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสมการปลูกพืชควรต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน การปลูกพืชและการไถพรวนตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ควรจะสงวนรักษาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้ในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการเพาะปลูกมีอยู่จำนวนน้อย
2.การปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินเช่น การใส่ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก การปลูกพืชตระกูลถั่ว การใส่ปูนขาวในดินที่เป็นกรด การแก้ไขพื้นที่ดินเค็มด้วยการระบายน้ำเข้าที่ดิน เป็นต้น
3.การป้องกันการเสื่อมโทรมของดินได้แก่ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชบังลม การไถพรวนตามแนวระดับ การทำคันดินป้องกันการไหลชะล้างหน้าดิน รวมทั้งการไม่เผาป่าหรือการทำไร่เลื่อนลอย
4.การให้ความชุ่มชื้นแก่ดินการระบายน้ำในดินที่มีน้ำขังออกการจัดส่งเข้าสู่ที่ดินและการใช้วัสดุ เช่น หญ้าหรือฟางคลุมหน้าดินจะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์
หิน
หิน คือ อะไร...???
หิน เป็นวัตถุต้นกำเนิดของดินและทราย ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุมากมายหลายชนิด เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยสามารถจำแนกได้ 3 ประเภท คือ หินอัคนี หินตะกอน หินแปร
แล้วหินล่ะ เกิดขึ้นได้อย่างไร...???
ถ้านักเรียนดูวีดีโอด้านซ้ายมือ จะเห็นว่า หินเป็นวัฏจักรที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากหินอัคนี เกิดจากแมกมา (หินร้อนเหลว) ใต้พื้นโลกขึ้นมาเย็นตัวเป็นหินแข็ง หินตะกอน เกิดจากการทับถมของตะกอนที่เกิดจากการผุพังของหิน อัดแน่นและทับถมเป็นเวลานานๆ จับตัวกันเป็นหินแข็ง หินแปร เกิดจากหินอัคนี หินตะกอน หรือหินแปร ถูกเปลี่ยนสภาพจากเดิมด้วยความร้อนและแรงดกดันสูง ทำให้กลายเป็นหินแข็งในที่สุด ทั้งที่การเคลื่อนตัวของเปลือกโลก การระเบิดของภูเขาไฟและธรรมชาติจะทำให้หินที่อยู่บนผิวโลกแตกตัวเล็กลง หมุนเวียนไปจึงทำให้เกิดวัฎจักรของหินนั้นเอง
ประเภทของหิน
นักธรณีวิทยาได้จำแนกหินแต่ละชนิดโดยใช้ลักษณะการเกิดของหิน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ หินอัคนี หินตะกอน และหินแปร
1.หินอัคนีเกิดจากการเย็นตัวและแข็งตัวของแมกมา จนกลายเป็นหิน เกิดได้ใน 2 ลักษณะ ดังนี้
-การเกิดหินอัคนีที่เย็นตัวใต้เปลือกโลกเกิดจากแมกมาดันตัวขึ้นมาอยู่บริเวณใต้เปลือกโลก ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ แมกมาจะเย็นตัวลงอย่างช้าๆ ทำให้หินมีเนื้อหยาบและแน่นแข็ง เพราะมีแร่หลายชนิดเป็นส่วนประกอบอยู่ในเนื้อหิน เช่น หินแกรนิต หินไดออไรต์ หินแกบโบร
-การเกิดหินอัคนีที่แข็งตัวบนเปลือกโลกเกิดจากการปะทุของภูเขาไฟ ทำให้แมกมาพุ่งขึ้นมาอยู่บนผิวโลก เรียกว่า ลาวา เมื่อลาวาเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้เนื้อหินเป็นรูพรุน เช่น หินพัมมิซ บางชนิดมีเนื้อหินละเอียด เช่น หินออบซิเดียน ส่วนลาวาที่ไหลหลากมาตามรอยแตกของพื้นดินจะเกิดการตกผลึกและเย็นตัวที่เปลือกโลกกลายเป็นหิน เช่น หินไรไอโอไลต์ หินบะซอลต์ เป็นต้น
หินอัคนีที่น่าสนใจ มีดังนี้ครับ
1.หินแกรนิตเนื้อหินเป็นผลึกแวววาว แข็งและทนทาน ใช้ในงานก่อสร้างโดยตัดเป็นแผ่นบาง ประกอบฝาบ้าน ปูพื้น ใช้ทำโม่ ครก และเครื่องใช้แกะสลัก สร้างอนุเสาวรีย์ พบที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี นราธิวาส
2.หินบะซอลต์ สีเข้มเนื้อหินแน่นละเอียด มีรูพรุน ทนทานต่อการผุพัง ทนต่อกรด-เบส และน้ำยาเคมีต่างๆ ใช้ในการก่อสร้าง พบที่ จังหวัดลำปาง ลพบุรี บุรีรัมย์ จันทบุรี กาญจนบุรี
3.หินออบซิเดียน เนื้อเป็นแก้วสีดำ เรียบมันวาว เมื่อแตกออกรอยแตกจะคมเหมือนแก้วแตก หาได้ยากในประเทศไทย
4.หินสคอเรีย เนื้อหินสากเหมือนกระดาษทราย ค่อนข้างเปราะ ไม่ทนทานต่อการสึกกร่อน มีรูพรุนมาก มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้
5.หินพัมมิซ มีลักษณะเหมือนหินสคอเรีย รูพรุนขนาดเล็กกว่า มีน้ำหนักเบา ลอยน้ำได้ ใช้ทำวัสดุขัดถู พบได้ตามชายฝังทะเล
6.หินไรโอไลน์ มีลักษณะเหมือนหินแกรนิต นำไปใช้ในงานก่อสร้าง พบได้ที่แถวจังหวัดสระบุรี และเพชรบูรณ์
2.หินตะกอนหรือหินชั้น
เป็นหินที่เกิดจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์และตะกอนต่างๆ หรือเกิดจากการสึกกร่อนผุพังของหินอัคนีหรือหินอื่นๆ เป็นเวลานานหรือเกิดจากการที่ตะกอนต่างๆ ถูกกระแสน้ำและกระแสลมพัดพามา เมื่อสะสมหรือถูกแรงอัดนานๆ ก็จะแน่นจนกลายเป็นหินแข็ง โดยมีวัตถุประสานตะกอน ได้แก่ ซิลิกา เหล็กออกไซต์และแคลเซียมคาร์บอเนต ลักษณะที่สำคัญ คือ การเป็นชั้นซ้อนๆกัน บางครั้งยังพบร่องรอยของซากพืชและซากสัตว์โบราณฝังอยู่ ซึ่งเรียกว่า ฟอสซิล หรือ ซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีต
หินตะกอนที่น่าสนใจ มีดังนี้ครับ
1.หินทรายเนื้อเป็นทรายแข็งมาก ขูดเหล็กให้เห็นลอยได้ เมื่อจับจะรู้สึกสากมือ ใช้ในงานก่อสร้าง พบที่จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี กาญจนบุรี
2.หินกรวดเนื้อหยาบมาก ประกอบด้วยเศษหินและแร่ขนาดใหญ่ ใช้ในการก่อสร้างพบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และบางแห่งทางภาคใต้
3.หินดินดานเนื้อละเอียด กะเทาะหรือหลุดเป็นแผ่นๆ ได้ง่าย พบที่จังหวัดเพชรบุรี
4.หินปูนแข็ง ประกอบด้วยตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนต ใช้เป็นหินก่อสร้าง ทำปูนขาว ปูนซีเมนต์ ผลิตแคลเซียมคาร์ไบด์ พบที่จังหวัดนครสวรรค์ สระบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
หินแปร
หินที่เกิดจาการแปรสภาพของหินอัคนี และหินชั้น ซึ่งได้รับความร้อน แรงดัน และปฏิกิริยาเคมี แต่ยังไม่ถึงจุดหลอมเหลวจนทำให้รูปร่าง โครงสร้าง และส่วนประกอบเปลี่ยนไป หินแปรบางชนิดยังแสดงเค้าเดิม บางชนิดผิดไปจากเดิมมากจนต้องอาศัยดูรายละเอียดของเนื้อใน หรือสภาพสิ่งแวดล้อมจึงจะทราบที่มา อย่างไรก็ตามหินแปรชนิดหนึ่งๆ จะมีองค์ประกอบเดียวกันกับหินต้นกำเนิด แต่อาจจะมีการตกผลึกของแร่ใหม่ ทำให้ได้แร่หรือหินชนิดใหม่
ตัวอย่างหินแปรที่แปรสภาพมาจากหินเดิม ดังนี้
1.หินควอร์ตไซต์ แปรสภาพมาจาก หินทราย
2.หินชนวน แปรสภาพมาจาก หินดินดาน
3.หินอ่อน แปรสภาพมาจาก หินปูน
4.หินไนส์ แปรสภาพมาจาก หินแกรนิต
5.หินแอนทราไซต์ แปรสภาพมาจาก หินบิทูมินัส
หินแปรที่น่าสนใจ มีดังนี้ครับ
1.หินชนวนมีลักษณะเนื้อละเอียด มีรอยเป็นเส้นที่ขนานกัน และมีหลายสี สามารถแซะออกได้เป็นแผ่น ใช้มุงหลังคา ทำกระดานชนวน ทำแผ่นปูพื้นทางเดิน พบตามเส้นทางถนนมิตรภาพและจังหวัดสุโขทัย
2.หินอ่อนมีทั้งเนื้อละเอียดและหยาบ เมื่อขัดผิวหน้าจะมันวาว หินอ่อนบริสุทธิ์จะมีสีขาว ถ้ามีมลทินจะมีสีต่างๆ เช่น สีดำ เขียว แดง น้ำตาลในเนื้อหิน ใช้ทำผนัง แกะสลักเป็นรูปต่างๆ พบที่จังหวัดสระบุรี กำแพงเพชร สุโขทัย สงขลา
3.หินควอร์ตไซต์แข็งแกร่งมาก เมื่อแตกจนเว้าโค้งเป็นก้นหอย ใช้รองพื้นถนน ทำหินอัดเม็ดและวัสดุทนไฟ พบที่จังหวัดชลบุรี ราชบุรี
แร่
แร่เป็นสารบริสุทธิ์ที่มีธาตุเป็นองค์ประกอบทางเคมี แร่เกิดจากการตกผลึกในขณะที่หินค่อยๆ เย็นตัว แร่จึงเป็นส่วนประกอบของหิน เช่น หินแกรนิต มีส่วนประกอบของแร่ อาทิเช่น แร่ควอตซ์ แร่เฟลด์สปาร์ และแร่ไมกาผลึกของแร่พบในหิน มักมีสมบัติที่เด่นชัด ได้แก่ สีของแร่ รูปผลึก ความวาว ความหนาแน่น ความแข็ง ความเป็นแม่เหล็ก การเรืองแสง เป็นต้น
ให้นักเรียนดูวีดีโอประกอบนะครับ
การจำแนกแร่ เราสามารถจำแนกแร่ออกเป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1.แร่โลหะหรือสินแร่
แร่พวกนี้ส่วนใหญ่ต้องนำถลุงจึงจะได้โลหะชนิดต่างๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น
- แร่เฮมาไทต์ ถลุงได้โลหะเหล็ก
- แร่กาลีนา ถลุงได้โลหะตะกั่ว
- แร่แคสซิเทอไรต์ ถลุงได้โลหะดีบุก
- แร่สติบไนต์ ถลุงได้โลหะพลวง
- แร่วุลแฟรไมต์ ถลุงได้โลหะทังสเตน
- แร่สฟาเลอไรต์ ถลุงได้โลหะสังกะสี
- แร่ชาลโคไพไรต์ ถลุงได้โลหะทองแดง
ส่วนแร่ที่นำมาใช้ได้เลย คือ เงิน ทอง แร่โลหะจะเป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าได้ดี
2.แร่อโลหะ
แร่กลุ่มนี้มักเปราะง่าย ไม่เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้า ส่วนใหญ่สามารถนำมาใช้ได้เลยโดยไม่ต้องถลุง ได้แก่ ยิปซัม กำมะถัน แกรไฟต์ (แกรไฟต์ เป็นแร่โลหะที่นำไฟฟ้าได้)
3.แร่รัตนชาติ
แร่กลุ่มนี้เป็นแร่ที่มีความสวยงาม มีผลึกแวววาว สามารถสะท้อนแสงได้ดี มักนำมาทำเป็นเครื่องประดับ แร่กลุ่มนี้มักมีความแข็งแรงมาก เช่น เพชร (แข็งมากที่สุด) ทับทิม บุษราคัม เป็นต้น
4.แร่เชื้อเพลิง
แร่กลุ่มนี้เป็นแร่ที่นำมาเป็นพลังงานเชื้อเพลิง โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรม เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และแก๊สธรรมชาติ
5.แร่กัมมันตรังสี
แร่กลุ่มนี้สามารถปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปรังสี สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการแพทย์ อุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น เรเดียม โคบอลต์-60 ยูเรเนียม พลูโทเนียม เป็นต้น
แหล่งอ้างอิง
ผศ.พิมพ์พร อสัมภินพงศ์. คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป.6 .กรุงเทพ:เจ้าพระยาระบบการพิมพ์.2551
แหล่งอ้างอิง
ผศ.พิมพ์พร อสัมภินพงศ์. คู่มือเตรียมสอบวิทยาศาสตร์ ป.4 .กรุงเทพ:เจ้าพระยาระบบการพิมพ์.2551
เอกรินทร์ สี่มหาศาล และคณะ.สื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ป.6.กรุงเทพ:อักษรเจริญทัศน์.2551
เข้าถึงได้จาก http://dearthamonwan.wordpress.com/ประเภทของหิน
http://osl101.ldd.go.th/easysoils/s_meaning.htm
http://www.chaiwbi.com/aggie2552/chaiwbi2552/unit03/3003.html
https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet6/envi2/subsoil/soil.htm (อ้างจาก กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม)
อ้างอิงรูปภาพ http://www.natres.psu.ac.th/Department/PlantScience/510-111web/book/book%20content.htm/chapter04/Agri_01.gif
http://www.thaigoodview.com/files/u54857/lesson3_006.jpg
ข้อมูลจาก http://krootonwich.com/data-3790.html
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น