ปุ๋ยจริง ปุ๋ยปลอม ต่างกันอย่างไร

ปุ๋ย คือ วัสดุที่ใส่ลงไปในดินเพื่อเพิ่มเติมธาตุอาหารให้กับพืช โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อชดเชยธาตุอาหารในดินที่หายไปกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจากพื้นที่จึงจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมหาศาล และการปรับปริมาณการใช้เพื่อให้เกิดความสมดุลของแต่ละธาตุทำได้ลำบาก ยากต่อการปฏิบัติของเกษตรกรโดยทั่วไป ดังนั้นแนวทางที่ดีและเหมาะสมสำหรับการใช้ที่ดินผลิตพืชเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดบนรากฐานที่ยั่งยืนควรมีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับการจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสม ประหยัด และมีประสิทธิภาพ

โดยปุ๋ยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

ปุ๋ยเคมี เป็นสารประกอบที่ผลิตจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี ซึ่งธาตุอาหารที่มีอยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปที่พืชดูดกินได้ทันทีเมื่อละลายน้ำ หรือใส่ลงดิน เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ ฯลฯ เป็นต้น ปุ๋ยเคมี สามารถแบ่งได้เป็น

1.1 ปุ๋ยไนโตรเจน (N) ได้แก่ ปุ๋ยที่ให้ธาตุอาหารไนโตรเจนเป็นหลัก เช่น ปุ๋ยยูเรีย ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน 46 % หรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต ซึ่งมีธาตุไนโตรเจน 21 %

1.2 ปุ๋ยฟอสฟอรัส (P) ได้แก่ ปุ๋ยที่ให้ธาตุฟอสฟอรัสเป็นหลักได้แก่ ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟตซึ่งมีฟอสฟอรัส 46 % หรือปุ๋ยไดแอมโมเนียมฟอสเฟต ซึ่งมีฟอสฟอรัส 46 % และมีไนโตรเจน 18 %

1.3 ปุ๋ยโพแทสเซียม (K) ได้แก่ ปุ๋ยที่ให้โพแทสเซียมเป็นหลักได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์มีโพแทสเซียม 60 % หรือปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟตมีโพแทสเซียม 50 %

ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นวัสดุที่ได้มาจากสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งธาตุอาหารส่วนใหญ่อยู่ในรูปที่พืชดูดกินไม่ได้ ต้องผ่านการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์เสียก่อน เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เลือดแห้ง เศษเนื้อพังผืด กากเมล็ดฝ้าย กากเมล็ดละหุ่ง กากน้ำปลา กระดูกป่น หินฟอสเฟต ฯลฯ เป็นต้น

ปุ๋ยปลอมและปุ๋ยด้อยมาตรฐานเป็นอย่างไร จากการที่ประเทศไทยยังผลิตปุ๋ยเคมีได้ในปริมาณไม่เพียงพอต่อการใช้ จึงต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศมาจำหน่าย หรือมาผสมเป็นปุ๋ยผสมสูตรต่าง ๆ ทำให้ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง อีกทั้งปุ๋ยเคมีมีสีสัน และลักษณะเม็ดปุ๋ยแตกต่างไปได้หลายแบบ ไม่สามารถสังเกตได้ว่ามีธาตุอาหารอยู่หรือไม่ ทำให้มีผู้ผลิต "ปุ๋ยปลอม" ซึ่งเป็นปุ๋ยที่ไม่มีธาตุอาหารเลย หรือผลิต "ปุ๋ยด้อยมาตรฐาน" ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารไม่ตรงตามสูตรปุ๋ยและโดยปกติจะมีปริมาณน้อยกว่าตัวเลขในสูตรปุ๋ยมาก

การตรวจสอบปุ๋ยปลอม และปุ๋ยด้อยมาตรฐานทำได้อย่างไร หากจะพิจารณาว่าปุ๋ยเคมีชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อยมาตรฐานหรือไม่นั้น จะไม่สามารถสังเกตได้จากกลิ่น สี รูปร่างลักษณะเม็ดปุ๋ย การละลายน้ำ หรือความรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัส การตรวจสอบจะต้องทำโดยวิธีการทางเคมีเท่านั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 วิธีการ คือ

การตรวจสอบอย่างละเอียด เป็นการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ วิธีการวิเคราะห์ยุ่งยาก ใช้เครื่องมือราคาแพง ต้องใช้นักวิชาการที่มีความรู้ความชำนาญ ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายในการวิเคราะห์แพงมาก แต่ผลที่ได้ละเอียดถูกต้องดี เป็นการตรวจสอบเพื่อรับรองธาตุอาหารในปุ๋ยตามกฎหมาย

การตรวจสอบแบบรวดเร็ว เป็นวิธีทางเคมีที่ดัดแปลงให้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อย เกษตรกรตรวจสอบเองได้ และที่สำคัญค่าใช้จ่ายถูกกว่ากันมาก อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่ละเอียดพอที่จะใช้ตรวจสอบอ้างอิงในทางกฎหมาย แต่ตรวจสอบได้ว่าปลอมหรือด้อยมาตรฐานหรือไม่ เพื่อเกษตรกรจะได้เลือกใช้ปุ๋ยที่ดี และถูกต้อง ชุดตรวจสอบปุ๋ยเคมี มก. 4 เป็นชุดตรวจสอบปุ๋ยเคมีแบบรวดเร็ว ซึ่งได้ผลิตโดย คณะนักวิจัยของ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สามารถใช้ตรวจสอบปุ๋ยปลอม หรือปุ๋ยด้อย มาตรฐานได้ แต่ไม่ใช่วิธีที่ใช้ตรวจสอบเพื่อรับรองธาตุอาหารในปุ๋ยตามกฎหมาย

การตรวจสอบปุ๋ยเคมีด้วยวิธีการนำปุ๋ยเคมีไปละลายน้ำเพื่อให้ทราบว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมหรือไม่นั้น ไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีนี้ได้เสมอไป เพราะการผลิตปุ๋ยเคมีผสมชนิดเม็ดสูตรต่าง ๆ นั้น ผู้ผลิตจำเป็นต้องใส่สารตัวเติมน้ำหนัก (filler) ลงไปด้วย เพื่อให้ได้สูตรตรงกับความต้องการ สารตัวเติมที่นิยมใช้ ได้แก่ ดินขาว หรือ ดินเหนียว แคร์โอลิน บางกรณีผู้ผลิตอาจใช้ทรายร่อนเป็นสารตัวเติมด้วย การใส่สารตัวเติม (filler) นอกจากเพื่อให้ได้สูตรตรงกับความต้องการแล้ว ยังช่วยให้การจับตัวของเนื้อปุ๋ยและเม็ดปุ๋ย ไม่จับตัวกันเป็นก้อน เช่น ปุ๋ยเคมีสูตร 15–15–15 จำนวน 100 กิโลกรัม จะมีธาตุอาหารพืชไนโตรเจนอยู่ 15 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส 15 กิโลกรัม และโพแทสเซียม 15 กิโลกรัม รวมจำนวนธาตุอาหารพืช 45 กิโลกรัม ที่เหลืออีก 55 กิโลกรัม จะเป็นสารตัวเติม (filler) ที่ใส่ลงไปในเนื้อธาตุปุ๋ยให้ได้ตามสูตรต้องการดังนั้น การที่เกษตรกรเข้าใจว่า การนำปุ๋ยเคมีไปละลายน้ำแล้วมีกรวด ทรายปะปนมาด้วย ถือว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม จึงไม่ถูกต้องเสมอไป 

การตรวจสอบปุ๋ยเคมีว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือปุ๋ยปลอม สามารถทำได้โดยวิธีง่าย ๆ คือ การหยดน้ำปูนใสลงบนเม็ดปุ๋ยเคมีแล้วสังเกตปฏิกิริยาก็จะทราบผล ถ้าได้กลิ่นฉุนก็สันนิษฐานได้ว่าปุ๋ยเคมีนั้นเป็นปุ๋ยแท้เนื่องจากสารละลายน้ำปูนใสทำปฏิกิริยากับปุ๋ยไนโตรเจนในรูปแอมโมเนีย จึงได้ก๊าซมีกลิ่นฉุน ซึ่งตรวจสอบปุ๋ยเคมีไนโตรเจนได้ในระดับหนึ่ง แต่ในกรณีของปุ๋ยไนโตรเจนในรูปยูเรีย  น้ำปูนใสจะไม่ทำปฏิกิริยากับปุ๋ยยูเรียก็จะไม่ได้กลิ่นฉุนของแอมโมเนีย อย่างไรก็ตามการตรวจสอบปุ๋ยเคมีด้วยน้ำปูนใส เป็นการตรวจสอบเพียงเบื้องต้นเท่านั้น ทำให้เราทราบว่าปุ๋ยเคมีนั้นมีธาตุอาหารพืชไนโตรเจนอยู่ แต่เราไม่สามารถทราบได้ว่ามีปริมาณเท่าใด การตรวจสอบที่ได้ผลชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ จำเป็นต้องวิเคราะห์ตรวจสอบได้จากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานถูกต้อง

แหล่งที่มา

ทัศนีย์  อัตตะนันทน์. (2558, 17 กุมภาพันธ์).  ปุ๋ยสั่งตัด ปุ๋ย สารประกอบที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช.  สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2561, จาก http://www.ssnm.info/know/ferti

ทัศนีย์  อัตตะนันทน์. (2557, 14 มีนาคม).  คลินิกดิน “ปุ๋ยสั่งตัด”: แก้ปัญหาการใช้ปุ๋ยแบบเบ็ดเสร็จโดยเกษตรกร.  สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2561, จาก http://www.ssnm.info/know

สวง โฮสูงเนิน. (2555, 12 กุมภาพันธ์).  ข่าวส่งเสริมเกษตรหนองบัวลำภู: เกษตรหนองบัวฯ แนะตรวจสอบปุ๋ยเคมีของจริงของปลอม ดูอย่างไร.  สืบค้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2561, จากhttp://www.nongbualamphu.doae.go.th/home.html

ข้อมูลจาก https://www.scimath.org/article-science/item/9597-2018-12-13-07-54-33

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






 


 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับการทำงานของธาตุอาหารพืช (Biochemical Sequence) - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

ว่าด้วยเรื่อง ธาตุอาหารของพืช ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต - iLab.work ตรวจดิน ตรวจปุ๋ย ตรวจน้ำ ตรวจกากอุตสาหกรรม

12 อาการต้นไม้ขาดธาตุอาหาร พร้อมวิธีดูแลต้นไม้ให้ฟื้นคืนชีพ