ไส่ปุ๋ยอินทรีย์ แล้วไม่ไส่ปุ๋ยเคมีได้ไหม??

ปัจจุบันกระแสความใส่ใจเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ คนเราทุกคนย่อมต้องการให้ตัวเองและคนรอบข้างมีสุขภาพที่ดี อาหารที่รับประทานเข้าไปก็ต้องปราศจากสารที่จะเป็นอันตรายหรือปลอดสารพิษ ในสมัยก่อนคนเราได้อาหารจากธรรมชาติ เมื่อผลผลิตจากธรรมชาติเริ่มน้อยลง มนุษย์ก็ต้องปลูกพืชโดยปล่อยตามธรรมชาติก็สามารถให้ผลผลิตกับเราได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ย แต่เมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้นการปลูกพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอ จึงต้องหาทางเพิ่มพื้นที่และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่มีจำกัดและการปลูกพืชซ้ำพื้นที่เดิม ย่อมทำให้มีธาตุอาหารที่พืชดูดไปจากดินติดไปกับผลผลิตที่นำออกไปจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง หรือปุ๋ยที่มีอยู่เดิมในดินลดลง จนทำให้ปลูกพืชแล้วโตไม่ดีและผลผลิตต่ำ

ในสมัยก่อนเกษตรกรเห็นว่า พืชที่ขึ้นอยู่ใกล้คอกสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงได้นำมูลสัตว์ หรือ ปุ๋ยคอก มาใส่ให้กับพืช ปุ๋ยดังกล่าวได้มาจากสิ่งมีชีวิตจึงเรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ ถ้าพื้นที่ปลูกไม่มากก็สามารถนำมูลสัตว์รวมทั้งเศษซากพืชที่เน่าเปื่อยผุพังมาใส่ให้กับดินเพื่อชดเชยให้กับส่วนที่ติดไปกับผลผลิตพืชได้ แต่ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ก็ยากที่จะหาแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ให้เพียงพอได้ จึงมีการนำวัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืชทั้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หรือนำวัสดุจากแหล่งธรรมชาติ รวมทั้งวัสดุที่เป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด มาทำปฏิกิริยากันทางเคมีได้เป็นสารประกอบที่ให้ธาตุอาหารพืช และเรียกปุ๋ยประเภทนี้ว่า ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสารที่ให้ธาตุอาหารพืชปริมาณมากและพืชนำไปใช้ได้ง่าย

ด้วยชื่อ ปุ๋ยเคมี จึงทำให้มีคนเข้าใจว่าจะเป็นอันตรายและถ่ายทอดความรู้ที่คลาดเคลื่อนไปสู่คนทั่วไป จนทำให้ดูน่ากลัวเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ดินเสื่อมและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคพืชที่ใส่ปุ๋ยเคมี ทั้ง ๆ ที่ ปุ๋ยเคมี คือ อาหารของพืช ไม่ใช่สารพิษอย่างที่เข้าใจ ไม่ว่าจะใส่ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยอินทรีย์ ธาตุอาหารในปุ๋ยต้องเปลี่ยนเป็นรูปที่ละลายได้ง่ายเหมือนกันพืชจึงดูดไปใช้ได้ ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ต่างก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่าง เมื่อเข้าใจแล้วก็จะทำให้นำปุ๋ยทั้งสองประเภทนี้มาใช้เพื่อผลิตอาหารให้ปลอดภัยและเพียงพอ ตลอดจนรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ให้คนรุ่นต่อ ๆ ใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารได้ตลอดไป

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชและความจำเป็นในการใช้ปุ๋ย

พืชเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตสูงต้องปลูกในสภาพที่มีปัจจัยที่พืชต้องการอย่างเหมาะสม คือ ต้องมีแสงแดด อากาศ น้ำ และต้องมีธาตุอาหารที่จำเป็น ต่อพืชอย่างครบถ้วน เพื่อให้พืชนำไปสร้างอาหารโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ได้เป็นน้ำตาลและถูกนำไปใช้ในกระบวนการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิต ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับมนุษย์

ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชเป็นธาตุที่มีหน้าที่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถจะใช้สิ่งอื่นทำหน้าที่แทนได้ และถ้าพืชได้รับไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรชีวิตได้ และในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับโดยนักวิชาการธาตุอาหารพืชทั่วโลกว่ามีทั้งหมด 17 ธาตุ (ก่อนปี พ.ศ. 2530 ยอมรับเพียง 16 ธาตุ) บางธาตุพืชต้องการมาก ในขณะที่บางธาตุพืชต้องการเพียงเล็กน้อยก็พอ ในประเทศไทยได้แบ่งธาตุอาหารพืชเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ธาตุอาหารหลัก ซึ่งพืชต้องการมากและดินทั่วไปมักมีไม่พอกับความต้องการของพืช 2) ธาตุอาหารรอง ซึ่งพืชต้องการมาก แต่ดินโดยทั่วไปมักมีพอ และ 3) ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ ซึ่งพืชต้องการน้อยแต่ก็จำเป็นและดินทั่วไปมักมีอย่างเพียงพอ ในความเป็นจริงแล้ว ธาตุทุกธาตุทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีความสำคัญกับพืชเท่าเทียมกัน ไม่ได้เป็นแค่ธาตุรองหรือธาตุเสริม ดังนั้น พืชต้องได้รับทุกธาตุอย่างเพียงพอ และถ้ามีไม่พอจะต้องเพิ่มให้กับพืชในรูปของ ปุ๋ย ซึ่งเป็นสิ่งที่ให้ธาตุอาหารพืช

ในดินดีหรือดินที่มีธาตุอาหารสูงสามารถจะปลูกพืชและพืชเจริญเติบโตดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเหมือนที่ปฏิบัติกันในอดีต แต่เมื่อธาตุอาหารในดินลดลงเรื่อย ๆ โดยไม่เติมเข้าไปชดเชย หรือชดเชยน้อยกว่าที่นำออกไป สักวันหนึ่งธาตุอาหารก็จะมีไม่พอกับความต้องการของพืช ซึ่งแก้ได้โดยการใส่วัสดุที่ให้ธาตุอาหารพืช ดังนั้น ถ้าจะรักษาธาตุอาหารในดินให้คงอยู่เท่าเดิมก็ต้องคืนธาตุอาหารให้กับดินเท่ากับที่ติดไปกับผลผลิต ถ้าคืนกลับไปน้อย ธาตุอาหารในดินก็ลดลงเรื่อย ๆ หรือดินเสื่อมลง นาน ๆ เข้าย่อมจะไม่พอและส่งผลให้พืชโตได้ไม่ดี ผลผลิตก็ลดลง การใส่ปุ๋ยจึงเป็นการบำรุงดิน เพื่อให้มีธาตุอาหารเพียงพอกับพืช

การปลูกพืชต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับดินและปุ๋ยอย่างถูกต้อง

ปุ๋ย เป็นสิ่งที่เกิดเองธรรมชาติหรือผลิตขึ้น เพื่อให้ธาตุอาหารพืช โดยถ้าองค์ประกอบเป็นสารอินทรีย์

เรียกว่า ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยทำให้ดินร่วนซุย ดูดซับน้ำและธาตุอาหารได้ดี และมีธาตุอาหารที่จำเป็นต่อพืชครบทุกธาตุแต่ปริมาณน้อย แต่ถ้าองค์ประกอบในปุ๋ยเป็นสารอนินทรีย์ซึ่งมักผลิตขึ้นโดยวิธีการทางเคมี จึงเรียกว่า ปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นธาตุอาหารพืช ไม่ใช่สารพิษที่คนบางคนเข้าใจ แม้ว่าปุ๋ยเคมีบางชนิดเป็นผลพลอยได้จากโรงงานอุตสาหกรรม และบางชนิดอาจจะนำไปผสมกับสารชนิดอื่นเพื่อทำระเบิด แต่ปุ๋ยดังกล่าวเมื่อนำไปใช้เป็นแหล่งให้อาหารพืช ไม่ได้อันตรายแต่อย่างใด จึงไม่ได้มีข้อห้ามการใช้ปุ๋ยเคมีจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO)

ปุ๋ยเคมีมีทั้งที่เกิดการตกตะกอนทับถมตามธรรมชาติ (เช่น หินฟอสเฟต แร่ซิลไวต์หรือโพแทสเซียมคลอไรด์) และผลิตขึ้นโดยวิธีเคมี (เช่น ยูเรีย ไดแอมโมเนียมฟอสเฟต) ปุ๋ยเคมีมีทั้งชนิดให้ธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม) เพียงธาตุใดธาตุหนึ่งหรือมีครบทั้ง 3 ธาตุ ในปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่เป็นสารประกอบที่มีธาตุอาหารหลักปริมาณมากและพร้อมจะละลายให้เป็นประโยชน์กับพืช โดยปุ๋ยเคมีแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมาก

จุดด้อยของปุ๋ยเคมีที่มักมีการกล่าวอ้างกันเสมอ คือ ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเป็นกรดและทำให้ดินเสียดินเสื่อม ตลอดจนเมื่อบริโภคพืชที่ได้รับปุ๋ยเคมีที่มีไนโตรเจนสูงแล้วมีผลต่อการพัฒนาสมองของทารกและก่อให้เกิดมะเร็ง เรื่องนี้มีการกล่าวถึงกันมากเมื่อมนุษย์เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ถ้าหากรับฟังมาโดยผิวเผินเพียงประเด็นใดประเด็นหนี่งไม่ครบถ้วน อาจจะทำให้รู้สึกน่ากลัวจนคล้อยตามว่าควรจะเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่นักวิชาการด้านดินและปุ๋ยตระหนักดี ในการจัดประชุมดินและปุ๋ยแห่งชาติเมื่อ ปี พ.ศ.2558 โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนทางด้านดินและปุ๋ย ได้จัดประชุมภายใต้หัวข้อ ธรรมชาติของดินและความจริงของปุ๋ยเพื่อการเกษตรยั่งยืน รวมทั้งมีการเสวนา เรื่อง เกษตรอินทรีย์ยั่งยืนจริงหรือ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับดินและปุ๋ย โดยมีผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเรียนการสอนและทำวิจัยที่เกี่ยวกับดินและปุ๋ยโดยตรงมาประชุมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีการนำความจริงเกี่ยวกับดินและปุ๋ยไปถ่ายทอดจนคลาดเคลื่อนไปมาก และก่อให้เกิดความเสียหายแก่วงการศึกษาที่สอนเกี่ยวข้องกับด้านดินและปุ๋ย โดยเฉพาะในประเด็นเหล่านี้ที่มีการกล่าวถึงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยขาดการวิเคราะห์ และพิจารณาอย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ ลองพิจารณาข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็นดังนี้

ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเป็นกรด ปุ๋ยเคมีบางชนิดทีผลตกค้างเป็นกรดและบางชนิดเป็นด่าง มี ปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจนบางชนิด (ยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต และแอมโมเนียมคลอไรด์) เมื่อใส่ปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วทำให้ดินเป็นกรดเพิ่มขึ้นได้ โดยเกิดจากแอมโมเนียมจากปุ๋ยเปลี่ยนเป็นไนเทรต สำหรับแอมโมเนียมที่มาจากปุ๋ยอินทรีย์ก็ทำให้เกิดกรดและดินมีพีเอช (pH) ลดลงเช่นกัน ทั้งนี้ หากดินมีอินทรียวัตถุสูงจะช่วยต้านทานการการลดลงของพีเอชได้ และการที่มีการกล่าวอ้างว่า ดินในประเทศไทยเป็นกรดเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นการจับประเด็นเรื่องปุ๋ยไนโตรเจนทำให้เกิดกรดมาขยายจนเกินจริง ทั้ง ๆ ที่การใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศไทยต่อพื้นที่ยังน้อยกว่าหลาย ๆ ประเทศ เมื่อใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแอมเนียม ส่วนหนึ่งจะถูกพืชดูดไปใช้ได้ทันที มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะเปลี่ยนเป็นไนเทรตและทำให้เกิดกรด ดินส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เป็นกรดเพระเกิดในสภาพฝนตกชุกมีการชะล้างสูงทำให้เหลือแคตไอออนที่เป็นกรดมาก ดินจึงเป็นกรด

ปุ๋ยเคมีทำให้ดินเสื่อมและลดจุลินทรีย์ในดิน ดินในประเทศไทยซึ่งอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้ซากพืชสลายตัวได้ดีจึงมีอินทรียวัตถุในดินต่ำ การไม่ได้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือการใส่ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวจึงทำให้ดินขาดอินทรียวัตถุซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของจุลินทรีย์ดิน การที่ดินมีอินทรียวัตถุต่ำจึงส่งผลให้มีจุลินทรีย์ในดินน้อยลง โดยทั้งอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์มีความสำคัญต่อความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินและการส่งเสริมให้ดินมีสภาพรุ่นซุย ไม่แน่นทึบ การที่ดินเสื่อมและจุลินทรีย์ลดลงไม่ได้เกิดจากปุ๋ยเคมี แต่เกิดจากการที่ดินมีอินทรียวัตถุต่ำหรือไม่ไส่ปุ๋ยอินทรีย์ แม้จะมีคนบางกลุ่มแย้งว่าใส่ปุ๋ยเคมีทำให้เร่งการย่อยสลายอินทรียวัตถุ เลยส่งผลให้ดินเสื่อม แต่ปกติแล้วเมื่อใส่ปุ๋ยเคมีทำให้พืชเจริญเติบโตดีมีเศษซากพืชเพิ่มขึ้นและทำให้อินทรียวัตถุในดินเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

ปุ๋ยเคมีทำให้พืชสะสมไนเทรตและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

การใส่ปุ๋ยที่ให้ธาตุไนโตรเจนสูง ๆ ทำให้พืชดูดไนเทรตเข้าไปมาก เมื่อเข้าสู่พืชก็จะเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียม และนำไปสร้างกรดอะมิโนและโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญ แต่ถ้าพืชดูดไนเทรตเข้าไปมากโดยเฉพาะพืชผักที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงเพื่อให้ใบเขียว อวบน้ำและกรอบ อาจทำให้ไนเทรตสะสมในผักมาก เมื่อกินผักทำให้มีไนเทรตเข้าสู่ร่างกาย และถ้าร่างกายมีไนเทรตสะสมมาก ในทางการแพทย์รายงานว่า จะส่งผลให้ฮีโมโกลบิน (hemoglobin) เปลี่ยนเป็น เมทีโมโกลบิน (methaemoglobin) ส่งผลให้ทารกอายุน้อยกว่า 4 เดือน เป็นโรคเมทีโมโกลบินีเมีย (methaemoglobineamia) ซึ่งมีอาการตัวสีน้ำเงิน (blue baby) เพราะเมทีโมโกลบินรับออกซิเจนไม่ได้ ส่วนในผู้ใหญ่จะไม่มีปัญหาโรคนี้เพราะมีกลไกทำให้เมทีโมโกลบินเปลี่ยนกลับเป็นฮีโมโกลบินให้ทำหน้าที่ได้ตามปกติ นอกจากนั้น ในผู้ใหญ่มีการเชื่อว่าไนเทรตบางส่วนในระบบทางเดินอาหารจะเปลี่ยนแปลงเป็นสารก่อมะเร็งในกระเพาะอาหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากก็ทำให้มีการสะสมไนเทรตได้เช่นกัน เพราะไนโตรเจนในปุ๋ยอินทรีย์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียมและไนเทรตพืชจึงดูดไปใช้ได้

โอกาสที่พืชจะดูดไนเทรตไปใช้จนกระทั่งสะสมในพืชและเกิดอันตรายเกิดขึ้นได้น้อย เพราะคำแนะนำการใช้ปุ๋ยไม่ได้ให้ใส่มากเกินความต้องการ และปกติแล้วไนเทรตในดินถูกชะล้างได้ง่าย นอกจากนั้น ยังมีการวิจัยพบว่า เมื่อนำผักที่มีไนเทรตสูงไปต้มทำให้สุกหรือลวก ทำให้ไนเทรตลดลงมาก มีผู้ประเมินไนเทรตที่ยอมให้เข้าสู่ร่างกายได้ สำหรับคนหนัก 60 กิโลกรัม พบว่า ต้องบริโภคผักสด (มีไนเทรต 0.5% น้ำหนักแห้ง) เป็นร้อยกิโลกรัมต่อวัน ดังนั้น โอกาสจะกินผักที่มีไนเทรตสูงแล้วเป็นอันตรายจึงเกิดได้น้อยมาก

ปุ๋ยเคมีทำให้มีการสะสมโลหะหนัก ปุ๋ยเคมีบางชนิด เช่น ปุ๋ยฟอสเฟตซึ่งผลิตจากหินฟอสเฟต อาจมีโลหะหนักปนเปื้อนมากับแหล่งหินฟอสเฟต แต่ปกติแล้วในการขึ้นทะเบียนปุ๋ย นอกจากจะรับประกันธาตุอาหารหลักแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบการเจือปนของโลหะหนักก่อนที่จะอนุญาตให้นำปุ๋ยเข้ามาจำหน่าย และเคยมีการศึกษาการสะสมโลหะหนักในดินจากแปลงทดลองปุ๋ยในระยะยาวในประเทศไทย พบว่า ในแปลงปุ๋ยเคมีมีการสะสมโลหะหนักน้อยกว่าในแปลงที่ใส่ปุ๋ยอินทรีย์

ใช้ปุ๋ยเคมีทำให้คุณทางทางอาหารและสารออกฤทธิ์ในพืชสมุนไพรลดลง เมื่อพืชได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ทำให้พืชสร้างมวลหรือน้ำหนักแห้งได้มาก ในขณะที่การสร้างสารอาหารรวมทั้งสารออกฤทธิ์ทางยาในพืชสมุนไพรดำเนินได้ตามปกติ เมื่อนำพืชไปวิเคราะห์สารดังกล่าวจึงมีความเข้มข้นต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับต้นพืชที่เจริญเติบโตไม่ดี หรือได้รับปุ๋ยไม่เพียงพอ แต่ถ้าประเมินปริมาณสารทั้งหมดที่มีอยู่จะได้มากขึ้นตามน้ำหนักพืชที่ได้

ปุ๋ยเคมีแพง การใช้ปุ๋ยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มธาตุอาหารพืช การเทียบราคาปุ๋ยจากน้ำหนักทั้งหมดของปุ๋ยจึงไม่สามารถบอกได้ว่าปุ๋ยชนิดนั้นถูกหรือแพง จะต้องเทียบจากราคาต่อน้ำหนักธาตุอาหารที่เท่ากัน สมมุติว่าปุ๋ยยูเรียซึ่งมีไนโตรเจนสูง (46% N) ราคากระสอบ (50 กก.) ละ 600 บาท ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งมีไนโตรเจนต่ำ (2% N) กระสอบ (25 กก) ละ 100 บาท เมื่อคิดต่อปุ๋ย 1 กิโลกรัม ของปุ๋ยเคมีและอินทรีย์เท่ากับ 12 และ 4 บาท ทำให้เข้าใจเสมือนว่าปุ๋ยเคมีแพงกว่า อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่ต้องการจากปุ๋ยคือธาตุอาหาร และในที่นี้คือ ไนโตรเจน เมื่อเทียบว่าใส่ปุ๋ยให้ได้ไนโตรเจน 1 กิโลกรัมเท่ากัน พบว่า ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ เท่ากับ 26 และ 50 บาท ดังนั้น ปุ๋ยเคมีราคาถูกว่าเสมอ เพราะปุ๋ยเคมีมีธาตุอาหารปริมาณที่มากกว่าปุ๋ยอินทรีย์เสมอ สำหรับในระบบเกษตรอินทรีย์ที่ให้ใช้เฉพาะปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุตามธรรมชาติ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงบำรุงดิน เช่น การปลูกปอเทืองบำรุงดินและหลีกเลี่ยงการนำเศษซากพืชออกไปจากพื้นที่ รวมทั้งต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปริมาณมากเพื่อคืนธาตุอาหารให้กับดินไม่น้อยกว่าที่ติดไปกับผลผลิต ถ้าเป็นพื้นที่ขนาดเล็กก็คงสามารถหาแหล่งวัสดุอินทรีย์ได้ไม่ยาก สามารถจะหาปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และมูลสัตว์ตามธรรมชาติ เช่น มูลค้างคาว มูลนกนางแอ่น มาใส่ให้ได้ธาตุอาหารเพียงพอ

มีการประเมินว่า หากใช้มูลสัตว์แทนปุ๋ยเคมีต้องใช้ 8-20 กิโลกรัมจึงได้เท่ากับใส่ปุ๋ยเคมี 1 กิโลกรัม ในขณะถ้าใช้ปุ๋ยหมักต้องใช้มากถึง 44-70 กิโลกรัม การใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยทั่วไปมักแนะนำให้ใช้ 1-2 ตันต่อไร่ ในประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมประมาณ 174 ล้านไร่ จะหาแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ไหนเพื่อให้ได้ปริมาณมากถึง 174-348 ล้านตัน นักวิชาการดินและปุ๋ยทุกคนเห็นความสำคัญของอินทรียวัตถุและเน้นย้ำเสมอว่าให้คืนเศษซากพืชสู่ดิน เช่น การไม่เผาตอซัง รวมทั้งการใส่ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ไม่มีนักวิชาการดินและปุ๋ยคนไหนต่อต้านการใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยเฉพาะดินในประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนมีอินทรียวัตถุต่ำ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงดินให้มีสภาพร่วยซุยเหมาะสมแก่การปลูกพืช และปุ๋ยอินทรีย์ยังให้ธาตุอาหารที่จำเป็นแก่พืชได้ครบทุกธาตุ เพียงแต่มีปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยน้อย จะใส่ให้ได้ธาตุอาหารเท่ากับปุ๋ยเคมีจึงต้องใส่เป็นปริมาณมาก

ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผล การใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวติดต่อกันเป็นเวลา ทำให้พืชได้รับเฉพาะธาตุอาหารหลัก ส่วนธาตุอาหารที่จำเป็นอื่น ๆ ไม่ได้เติมลงไปย่อมจะลดลงจนไม่เพียงพอ จึงทำให้ใส่ปุ๋ยเคมีแล้วไม่ได้ผล แต่ถ้าใส่ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งสามารถเพิ่มธาตุอาหารอื่น ๆ ได้ จึงทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น เสมือนการให้ยาไม่ตรงกับโรคก็จะไม่ได้ผล

จากการชี้นำที่คลาดเคลื่อนทำให้คนเข้าใจว่าปุ๋ยเคมีใช้แล้วไม่ได้ผล เป็นอันตรายสุขภาพ ทำให้ดินเสื่อม อีกทั้งราคาแพง ทำให้คนทั่วไปกังวล และเกษตรกรก็เกิดความไม่มั่นใจ ขอให้ตระหนักไว้เสมอว่าปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีต่างมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด และเนื่องจากดินส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีอินทรียวัตถุต่ำ และดินอยู่ในสภาพที่มีฝนตกชุกทำให้ธาตุอาหารพืชถูกชะล้างสูญเสียไปจากดินได้ง่าย ดินจึงมีธาตุอาหารพืชต่ำหรือมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยเคมีจึงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เรื่องทำนองนี้ทางสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่สอนด้านการเกษตร มีอาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาด้านดินและปุ๋ย รวมทั้งธาตุอาหารพืชโดยตรงจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ต่างค้นคว้าวิจัยและได้ถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้นักศึกษารุ่นแล้วรุ่นเล่า เพื่อให้นำความรู้ดังกล่าวไปใช้ในการบำรุงรักษาดินอย่างเหมาะสมและยั่งยืน แต่ไม่รู้ทำไมความรู้ที่ถูกต้องมันถึงเปลี่ยนไปขนาดนี้ อาจถึงเวลาแล้วที่คนที่รู้จริงทั้งหลายยอมสละเวลาเพื่อไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้ใช้ปุ๋ยโดยตรง ก่อนที่จะยอมทำให้ทรัพยากรดินอันเป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่าของแผ่นดินเสื่อมสภาพจนยากที่จะแก้ไข

ข้อมูลจาก https://mgronline.com/daily/detail/9610000092155

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?