ปุ๋ยและการให้ปุ๋ยไม้ดอก
ปุ๋ย คือ สารอินทรีย์ หรืออนินทรีย์ที่ใส่ลงในดินแล้วสามารถทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี สารนั้น อาจเป็นอาหารพืชโดยตรงหรือมีอาหารพืชอยู่เป็นปริมาณน้อย แต่สามารถปรับปรุงคุณสมบัติของดิน เป็นผลทางอ้อมให้พืชเติบโตก็ได้
ปกติพืชได้อาหารจากหลายทาง
1. ใบพืชมีรูใบอยู่บนผิวนอก พืชดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศเข้าทางรูใบ ก๊าซนี้แพร่กระจายผ่านผนังเซลล์เข้าไปในคลอโรพลาสต์ ซึ่งเป็นเม็ดสีเขียวในพืช แล้วรวมด้วกับนํ้า และพลังงานจากแสงแดดได้เป็นนํ้าตาล กระบวนการสร้างอาหารนี้เรียกว่า การสังเคราะห์แสง
2. พืชดูดน้ำและแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นผ่านทางรากขนอ่อน ซึ่งอยู่ในบริเวณถัดขึ้นมาจากปลายราก บางส่วนของรากแก่ก็ดูดน้ำได้บ้าง นํ้าเข้าไปในรากพืชด้วยกระบวนการออสโมซิส โดยปกตินํ้าในรากพืชจะมีความเข้มข้นกว่าน้ำในดินที่มีสารต่างๆ ละลายอยู่นํ้าในดินจึงซึมผ่านผนังเซลล์ของรากขึ้นไปในลำต้นได้
ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช
การสร้างบ้านต้องใช้วัสดุต่างๆ เช่น อิฐ หิน ปูน เหล็ก ทราย ไม้ กระจก และอื่นๆ ในปริมาณต่างกันแล้วแต่โครงสร้างของบ้าน การเติบโตของพืชก็ต้องอาศัยแร่ธาตุต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุด 16 ธาตุในปริมาณต่างกันแล้วแต่ชนิดพืชเช่นเดียวกัน ถ้าเป็นโครงสร้างที่สำคัญก็ใช้บางธาตุเป็นจำนวนมาก บางธาตุก็ใช้เป็นจำนวนน้อย แต่ทั้ง 16 ธาตุที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นธาตุที่จำเป็นแก่ชีวิตพืชเท่ากัน ถ้าขาดธาตุใดไปหรือได้รับในปริมาณไม่พอจะแสดงอาการผิดปกติ หยุดชะงักการเติบโตและถึงตายได้
ธาตุที่พืชต้องการเป็นปริมาณมาก คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม ซัลเฟอร์ และแมกนีเซียม รวม 9 ธาตุ
ธาตุคาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจนนั้นพืชไดรับจากอากาศและน้ำ อีก 13 ธาตุที่เหลือพืชได้จากดินทางเดียว ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมนั้นพืชต้องการเป็นจำนวนมากเรียกว่า ธาตุอาหารหลัก และโดยปกติในดินมีไม่พอกับความต้องการของพืชจึงต้องเพิ่มให้ในรูปของปุ๋ย
ส่วนแคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์ ซึ่งจำเป็นต่อพืชเช่นเดียวกันแต่พืชต้องการเป็นปริมาณน้อยเรียกว่าธาตุอาหารรอง และมักมีอยูในดินหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ให้ธาตุ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมจึงไม่ค่อยมีปัญหานัก
ธาตุที่จำเป็นอีก 7 ธาตุ แต่พืชต้องการในปริมาณน้อยมากบางครั้งเรียกว่า จุลธาตุ คือ เหล็ก แมงกานีส โบรอน ทองแดง สังกะสี คลอรีน และธาตุสุดท้ายคือ โมลิบดีนัม ซึ่งต้องการในปริมาณน้อยที่สุดคือ น้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน ธาตุเหล่านี้มักมีอยู่ในดินบ้างแล้ว จะมีไม่พอก็ต่อเมื่อดินนั้นใช้ปลูกพืชติดต่อกันนานๆ หรือเป็นดินทราย ดินด่างที่ไม่ได้รับการปรับปรุง
ธาตุอาหารพืชที่มีอยู่ในดิน มีอยู่ในหลายรูปแบบดังนี้
1. รวมอยู่กับธาตุอื่นในหินและแร่
2. มีอยู่ในอินทรียวัตถุในดิน ต้องอาศัยจุลินทรีย์เป็นตัวย่อยแร่ธาตุต่างๆ ออกมา
3. ถูกยึดอยู่ที่ผิวของแร่ และอินทรียวัตถุในสภาพประจุไฟฟ้า และถูกดูดไปใช้เมื่อละลายในน้ำในดิน
4. ละลายอยู่กับนํ้าในดิน
พืชสามารถเอาไปใช้ได้ทุกวิธีที่กล่าวมา เรียงลำดับตามความยากลงมาหาความง่ายคือ ถ้าละลายอยู่กับน้ำในดินจะเป็นสภาพที่พืชนำไปใช้ได้ง่ายที่สุด
การที่พืชแสดงอาการขาดธาตุอาหาร มักเกิดจากสาเหตุใหญ่ 2 ประการคือ
ก. ธาตุเหล่านั้นมีน้อยเกินไปในดิน คือ มีไม่พอ
ข. มีอยู่มาก แต่อยู่ในรูปที่พืชเอาไปใช้ไม่ได้ เช่น ถูกตรึงไว้กับแร่อื่นแล้วไม่ละลายน้ำ หรือละลายน้ำได้น้อยมาก หรือมีอยูในอินทรียวัตถุที่สลายตัวยากหรืออยู่ในสารเคมีที่ละลายน้ำยากมาก อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารต่ำมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของพืช เปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ คือ อาหารเหล่านั้นอยู่ในขวดใหญ่แต่มีคอแคบฝังอยู่ในดิน แม้จะมีอาหารจำนวนไม่น้อยแต่เอาไปใช้ประโยชได้ น้อยมาก นอกจากนี้ความเป็นกรดเป็นด่างของดินก็มีผลต่อการละลายของธาตุอาหารพืชด้วย
ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เป็น 3 ธาตุหลักที่จำเป็นต่อการเติบโตของพืชและพืชต้องการเป็นปริมาณมาก โดยปกติปุ๋ยที่จำหน่ายตามท้องตลาดมี 3 ธาตุนี้เป็นหลัก ผู้ปลูกควรรูถึงความสำคัญของนั้ง 3 ธาตุนี้ เพื่อจะได้มีความมั่นใจในการใช้ปุ๋ยว่าควรใช้ปุ๋ยอะไร และใช้เมื่อใดจึงจะได้ผลเต็มที่
ไนโตรเจน
ในอากาศมีก๊าชไนโตรเจนอยู่ 78℅ บริเวณเหนือพื้นที่ 2 ไร่ครึ่งที่ระดับน้ำทะเลมีไนโตรเจนอยู่ถึง 34, 500 ตันในบรรยากาศ แต่ไนโตรเจนดังกล่าวอยู่ในรูปของก๊าซเฉื่อยไม่ทำปฏิกิริยากับธาตุอื่น ไนโตรเจนที่พืชสามารถเอาไปใช้ได้ต้องอยู่ในรูปของอนุมูลไนเตรต เช่นเวลาเกิดฟ้าแลบจะออกซิไดส์ ไนโตรเจนในอากาศให้เป็นไนเตรตแล้วฝนชะพาลงดิน หรือพืชตระกูลถั่วมีบักเตรีชื่อ ไรโซเบียมสามารถจับไนโตรเจนจากอากาศมาเปลี่ยนเป็นไนเตรตได้ อนุมูลไนเตรตละลายน้ำได้ดี และเคลื่อนที่ได้ดีในดินทำให้ถูกชะล้างไปได้ง่ายมาก
อินทรียวัตถุที่ใส่ลงในดินมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบอยู่ประมาณ 5 – 6% แต่อยู่ในรูปของ โปรตีนที่ซับซ้อนซึ่งพืชเอาไปใช้ไม่ได้แต่จุลินทรีย์สามารถย่อยสลายให้ได้อนุมูลไนเตรต และแอมโมเนียมที่พืชนำไปใช้ได้ อนุมูลแอมโมเนียมเคลื่อนที่ได้ช้ากว่าและถูกชะล้างได้น้อยกว่าอนุมูลไนเตรต
ไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพืชคือ โปรตีนซึ่งมีอยู่ตามส่วนที่กำลังเติบโต เช่น ปลายยอด ตาใบ และใบที่เพิ่งเริ่มคลี่ นอกจากนั้นยังอยู่ในคลอโรฟิลล์ ซึ่งทำหน้าที่รับพลังงานจากแสงแดดมาสร้างอาหารและเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ในพืชช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของยอดอ่อน ใบและกิ่งก้าน พืชจึงต้องการไนโตรเจนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะเมื่อต้นกำลังเติบโต ถ้าได้รับพอเพียง ใบพืชจะมีสีเขียวสด ลำต้นแข็งแรง โตเร็วและออกดอกผลที่สมบูรณ์ ขณะที่พืชกำลังเติบโตมีการสร้างเซลล์ใหม่ โปรตีนจะเคลื่อนย้ายจากเซลล์ที่มีอายุมาก เช่น จากใบแก่ไปที่ใบอ่อน ถ้าไนโตรเจนมีไม่พอ ในช่วงนี้ใบอ่อนจะดึงไนโตรเจนจากใบแก่ทำให้ใบเหลืองและร่วง
พืชได้รับไนโตรเจนจากหลายทาง คือ จากบรรยากาศ แต่ต้องมีตัวเปลี่ยนให้เป็น ไนเตรต โดยรวมไนโตรเจนกับออกซิเจน หรือรวมไนโตรเจนกับไฮโดรเจนให้เป็นแอมโมเนีย จากอินทรียวัตถุ โดยจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายให้จากแร่ธาตุในดินเป็นปริมาณเล็กน้อย และสุดท้ายคือได้จากปุ๋ยที่ให้กับพืชโดยตรง
ตัวอย่างปุ๋ยไนโตรเจน
1. โซเดียมไนเตรต NaN03 (ไนโตรเจน 16℅) เป็นปุ๋ยไนเตรตที่ดีแต่ราคาแพง
2. แอมโมเนียมไนเตรต NH4 NO3 (ไนโตรเจน 33%) มีแอมโมเนียมครึ่งหนึ่งอีกครึ่งหนึ่ง เป็นไนเตรต เป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่นิยมใช้กันมาก
3. แอมโมเนียมซัลเฟต (NH4)2 SO4 (ไนโตรเจน 21%) ให้แอมโมเนียมแต่จะทำให้ดินเป็นกรดถ้าใช้ติดต่อกันนาน
4. แคลเซียมไ:ยานามีด CaCN2 (ไนโตรเจน 21%) ให้ไนโตรเจนในรูปที่ไม่ถูกชะล้างไปง่าย
5. ยูเรีย CO(NH2)2 (ไนโตรเจน 46%) ให้แอมโมเนียมเมื่อใส่ลงในดิน
ปุ๋ยแคลเซียมไซยานามีดและโซเดียมไนเตรต เป็นปุ๋ยไนโตรเจนที่มีปฏิกิริยาเป็นด่าง ปุ๋ยอื่นๆ มีปฏิกิริยาเป็นกรดจากน้อยไปถึงมากเรียงตามลำดับดังนี้ แอมโมเนียมไนเตรต ยูเรีย และแอมโมเนียมซัลเฟต
ฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัสเป็นธาตุที่มีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งอ่อนนุ่มสามารถติดไฟได้ถ้าได้รับอากาศ จึงต้องเก็บรักษาไว้ใต้น้ำ ชื่อฟอสฟอรัสได้มาจากคุณสมบัติของธาตุนี้ที่เรืองแสงในความมืด การใช้สารที่มีฟอสฟอรัสเพื่อปรับปรุงดินมีมานานแล้ว ชาวอังกฤษใส่กระดูกสัตว์ปนในดินปลูกตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17
เป็นที่ทราบกันดีว่าฟอสฟอรัสเป็นหนึ่งในอาหารหลักของพืช ช่วยกระตุ้นการเติบโตของรากในต้นกล้า ทำให้ต้นเติบโตเร็วและแข็งแรง ออกดอกผลเร็ว ติดเมล็ดและผลได้มาก ถ้ามีพอพืชจะให้ดอกดก มีสีสวย ถ้าเป็นไม้ดอกหอมจะมีกลิ่นหอมมากขึ้น ระบบรากจะแข็งแรงและแพร่กระจายในดินได้กว้างขวาง ดูดนํ้าและอาหารได้ดี ถ้ามีไม่พอฟอสฟอรัสจะเคลื่อนย้ายจากเนื้อเยื่อที่แก่กว่าไปยังเนื้อเยื่อที่เพิ่งเจริญ อาการขาดจะเกิดขึ้นที่ใบล่างๆ ที่แก่แล้วคือใบจะมีสีม่วงจนแดง หรือมีสีเขียวคลํ้าและรากไม่เจริญ ลำต้นแคระเกร็น และไม่ออกผล
ฟอสฟอรัสในดินได้มาจากการสลายตัวผุพังของแร่บางชนิด เช่น แร่อพาไทต์ (สารประกอบของแคลเซียมฟอสเฟต และฟลูออไรด์) และสารประกอบเหล็กกับอะลูมิเนียมฟอสเฟต นอกจากนั้นฟอสฟอรัสมีอยู่ในอินทรียวัตถุที่เป็นสารประกอบซับซ้อนเช่นปุ๋ยคอก กระดูกป่นซึ่งสามารถปลดปล่อยฟอสฟอรัสออกมาเป็นประโยชน์กับพืชได้บ้างแต่เป็นจำนวนน้อยมากเช่นเพียง 1 ส่วนในล้านส่วน ฟอสฟอรัสในดินที่จะเป็นประโยชน์แก่พืชได้ต้องอยู่ในรูปของอนุมูลฟอสเฟตซึ่งละลายนํ้าหรือกรดอ่อน อยู่ในดิน ปกติพืชต้องการฟอสฟอรัสเป็นปริมาณน้อยกว่าไนโตรเจน แต่พืชก็มักมีปัญหาขาดฟอสฟอรัสทั้งๆ ที่เมื่อวิเคราะห์ดินแล้วพบว่ามีฟอสฟอรัสอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ที่เป็นดังนี้เพราะเมื่อฟอสฟอรัส ถูกปลดปล่อยจากแร่ สารประกอบอินทรีย์หรือปุ๋ย อาจรวมกับแคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก อะลูมิเนียม ที่มีอยูในดินหรือถูกดูดซึมโดยจุลินทรีย์ หรือถูกดูดยึดไว้ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียว กระบวนการเหล่านี้ เราเรียกว่า ฟอสฟอรัสถูกตรึงไว้เป็นสารประกอบที่ละลายนํ้ายาก และละลายช้ามากเคลื่อนที่ได้น้อยไปไม่ถึงรากพืช เวลาที่เราใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสลงในดิน บางส่วนจะถูกตรึงทันที มีผู้คำนวณไว้ว่าพืชเอาไปใช้ได้เพียง 10 – 20% เท่านั้น ฟอสฟอรัสจึงเป็นธาตุเดียวที่รักษายากที่สุดในสภาพธรรมชาติ
ความเป็นกรดหรือเป็นด่างของดินเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่ในรูปที่พืชเอาไปใช่ได้ของฟอสฟอรัส pH ระหว่าง 6.5 – 7.5 จะมีแนวโน้มได้สารประกอบแคลเซียมฟอสเฟต และฟอสเฟตอื่นซึ่งละลายอยู่ในนํ้าหรือกรดอ่อนๆ ในดินที่พืชเอาไปใช้ได้ ถ้าดินเป็นกรดมากหรือมี pH ต่ำกว่า 6 จะเกิดเหล็ก ฟอสเฟตซึ่งพืชเอาไปใช้ยาก
ตัวอย่างปุ๋ยฟอสฟอรัส
ฟอสฟอรัสเป็นส่วนหนึ่งของหินฟอสเฟต (rock phosphate) ซึ่งเป็นสารประกอบที่ซับช้อนของแคลเซียมคาร์บอเนตและอื่นๆ ในกระบวนการอุตสาหกรรมจะขุดสารนี้ขึ้นมาแล้วนำมาทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันหรือกรดฟอสฟอริกให้เป็นปุ๋ยฟอสฟอรัส
1. ซุบเปอร์ฟอสเฟต (กรดฟอสฟอริก 20% ฟอสฟอรัส 8.8%)
-ได้มาจากหินฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับกรดกำมะกัน
-ปุ๋ยทางการค้ามีแคลเซียมซัลเฟต(ยิปซัม) อีก 48% และมีธาตุอื่นที่จำเป็นแก่การเติบโตของพืชอีกเป็นจำนวนเล็กน้อย
2. ทริเปิล ซูเปอร์ฟอสเฟต (กรดฟอสฟอริก 48% ฟอสฟอรัส 21%)
-ได้มาจากหินฟอสเฟตทำปฏิกิริยากับกรดฟอสฟอริก
-มีสารประกอบแคลเซียม และธาตุอื่นๆ อีกเป็นปริมาณเล็กน้อย
3. โมโนแอมโมเนียมฟอสเฟต NH4 H2PO4 (ให้ไนโตรเจน 11% กรดฟอสฟอริก 48%) และไดแอมโมเนียมฟอสเฟต (NH4)2HPO4 (ให้ไนโตรเจน 21% และกรดฟอสฟอริก 53%)
เนื่องจากฟอสฟอรัสถูกตรึงในดินได้ง่าย วิธีแก้ไขหรือช่วยให้พืชนำไปใช้ได้มากขึ้นคือ
1. เนื่องจากฟอสฟอรัสเคลื่อนที่ได้น้อยมาก เวลาใส่ปุ๋ยควรใส่เป็นแถบในบริเวณใกล้ราก
2. คลุกปุ๋ยฟอสฟอรัสกับดินในหลุมปลูก แล้วใส่คืนลงกันหลุมบริเวณใกล้ราก
3. ให้อินทรียวัตถุเช่นปุ๋ยคอกและปุ๋ยพืชสด จุลินทรีย์ย่อยแล้วจะปลดปล่อยฟอสฟอรัสให้พืชได้บ้าง
4. ฟอสฟอรัสที่จะเป็นประโยชน์แก่พืชต้องละลายอยู่ในนํ้าหรือกรดอ่อน ๆ จึงควรให้น้ำแก่พืชอย่างสม่ำเสมอ
5. พยายามรักษา pH ของดินให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง เพราะดินกรดจะตรึงฟอสฟอรัสมากกว่าดินที่เป็นกลางหรือด่างอ่อนในสภาพที่มีเนื้อดินชนิดเดียวกัน
โพแทสเซียม
โพแทสเซียมที่บริสุทธิ์เป็นโลหะอ่อนนุ่มสีขาว มีความว่องไวมากในการทำปฏิกริยา คือ สามารถรวมตัวกับหลายธาตุและหลายสารประกอบ เวลาเก็บรักษาจึงต้องแช่ไว้ในนํ้ามันก๊าด สัญลักษณ์ K ของ โพแทสเซียมได้มาจาก Kalium ซึ่งเป็นชื่อเรียกธาตุนี้ในภาษาเยอรมัน
บางครั้งมีผู้เรียกโพแทสเซียมว่า potash ซึ่งมาจากคำว่า pot-ash เพราะในสมัยก่อนเวลาทำสบู่มีการเผาไม้และอินทรียสารในหม้อแล้วล้างขี้เถ้าด้วยน้ำ น้ำที่ได้ปล่อยให้ระเหยไปส่วนที่เหลือ คือเกลือของโพแทสเซียม
ในดินทั่วๆ ไปมีโพแทสเซียมอยู่ประมาณ 2 – 3% แล้วในธรรมชาติ โพแทสเซียมในดินได้มากจากการสลายตัวของหินและแร่หลายชนิดเช่น แร่ไมคา มัสโคไวท์ ไบโอไทต์ และ เฟลสปาร์ เป็นต้น ในดินเหนียวมักมีธาตุนี้เป็นปริมาณมากเนื่องจากถูกดูดยึดไว้ที่ผิวของอนุภาค และในอินทรียวัตถุก็มี โพแทสเซียมอยู่ด้วย
โพแทสเซียมช่วยให้ลำต้นพืชแข็งแรง มีระบบรากดี สามารถดูดซับธาตุอาหารได้มาก ช่วยเพิ่มความต้านทานโรค ทำให้ทนทานสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โพแทสเซียมมีความสำคัญในกระบวนการสร้างอาหารและเคลื่อนย้ายพวกแป้งและนํ้าตาลไปเลี้ยงส่วนที่เติบโตและส่งไปเก็บไว้ที่หัวและลำต้น ช่วยให้เมล็ดมีคุณภาพดี ถ้าเป็นพืชน้ำมันจะช่วยสร้างนํ้ามันในเมล็ด ถ้าพืชขาดโพแทสเซียมจะเติบโตน้อยลงกว่าปกติ รากเจริญช้า ต้นพืชอ่อนแอและผลไม่เติบโต
พืชต้องการใช้โพแทสเซียมเป็นปริมาณ 3-4 เท่าของฟอสฟอรัส ดินส่วนมากมีโพแทสเซียมในรูปที่พืชเอาไปใช้ไม่ได้เสีย 98% ส่วนที่เหลือ 1 – 2% นั้นไม่พอกับความต้องการของพืช นอกจากนี้โพแทสเซียมในดินยังละลายน้ำได้ทันทีและเคลื่อนย้ายได้ง่ายจึงถูกชะล้างไปง่ายมาก เวลาปลูกต้นไม้ในกระถางซึ่งนิยมใช้ดินร่วนและเบาจึงควรระวัง
โพแทสเซียมที่พืชนำไปใช้ได้ต้องอยูในรูปของโพแทสเซียมไอออนคือ K+ หรือ โพแทสเซียม ในรูปที่ละลายน้ำได้ (K2O)
ตัวอย่างปุ๋ยโพแทสเซียม
1. โพแทสเซียมคลอไรด์ KC1 หรือ มิวริเอตของโปแตช (Muriate of Potash) (60% K2O, 50% K)
2. โพแทสเซียมชัลเฟต K2SO4 (50% K2O, 41% K) มักใส่ให้กับพืชที่ไม่ชอบคลอรีน
แคลเซียม
เป็นส่วนประกอบของหินและแร่หลายชนิดโดยเฉพาะหินปูนชนิดต่างๆ มีหน้าที่ในการเร่งการเจริญของราก ทำให้ใบเติบโตเป็นปกติ ช่วยในการแบ่งเซลล์ การผสมเกสร การงอกของเมล็ดและช่วยให้เอนไซม์บางชนิดทำงานได้ดี ป้องกันพืชไม่ให้มีการสะสมสารพิษ อาการขาดธาตุแคลเซียมคือ ใบใหม่ ๆ หงิก ตายอดไม่เจริญ รากสั้น ผลแตกและมีคุณภาพไม่ดี
แมกนีเซียม
ที่มาของแมกนีเซียมในดินคือ โดโลไมท์และหินแร่หลายชนิด ธาตุแมกนีเซียมจำเป็นสำหรับพืชเพราะเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของคลอโรฟิลล์ช่วยสังเคราะห์กรดอะมิโน วิตามิน ไขมัน และน้ำตาล ทำให้สภาพกรดและด่างในเชลล์เหมาะสม ช่วยในการงอกของเมล็ด ช่วยเคลื่อนย้ายคาร์โบไฮเดรตในพืช และเป็นตัวพาฟอสฟอรัสในพืช ถ้าขาดแมกนีเซียมใบแก่จะเหลืองยกเว้นตรงเส้นใบ ใบจะร่วงหล่นเร็วกว่าที่ควร
กำมะถัน (ซัลเพฟอร์)
แหล่งที่มาของกำมะถันคือ หินและแร่ซัลไฟด์ ปุ๋ยเช่นซูเปอร์ฟอสเฟตและสารประกอบอินทรีย์ต่างๆ ซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบของโปรตีนและวิตามิน มีอิทธิพลต่อการสร้างคลอโรฟิลล์ ทำให้เกิดการสร้างปมในพืชตระกูลถั่ว ถ้าพืชขาดกำมะถัน ใบทั้งด้านบนและด้านล่างจะมีสีเหลืองซีด ต้นอ่อนแอ
เหล็ก
ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์แสง และการหายใจด้วย
แมงกานีส
ช่วยในการสังเคราะห์แสงและการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
โบรอน
ช่วยในการออกดอก ผสมเกสร และติดผล ช่วยเคลื่อนย้ายนํ้าตาลและฮอร์เมน
ทองแดง
ช่วยในการสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ การหายใจ การใช้โปรตีนและ
คาร์โบไฮเดรต ช่วยการทำงานของเอนไซม์บางชนิด
สังกะสี
ช่วยในการสังเคราะห์ฮอร์โมนออกซิน สังเคราะห์คลอโรฟิลล์ และคาร์โบไฮเดรต
โมลิบดีนัม
ช่วยให้พืชใช้ไนเตรตให้เป็นประโยชน์ ช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน
คลอรีน
มีบทบาทเกี่ยวกับฮอร์โมนในพืช
ถ้าพืชต้องการธาตุอาหารบางชนิดเป็นจำนวนมากและโดยปกติในดินมีอยู่ไม่พอ หรือมีอยู่แต่พืชนำไปใช้ได้น้อยเกินไปไม่พอเพียงกับความต้องการพืช เราเพิ่มให้โดยการใส่ปุ๋ย ปุ๋ยมีสองชนิดคือ ปุ๋ย วิทยาศาสตร์และปุ๋ยอินทรีย์
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์
เป็นปุ๋ยที่ผลิตขึ้นโดยกรรมวิธีทางเคมี บางครั้งเรียกว่า ปุ๋ยเคมี มีหลายชนิดด้วยกันเช่น
ปุ๋ยเดี่ยว ให้ธาตุอาหารชนิดเดียว เช่น ปุ๋ยยูเรีย ให้ไนโตรเจน 45% ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตให้ฟอสฟอรัส 20 % และปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต ให้โพแทสเซียม 50% ปุ๋ยเดี่ยวมีความเข้มข้นสูงมากและ ละลายน้ำได้ดีมาก
ปุ๋ยผสม ได้จากการเอาปุ๋ยเดี่ยวมาผสมกัน เช่น ปุ๋ย NPK สูตร 10-10-10 หมายความว่า ปุ๋ยนี้ 100 กิโลกรัมมีไนโตรเจนในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ 10 กิโลกรัม มีฟอสฟอรัสในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ 10 กิโลกรัม และมีโพแทสเซียมในรูปที่พืชนำไปใช้ได้ 10 กิโลกรัม
ปุ๋ยวิทยาศาสตร์เป็นปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารแก่พืชโดยตรง ได้ผลเร็ว แต่ไม่ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของดิน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ได้มาจากสารธรรมชาติที่เราขุดขึ้นมาจากดิน เอามาทำให้บริสุทธิ์แล้วบดให้ละเอียด เช่น หินฟอสเฟต โซเดียมไนเตรต ปูน ยิปซัม แร่ทองแดง เป็นต้น อีกวิธีหนึ่งคือ มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น เช่น ซุปเปอร์ฟอสเฟต แอมโมเนียมซัลเฟต ยูเรีย โพแทสเซียมซัลเฟต เป็นต้น
ธาตุอาหารของพืช
ปุ๋ยอินทรีย์
ได้มาจากสิ่งที่มีชีวิตในธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด กระดูกป่นและอื่นๆ ปุ๋ยอินทรีย์เป็นที่มาของธาตุอาหารพืช แต่มีในปริมาณน้อยกว่ามาก เช่น มูลไก่ 1 ตัน (1,000 กิโลกรัม) มีไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์แก่พืชเพียง 13 – 15 กิโลกรัม แต่ปุ๋ยอินทรีย์มีข้อดีพิเศษคือ สามารถปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ทำให้ร่วนซุยและอุ้มนํ้าได้ดี อันที่จริงแล้วการที่เราใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงในดิน มีจุดประสงค์ที่จะช่วยให้ดินดีขึ้นมากกว่าจะให้ธาตุอาหาร เพราะปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยอินทรีย์มีน้อยไม่พอกับความต้องการของพืช การปลูกไม้ดอกถ้าจะให้ผลดีเยี่ยมแล้วควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใส่ลงในดิน เมื่อปลูกแล้วจึงให้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุอาหารในปริมาณพอควรอีกด้วย
ปุ๋ยคอก ได้มาจากอุจจาระและปัสสาวะของสัตว์ มีธาตุอาหารหลายชนิดแต่ปริมาณน้อย คุณค่าของปุ๋ยคอกขึ้นอยู่กับชนิดและอายุของสัตว์อาหารที่ใช้เลี้ยงและวิธีการเก็บรักษา(ดูตารางประกอบ) การใส่ปุ๋ยคอกไม่ควรใช้ปุ๋ยคอกสด แม้ว่าธาตุอาหารจะสูงกว่าเพราะเป็นอันตรายต่อรากพืช การใส่ปุ๋ยคอกที่สลายตัวดีแล้วจะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดิน ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้ดีขึ้น และเพิ่มจุลินทรีย์ซึ่งช่วยหาอาหารให้พืชด้วย
การเก็บรักษาปุ๋ยคอกควรใช้ฟาง ขี้เลี่อย หรือแกลบรองรับมูลและปัสสาวะสัตว์ เพื่อดูดซับเอาส่วนของปุ๋ยที่ละลายน้ำไว้ไม่ให้สูญหายไป ควรกองปุ๋ยคอกให้แน่นไม่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก จุลินทรีย์จะช่วยย่อยให้สลายตัวได้เร็วกว่า
ปุ๋ยหมัก ได้จากการสลายตัวของสิ่งมีชีวิต เช่น ฟางข้าว ใบไม้ เศษหญ้า วัชพืช เศษผัก เปลือกผลไม้ ขี้เลื่อย กากพืช เปลือกถั่วและอื่นๆ การกองปุ๋ยหมักใช้เองเป็นการใช้เศษพืชและสิ่งที่เหลือใช้ในครัวให้เป็นประโยชน์ การทำปุ๋ยหมักไม่ยากเพียงแต่ต้องรอให้วัสดุเหล่านั้นสลายตัวดีจึงจะนำมาใช้ได้เท่านั้น วิธีทำคือนำมากองให้กว้างประมาณ 1.5 เมตร ยาวประมาณ 3 เมตรบนดินเหนียวหรือพื้นที่ที่ลาดเอียงเพียงเล็กน้อยเพื่อกันน้ำขัง กองให้หนาสัก 2 คืบ แล้วโรยดินหรือปุ๋ยคอก ชั้นต่อไปกองอินทรียวัตถุให้หนาอีก 2 คืบ แล้วโรยดินหรือปุ๋ยคอกข้างบน ทำเช่นนี้ให้สูงขึ้นไปประมาณ 1.5 เมตร ชั้นบนสุดคลุมด้วยดินหนา 2 – 3 นิ้ว แล้วรดนํ้าให้ชุ่มเพื่อให้เกิดการเน่าเปื่อยเร็วขึ้น ควรคลุกกองปุ๋ย หมักทุกๆ 1 เดือน ดูแลให้ชื้นอยู่เสมอ ถ้าอากาศร้อนกองปุ๋ยหมักจะสลายตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้ใน 3 – 4 เดือน ถ้าอากาศหนาวอาจต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือนหรือกว่านั้น ควรรอให้สลายตัวดีจนมองไม่เห็น ว่าเดิมเป็นวัสดุใดแล้วจึงจะเหมาะ เพราะจะได้ฮิวมัสซึ่งช่วยปรับปรุงดินได้ดีมาก อนึ่ง โดยปกติอินทรียวัตถุมีไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบ จุลินทรีย์จะเข้าย่อยกองปุ๋ยได้อนุมูลไนเตรตและแอมโมเนียม ถ้าฝนตกบ่อยหรือให้น้ำมากเกินไป จะชะล้างธาตุอาหารให้หายไปอย่างน่าเสียดายจึงควรกองปุ๋ยหมักในที่บังฝนให้ด้วย
ปุ๋ยพืชสด ได้มาจากการไถกลบพืชสดที่ปลูกอยู่บนดินแล้วปล่อยทิ้งไว้ไห้เน่าเปื่อยต่อไป ถ้าปลูกหญ้าหรือพืชอื่นแล้วไถกลบจะไม่ได้ประโยชน์เท่ากับการปลูกแล้วไถกลบพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากถั่วมีปมที่ราก ในปมมีบักเตรีชื่อไรโซเบียมซึ่งสามารถจับก๊าซไนโตรเจนจากอากาศมาอยู่ในรูปของไนเตรต เก็บไว้ในปมราก เมื่อไถกลบจะเป็นการเพิ่มปุ๋ยไนโตรเจนให้แก่ดิน ระยะที่ถั่วกำลังออกดอกเป็นระยะที่มีการสะสมไนโตรเจนสูงสุดจึงควรไถกลบช่วงนั้น ถ้าดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ให้ใส่ปุ๋ยระหว่างที่พืชเติบโตจะทำให้เติบโตเร็วและเพิ่มความอุดมของดิน
กระดูกป่น มีความเป็นด่างเล็กน้อย ถ้าใส่ลงในดินที่เป็นกรดจะช่วยปรับ pH ของดินด้วย นอกเหนือจากการให้ธาตุอาหารพืช
กากเมล็ดฝ้าย มีปฎิกิริยาเป็นกรดมี NPK ในอัตราส่วนประมาณเท่ากับ 7:3:2 และควรใส่ในดินในอัตรา 1-2 กิโลกรัมต่อหนึ่งตารางเมตร ปุ๋ยนี้เหมาะมากกับไม้ดอกที่ชอบดินกรด เช่น อเซเลีย โรโดเดนดรอน และคามีเลีย
ปุ๋ยเลือด คือ เลือดแห้งได้จากโรงฆ่าสัตว์ มีไนโตรเจนสูงมาก และให้ธาตุเหล็กด้วย
ปุ๋ยปลา ได้จากการเอาปลามาบดละเอียด มีกลิ่นแรง แต่เมื่อใส่ไปในดินกลิ่นจะหายไปใน 1 – 2 วัน ควรใช้แต่น้อยเพราะมีไนโตรเจนสูงมาก ให้ระวังรากไหม้
อินทรียวัตถุอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้แก่ ขุยมะพร้าว ซังข้าวโพดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขี้กบ แกลบ(เปลือกข้าว) ถ่านแกลบ ชานอ้อย เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติในการใส่ปุ๋ยกับไม้ดอก
ในปุ๋ยมีเกลือของแร่ธาตุ เมื่อเราใส่ปุ๋ยลงในดิน ปุ๋ยจะละลายกับน้ำในดินแตกตัวเป็นไอออน รากพืชจะดูดสารละลายไปใช้ได้เมื่อสารละลายเจือจางกว่านํ้าในเซลล์รากถ้าสารละลายมีความเข้มข้นมาก รากจะดูดเข้าไปไม่ได้และเสียน้ำในรากออกมาเจือจางสารละลาย ถ้าเข้มข้นมากรากอาจเสียน้ำมากจนถึงตาย เราเรียกว่า อาการรากไหม้ ยิ่งปุ๋ยที่ละลายนํ้าได้ดีมาก ยิ่งต้องระวังและใช้แต่น้อย การใส่ปุ๋ยมากเกินไปพืชอาจตายแทนที่จะเติบโต
วิธีการให้ปุ๋ย
1. คลุกปุ๋ยกับดินก่อนปลูกต้นไม้ลงไป
2. สำหรับต้นกล้าไม้ดอกที่เพิ่งเอาออกปลูกในแปลง ควรทำร่องห่างจากต้นประมาณ 2-3 นิ้วและลึก 3-4 นิ้ว โรยปุ๋ยเป็นแถบลงไปในร่องนั้นแล้วเอาดินกลบ หรือจะโรยเป็นแถบในร่องลึกรอบๆ ต้นก็ได้
3. เมื่อต้นโตแล้ว โรยปุ๋ยไปข้างๆ ต้นห่างจากต้นประมาณ 6-8 นิ้ว ใช้เสียมเล็กๆ คลุกปุ๋ยกับดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
4. การให้ปุ๋ยทางใบซึ่งพืชจะดูดไปใช้ได้เลย วิธีนี้เป็นการเสริมกับการให้ปุ๋ยทางรากทำให้ต้นไม้ได้รับปุ๋ยครบถ้วนและเห็นผลเร็วโดยเฉพาะเมื่อย้ายต้นกล้าไปปลูกใหม่ๆ รากยังไม่ทันตั้งตัวดี ใบจะดูดปุ๋ยที่ให้ทางใบทำให้เติบโตได้เร็ว
การใช้ปุ๋ยควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
1. ควรใส่ปุ๋ยในระยะเวลาที่เหมาะกับการเติบโตของพืช เช่น ไนโตรเจนช่วยเร่งการเจริญเติบโต ควรใส่หลังจากปลูกประมาณ 3-7 วัน และให้ต่อไปอาทิตย์ละครั้ง เพื่อให้ต้นสร้างใบและกิ่งก้าน หรือแตกกอดีเสียก่อน จนเมื่อเริ่มเกิดตาดอกจึงควรเร่งด้วยฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมอีก 7-10 วัน/ ครั้ง เพื่อให้ได้ดอกที่มีคุณภาพดี
2. เมื่อให้ปุ๋ยควรให้น้ำตามไปด้วย เพราะนํ้าจะเป็นตัวทำละลายหรือทำให้ปุ๋ยแตกตัวอยู่ในรูปของอนุมูลที่พืชจะนำไปใช้ได้ จึงให้ปุ๋ยโดยการหว่านแล้วรดน้ำตามไป หรือละลายปุ๋ยในน้ำแล้วรดวิธีใดก็ได้แล้วแต่สะดวก
3. ก่อนให้ปุ๋ยควรกำจัดวัชพืชเสียก่อน เพื่อปุ๋ยที่ให้ไปจะมีประสิทธิภาพเต็มที่ มิฉะนั้น วัชพืชจะแย่งใช่ปุ๋ยนั้น
4. สภาพดินควรใกล้ความเป็นกลางมากที่สุด ถ้าดินเป็นกรดหรือด่างมากปุ๋ยจะถูกตรึงในดินได้ง่าย ทำให้พืชได้รับปุ๋ยไม่เต็มที่
5. ปัจจุบันปุ๋ยมีราคาแพง การใช้ปุ๋ยมากผลที่ได้ไม่คุ้มทุน จึงควรใช้ให้ถูกวิธีแต่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด พยายามใช้ปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก และใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์แต่พอควร
ข้อมูลจาก https://www.thaikasetsart.com/การให้ปุ๋ยไม้ดอก/
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น