อยากทำเกษตรบนดินทราย จัดการดินอย่างไร

 อยากทำเกษตรบนดินทราย ต้องจัดการดินอย่างไรให้ดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ขึ้น อ่านเลย!

ปัญหาพื้นที่ทำเกษตรเป็นดินทราย ไม่อุ้มน้ำ ขาดธาตุอาหาร ปลูกอะไรก็ยากลำบาก คงทำเกษตรกรหลายท่านหนักใจไม่น้อย วันนี้ Kaset Go ขอนำแนวทางการจัดการดินทราย จากกรมพัฒนาที่ดิน มาฝากเพื่อนๆ เกษตรกรให้สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขดินสำหรับทำเกษตรกัน ไม่ว่าจะปลูกข้าว พืชผัก พืชไร่ หรือไม้ผล จะมีแนวทางจัดการดินอย่างไรบ้าง 

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “ดินทราย”

ดินทราย คือ ดินที่มีเนื้อดินบนเป็นดินทรายหรือดินทรายปนร่วนที่เกิดเป็นชั้นหนามากกว่า 100 ซม.จากผิวดิน บางพื้นที่มีความหนามากกว่า 50 ซม. จากผิวดินที่รองรับด้วยชั้นดานดินเหนียวดินร่วน หรือพบชั้นดานอินทรีย์ภายในความลึก 100 ซม. โดยสภาพปัญหาของดินทรายที่ส่งผลต่อการทำเกษตร มีดังนี้

เกิดการชะล้างพังทลายของดินได้ง่าย เนื่องจากดินทรายเป็นดินที่ไม่มีโครงสร้าง จะมีลักษณะเป็นเม็ดเดี่ยวๆ การเกาะตัวหรือยึดตัวของเม็ดดินต่ำ ซึ่งปัญหานี้จะรุนแรงในพื้นที่ทำเกษตรที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ โดยเริ่มเกิดขึ้นรุนแรงในพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ 5% ขึ้นไป และจะรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ลาดชันสูงหรือพื้นที่ภูเขา

ความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ ขาดแคลนธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืช เนื่องจากดินทรายดูดซับและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารได้ไม่ดี เมื่อมีการใส่ปุ๋ยเคมีลงไปทำให้เกิดการสูญเสียไปจากดินได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ ทำให้ดินขาดความชื้น และพืชที่ปลูกเจริญเติบโตได้ไม่ดีและให้ผลผลิตน้อยกว่าดินปกติ

สมบัติทางกายภาพของดินไม่ดี โดยดินที่มีทรายหยาบอยู่มาก จะมีช่องว่างในดินขนาดใหญ่ เมื่อฝนตกน้ำจะไหลผ่านดินได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่ดินดูดซับน้ำไว้ได้น้อย ทำให้พืชขาดแคลนน้ำได้ง่าย ส่วนดินที่มีทรายละเอียดอยู่มาก และอยู่ในพื้นที่ลุ่มโดยเฉพาะดินนาจะเจอปัญหาดินแน่นทึบ รากพืชไม่สามารถชอนไชได้และพืชมีการเจริญเติบโตไม่ดี

แนวทางการจัดการดินทรายเพื่อปลูกข้าว

การปรับปรุงดินและเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบเป็นพืชปุ๋ยสด และการไถกลบตอซังฟางข้าว ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ การดูดซับธาตุอาหารและทำให้ดินมีการเกาะยึดตัวกันดีขึ้น

การใช้ปุ๋ยเคมีในดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำและมีปริมาณธาตุอาหารพืชน้อย โดยเลือกใช้สูตรและอัตราที่เหมาะสมกับข้าวที่ปลูก หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

แนวทางการจัดการดินทรายเพื่อปลูกพืชผัก พืชไร่ ไม้ผล และไม้ยืนต้น

การเลือกปลูกพืชที่เหมาะสม โดยดินทรายในพื้นที่ดอนที่มีการระบายน้ำดี-ปานกลาง ไม่มีน้ำแช่ขังในฤดูฝนสามารถปลูกพืชได้หลายชนิด เช่น ข้าวไร่ ปอแก้ว ถั่วลิสง มันสำปะหลัง สับปะรด ข้าวโพด แตงโม ไม้ผลและไม้ยืนต้นบางชนิด เช่น มะม่วง มะขาม น้อยหน่า พุทรา สะเดา ไผ่ กระถินณรงค์และกระถินเทพา รวมทั้งใช้ปลูกพืชผักบางชนิด เช่น แตงกวา ผักกาดเขียวปลี ผักกาดหอม และพริกขี้หนู

การปรับปรุงดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก การไถกลบปุ๋ยพืชสด รวมถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพ หรือใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่เหมาะสมชนิดพืชที่ปลูก และควรใช้ร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ หรือใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน

สำหรับพืชปุ๋ยสดควรปลูกหลังจากพืชหลักเจริญเติบโตแล้ว เพื่อป้องกันการแย่งน้ำและธาตุอาหาร

การปลูกพืชคลุมดินเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน หรือใช้วัสดุคลุมดินเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำและรักษาความชื้นไว้ในดิน เช่น ฟางข้าว ตอซังพืช แกลบ หญ้าแฝก

การจัดการน้ำที่เหมาะสม เช่น การฝังกระบอกดินเผาหรือตุ่มดินบริเวณโคนต้น การให้น้ำแบบหยด การขุดสระกักเก็บน้ำ

ได้วิธีการและแนวทางการจัดการดินทรายกันไปแล้ว เพื่อนๆ เกษตรกรท่านใดกำลังเจอปัญหาดินทรายอยู่ อย่าลืมทำตามกันด้วยนะคะ ไม่ว่าจะปลูกอะไร หากมีการปรับปรุงดินที่ดี พืชผลก็เจริญเติบโตงอกงามแน่นอน!

ขอขอบคุณความรู้ดีๆ จาก กรมพัฒนาที่ดิน https://www.ldd.go.th/Web_Soil/sandy.htm

ข้อมูลจาก https://kasetgo.com/t/topic/618514

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?