ใส่ปุ๋ยทางดิน VS ใส่ปุ๋ยทางใบ ข้อดีที่ต่าง
#ปุ๋ยทางดิน #ปุ๋ยทางใบ ต่างกันอย่างไรนะ?
ปัจจุบันพี่น้องเกษตรกรจะเห็นได้ว่ามีผลิตภัณฑ์ปุ๋ยต่าง ๆ ออกมามากมายให้พี่ ๆ ได้เลือกใช้ ไม่ว่าจะทั้งปุ๋ยทางดิน หรือปุ๋ยทางใบ แต่พอถึงคราวจะต้องเลือกใช้จริงแล้ว พี่ ๆ เคยสงสัยมั้ยครับว่า พืชที่เราปลูกอยู่นี้ ควรใส่ปุ๋ยทางไหนดี
เพื่อไขความกระจ่าง... วันนี้น้องปุ๋ยขยันจะมาแนะนำให้พี่น้องเกษตรกรได้รู้ถึงข้อดีและข้อจำกัด ของการใช้ปุ๋ยแต่ละชนิดกันครับ ถ้าพร้อมแล้วตามมาดูกันเลย!
#ปุ๋ยทางดิน
ดิน จัดเป็นแหล่งที่ให้อาหารทั้งธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองแก่พืช โดยในดินแต่ละพื้นที่นั้นจะมีปริมาณธาตุอาหารที่แตกต่างกันไป หลักการของการใส่ปุ๋ยทางดินนั้นคือการเพิ่มหรือเติมปริมาณธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืชลงไปในดินเพื่อให้อยู่ในรูปที่พืชสามารถใช้เป็นประโยชน์ได้
ข้อดี
▪️ การใส่ปุ๋ยทางดินนั้นจะคงอยู่ในรูปของสารละลายภายในดิน เป็นประโยชน์แก่พืชได้นานกว่าปุ๋ยทางใบ ส่งผลให้พืชมีธาตุอาหารให้สามารถดูดใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
▪️ การใส่ปุ๋ยทางดินสามารถใส่ก่อนปลูกหรือในเวลาไล่เลี่ยกับการปลูกพืชนั้น ๆ ได้ เพื่อเป็นการยกระดับความอุดมสมบูรณ์ของดิน หรือช่วยชดเชยธาตุอาหารเป็นประจำทุกฤดูปลูก
▪️ เป็นการใส่ปุ๋ยบางชนิดช่วยเสริม เพื่อให้พืชเหล่านั้นได้รับธาตุนั้น ๆ ได้อย่างต่อเนื่องและเพียงพอตลอดฤดูปลูก
ข้อจำกัด
▪️ หากดินที่เราใช้ในการเพาะปลูกมีสภาพไม่เหมาะสม เช่น ดินเป็นกรด หรือด่างจนเกินไป จะส่งผลกระทบต่อการดูดใช้ธาตุอาหารของพืช ทำให้พืชใช้ประโยชน์จากปุ๋ยที่เราใส่ลงไปได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นควรปรับปรุงดินให้เหมาะสมก่อนการใส่ปุ๋ย
#ปุ๋ยทางใบ
คือปุ๋ยที่อยู่ในรูปของเหลว ใช้ฉีดพ่นให้พืชทางใบ โดยเราอาจจัดวิธีการให้ปุ๋ยทางใบเป็นวิธีรอง เนื่องจากพืชจะสามารถดูดใช้ธาตุอาหารทางใบได้ในส่วนของสารละลายที่มาสัมผัสใบเท่านั้น
ชนิดของปุ๋ยทางใบ
ปัจจุบันปุ๋ยทางใบมี 2 ชนิด
1. ปุ๋ยเกล็ด คือปุ๋ยเคมีชนิดแข็งที่มีสภาพเป็นรูปผลึกของสารประกอบ ผลิตจากการนำแม่ปุ๋ยชนิดต่าง ๆ มาผสมกันให้ได้สูตรที่ต้องการ เป็นปุ๋ยที่ละลายน้ำง่าย
2. ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยเหลว คือปุ๋ยที่ได้จากการละลายแม่ปุ๋ยในน้ำให้ได้สัดส่วนเป็นปุ๋ยสูตรต่าง ๆ โดยที่แม่ปุ๋ยจะถูกละลายได้ทั้งหมด วิธีใช้ปุ๋ยเพียงแค่นำมาเจือจางด้วยน้ำในอัตราที่พอเหมาะแล้วนำไปฉีดพ่นพืชได้ทันที
ข้อดี
▪️ กรณีที่พื้นที่ปลูกดินมีปัญหาทำให้พืชไม่สามารถดูดใช้ธาตุอาหารทางดินได้ การให้ปุ๋ยทางใบจะสามารถทดแทนตรงจุดนี้ได้ ช่วยลดอาการขาดจุลธาตุอาหาร หรือธาตุอาหารรองเสริมได้ดี
▪️ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หลังจากการย้ายปลูกและตั้งตัวได้แล้ว
▪️ ใช้กับอาการขาดธาตุอาหารในระยะแรก ๆ ได้ดี
▪️ ปุ๋ยทางใบช่วยให้พืชฟื้นตัวเร็ว หลังจากชะงักเนื่องจากกระทบแล้งหรือถูกโรคแมลงทำลาย หรือหลังจากให้ดอกให้ผลแล้ว
▪️ สามารถใช้ผสมกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลง และควบคุมวัชพืชได้ เป็นการประหยัดแรงงาน
▪️ ปุ๋ยทางใบใช้เพื่อบังคับให้พืชบางชนิดออกดอกได้ในนอกฤดู
ข้อจำกัด
▪️ การให้ปุ๋ยทางใบนั้นจะทำให้พืชได้รับปริมาณอาหารน้อยกว่าการให้ปุ๋ยทางดิน และหากฉีดพ่นในช่วงที่มีความชื้นสูง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปากใบปิดจะยิ่งส่งผลให้พืชได้รับธาตุอาหารน้อยลงไปอีก นอกจากนี้ปุ๋ยทางใบยังมีราคาขายต่อกก. ที่สูงกว่าปุ๋ยทางดินอีกด้วย
▪️ โดยทั่วไปการใช้ปุ๋ยทางใบเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะให้ธาตุอาหารแก่พืชได้อย่างเพียงพอในปริมาณที่เท่าเทียมกับปุ๋ยทางดิน เพราะถ้าให้ในระดับความเข้มข้นสูงเกินไปอาจทำให้พืชใบไหม้ได้
จะเห็นได้ว่าการให้ “ปุ๋ยทั้งทางดิน” และ “ปุ๋ยทางใบ” นั้น มีข้อดี-ข้อเสียที่แตกต่างกัน หากพี่น้องเกษตรกรต้องการให้พืชได้รับปริมาณธาตุอาหารหลักที่เพียงพอ ควรเลือกให้ปุ๋ยทางดินจะเหมาะสมกับพืชมากกว่า ส่วนการให้ปุ๋ยทางใบนั้น มักฉีดพ่นในพื้นที่ที่มีปัญหาหรือพืชที่มีผลตอบแทนสูงและต้องฉีดพ่นหลายรอบ ทำให้มีต้นทุนที่สูงกว่า ดังนั้นจึงนิยมฉีดพ่นปุ๋ยทางใบในส่วนของธาตุอาหารรอง-ธาตุอาหารเสริม เพื่อบำรุงพืชมากกว่าการฉีดพ่นธาตุอาหารหลัก
ขอบคุณข้อมูล : ยงยุทธ โอสถสภา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักนิเทศและถ่ายทอดเทคโนโลยีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ข้อมูลจาก https://puimongkut.com/th/site/farmerguide/detail/
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น