“แหนแดง”....แหล่งไนโตรเจนในแปลงผัก

การลดต้นทุนการผลิตเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ได้รับความสนใจในหลายภาคส่วน เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สามารถช่วยเพิ่มรายได้ด้วยการลดรายจ่ายให้กับผู้ผลิต สำหรับภาคเกษตรกรรม 

ปุ๋ยถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการเกษตร เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร กล่าวคือ หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยได้เพียงพอกับความต้องการของพืช จะส่งผลให้พืชเจริญเติบโตดี แต่หากใส่ปุ๋ยในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลต่อคุณภาพผลผลิตและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้หากเกษตรกรไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง ปริมาณการใช้ปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น หากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยได้เองจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรได้ เช่น การผลิตปุ๋ยจากแหนแดง

แหนแดงคืออะไร

แหนแดง (Azolla spp.) เป็นเฟิร์นน้ำขนาดเล็กพบอยู่ทั่วไปบริเวณน้ำนิ่ง มีคุณสมบัติเป็นทั้งปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยชีวภาพ และอาหารสัตว์ เนื่องจากในใบของแหนแดงมีสาหร่ายสีเขียวแกรมน้ำเงิน (Cyanobacteria) อาศัยอยู่ (รูปที่ 1) ซึ่งสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้แหนแดงเจริญเติบโตได้เร็วและมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบสูง (วิเชียร ฝอยพิกุล, 2548; ศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต, 2561) แหนแดงสามารถสลายตัวได้ง่ายและปลดปล่อยไนโตรเจนและธาตุอาหารพืชอื่นๆ ออกมาได้เร็ว (กมลวรรณ ศรีปลั่ง, 2554) จากคุณสมบัติดังกล่าวจึงมีการนำแหนแดงแห้งมาใช้เป็นแหล่งธาตุไนโตรเจนให้กับผักโดยเฉพาะผักรับประทานใบและลำต้น

แหนแดงมีดีอะไร

ไนโตรเจนเป็นธาตุอาหารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยเฉพาะพืชรับประทานใบ เช่น คะน้าฮ่องกง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง เนื่องจากธาตุไนโตรเจนส่งเสริมการเจริญเติบโตของยอดอ่อน ใบและกิ่งก้าน หากขาดธาตุอาหารดังกล่าว จะทำให้พืชเติบโตโตช้า ใบจะมีสีเหลือง (คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา, 2544) แหล่งไนโตรเจนที่เกษตรกรนิยมใช้มีทั้งปุ๋ยอนินทรีย์ที่ได้จากจากสารเคมีสังเคราะห์ เช่น ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่ได้จากสิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ส่วนใหญ่ใช้ในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน ทำให้ดินระบายน้ำและถ่ายเทอากาศได้ดี แต่ปุ๋ยอินทรีย์มักจะให้ธาตุไนโตรเจนต่ำกว่าปุ๋ยอนินทรีย์ ทำให้ต้องใช้ในปริมาณมาก เพื่อให้ได้ปริมาณธาตุอาหารเพียงพอต่อความต้องการของพืช (สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน, ม.ป.ป.; วรรณา สุริวรรณ์, 2547) เมื่อต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในปริมาณมากและเกษตรกรไม่สามารถผลิตปุ๋ยได้เอง ยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในทางกลับกัน หากเกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้เองด้วยต้นทุนที่ไม่สูง จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งแหนแดงเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่จะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตลงได้ เพราะแหนแดงมีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างสูงและสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์หลายชนิด เช่น มูลกระบือ มูลสุกร (วิเชียร ฝอยพิกุล, 2548; กรมวิชาการเกษตร, 2549; ชุติมณฑน์ ชูพุดซา, 2553) และแหนแดงยังสามารถเพิ่มปริมาณเป็นเท่าตัวได้ในระยะเวลาสั้น (ประมาณ 3 - 10 วัน) อีกทั้งยังช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินได้ด้วย (Subedi and Shrestha, 2015; FAO, 2009) จากการศึกษาเกี่ยวกับแหนแดงที่ผ่านมา พบว่าองค์ประกอบในแหนแดงผันแปรตามพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่แหนแดงเจริญเติบโต ซึ่งมีรายงานว่า แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบร้อยละ 1.96 – 6.50 ฟอสฟอรัสร้อยละ 0.16 – 1.59 โพแทสเซียมร้อยละ 0.31 – 5.97 และมีโปรตีนร้อยละ 19 - 30 จากองค์ประกอบในแหนแดงทำให้มีการใช้แหนแดงเพื่อเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืช และเป็นอาหารสำหรับสัตว์ เช่น ปลา เป็ด ห่าน นอกจากนี้แหนแดงยังช่วยในการดูดซับโลหะหนัก เช่น ปรอท และ โครเมียม ได้อีกด้วย (Nam and Yoon, 2008; มนตรี ปานตู และคณะ, 2559; FAO, 2009)

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแหนแดง

แหนแดงพบได้ตามแหล่งน้ำนิ่งตามธรรมชาติ ทั้งในภูมิอากาศแบบร้อนชื้น กึ่งร้อนชื้น และอบอุ่น แหนแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่ไม่ลึกมากนัก รากของแหนแดงจึงอยู่ใกล้กับดิน ทำให้มีโอกาสได้รับธาตุอาหารดีกว่าและเจริญเติบโตได้ดีกว่าในน้ำลึก แหนแดงสามารถเจริญเติบโตได้ดีในน้ำที่มีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 3.5 – 10 หากระดับความเค็มของน้ำมากขึ้นจะส่งผลให้การเจริญเติบโตของแหนแดงลดลง แหนแดงสามารถเจริญเติบโตได้ในบริเวณที่ได้รับแสงเต็มที่ไปจนถึงบริเวณที่เป็นร่มเงา หากแหนแดงเจริญเติบโตในที่ที่แสงส่องถึงน้อยจะทำให้การเจริญเติบโตของแหนแดงลดลง แหนแดงต้องการธาตุอาหารคล้ายกับพืชทั่วไปเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งหนึ่งในธาตุอาหารที่เป็นตัวจำกัดการเจริญเติบโตของแหนแดง คือ ฟอสฟอรัส หากขาดธาตุดังกล่าว จะทำให้การเจริญเติบโตของแหนแดงลดลง และแหนแดงจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ แหนแดงสามารถเจริญเติบโตดีในน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 18 – 26 องศาเซลเซียส (FAO, 2009)

การใช้แหนแดง….ปลูกผัก

จากคุณสมบัติของแหนแดงที่มีปริมาณไนโตรเจนค่อนข้างสูง สลายตัวง่ายและปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เร็ว จึงมีการนำแหนแดงแห้งมาใช้ในการปลูกผักชนิดต่างๆ เช่นการปลูกผักคะน้าฮ่องกงและการปลูกผักกาดเขียวกวางตุ้ง จากงานวิจัยของศิริลักษณ์ แก้วสุรลิขิต และคณะ (2561) แนะนำให้ใช้แหนแดงแห้ง 30 กรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม ในการปลูกผักกาดเขียวกวางตุ้ง หรือคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตร (2563) สำหรับการปลูกผักรับประทานใบ เช่น คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง หรือผักสลัด สามารถใช้แหนแดงแห้ง 1 กิโลกรัม สำหรับการปลูกผักในพื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตร และเมื่อเทียบปริมาณไนโตรเจนระหว่างแหนแดงแห้งและปุ๋ยยูเรีย พบว่า 

แหนแดงแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม มีปริมาณธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยยูเรีย ประมาณ 100 กรัม แม้ว่าการปลดปล่อยธาตุอาหารจากแหนแดงจะเกิดขึ้นได้เร็ว แต่ยังช้ากว่าปุ๋ยยูเรีย ดังนั้นการใส่แหนแดงเพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหารให้กับพืชควรใส่ให้มีปริมาณที่เพียงพอตั้งแต่ก่อนเริ่มปลูก เพื่อให้ปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เพียงพอและตรงกับความต้องการของพืชนั้นๆ ไม่ควรทำการแบ่งใส่ระหว่างการปลูก (Jumadi et al., 2014; ภาณุมาศ มูลสาร และภาษิตา ทุ่นศิริ, 2561; ชาญวิทย์ ชนะสะแบง และคณะ; ภาษิตา ทุ่นศิริ, 2563)

การขยายพันธุ์แหนแดง

แหนแดงสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำนิ่งในธรรมชาติที่มีสภาพเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแหนแดง หากมีการนำแหนแดงมาขยายพันธุ์นอกแหล่งน้ำธรรมชาติ (รูปที่ 2) จำเป็นต้องจำลองสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับความต้องการของแหนแดง ดังนี้

1) ใส่ดินและมูลสัตว์ในสัดส่วนประมาณ 4:1 (ดิน:มูลสัตว์) ให้มีความสูงห่างจากขอบบ่อประมาณ 20-30 เซนติเมตร 

2) เติมน้ำให้มีความสูงจากผิวดินประมาณ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้ตกตะกอน แล้วตักเศษที่ลอยบนผิวน้ำออก 

3) ใส่แหนแดงสดลงในบ่อ เมื่อแหนแดงขยายเต็มบ่อให้ตักออกครึ่งหนึ่ง นำแหนแดงที่ตักออกไปตากแดดประมาณ 2 วัน เพื่อทำแหนแดงแห้งสำหรับใช้เป็นปุ๋ยต่อไป 

4) เติมมูลสัตว์เพิ่มลงในบ่อประมาณ 100 กรัม ทุกๆ 14 วัน

ต้นทุนการผลิตแหนแดงแห้ง

การขยายพันธุ์แหนแดง 1 บ่อซีเมนต์ (เส้นผ่านศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร) ใช้แหนแดงสดเริ่มต้นประมาณ 500 กรัม ใช้เวลาขยายพันธุ์ประมาณ 7 วัน ได้แหนแดงสดประมาณ 3-4 กิโลกรัม/บ่อ คิดเป็นแหนแดงแห้งประมาณ 150-200 กรัม หากต้องการแหนแดงแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 35 วัน แต่หากเพิ่มจำนวนบ่อเป็น 5 บ่อ (ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ตารางเมตร) ก็จะสามารถผลิตแหนแดงแห้งประมาณ 1 กิโลกรัม ได้ภายใน 7 วัน ซึ่งต้นทุนการผลิตต่อ 1 บ่อซีเมนต์ มีราคาเริ่มต้นประมาณ 200 – 550 บาท โดยมีรายละเอียดดังตารางที่ 1

แนวโน้มการใช้แหนแดงแห้งในการปลูกผัก

แหนแดงตามธรรมชาติ หากเจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และแผ่ขยายปกคลุมผิวน้ำ หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสมอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อการจราจรทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและพืชที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น รวมไปถึงการเป็นสาเหตุทำให้เกิดปรากฏการณ์ยูโทรฟิเคชั่น (Eutrophication) ได้ (Sadeghi et al., 2013) ดังนั้นการนำแหนแดงที่แผ่ขยายอย่างรวดเร็วนี้ไปใช้ประโยชน์ จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นได้ แหนแดงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงจึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในอาหารสัตว์เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนเสริมให้กับสัตว์ที่เลี้ยง เช่น ปลา (FAO, 2009) เนื่องจาก Cyanobacteria ในโพรงใบของแหนแดงสามารถตรึงไนโตรเจนจากกอากาศได้ จึงทำให้แหนแดงมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบค่อนข้างสูงประมาณร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์หลายชนิด เช่น มูลกระบือ (ร้อยละ 0.97) มูลสุกร (ร้อยละ 1.30) ปุ๋ยหมักฟางข้าว (ร้อยละ 1.34) โสนอัฟริกัน (ร้อยละ 2.87) ปอเทือง (ร้อยละ 2.76) เป็นต้น (กรมวิชาการเกษตร, 2549; กรมพัฒนาที่ดิน, 2550; ชุติมณฑน์ ชูพุดซา, 2553) ดังรูปที่ 3 อีกทั้งการผลิตแหนแดงยังใช้ระยะเวลาสั้น ขนาดพื้นที่เล็ก และต้นทุนต่ำกว่าการปลูกพืชปุ๋ยสดประมาณ 45-50 วัน ก่อนไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อผลิตปุ๋ยคอก จากคุณสมบัติของแหนแดงที่กล่าวมานี้ ทำให้แหนแดงกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพเป็นแหล่งไนโตรเจนสำหรับการปลูกผัก โดยเฉพาะผักที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต

ข้อมูลจาก http://www.ej.eric.chula.ac.th/content/6136/287

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ