ดินคือรากฐานของสังคมไทย
ที่มาและความสำคัญของดิน
พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีต่อเมื่อพันธุ์พืชนั้นเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ( ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ) รวมทั้งเกษตรกรมีความสามารถในการจัดการทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง ( ปุ๋ยและยาฆ่าโรค-แมลง-ศัตรูพืช) ได้อย่างลงตัว
ดินเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการเพาะปลูก การเลือกพืชให้เหมาะสมกับดินนั้นง่ายและลงทุนน้อยกว่าการปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับพืช
ดังนั้น คุณภาพของดินจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิต ถ้าดินดีต้นทุนการผลิตพืชจะต่ำ กำไรย่อมมากขึ้น จึงกล่าวได้ว่า คุณภาพของดินเท่ากับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
ดินเกิดจากการผุพังสลายตัวของหินและแร่ ผสมกับซากพืชซากสัตว์ที่ตายทับถมกันเป็นเวลาหลายล้านปี
หลังจากเปิดป่า ดินอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชก็งาม ให้ผลผลิตก็สูง แต่ถ้าปลูกพืชติดต่อกันหลายๆ ปี โดยไม่มีการปรับปรุงบำรุงดิน ดินจะเสื่อมโทรมลง เพราะอินทรียวัตถุลดลง ทำให้ดินแน่นทึบ และธาตุอาหารพืชในดินหมดไป จนไม่สามารถให้ผลผลิตสูงได้อีกต่อไป
ดินเป็นแหล่งที่มาของปัจจัย 4 ของมนุษย์ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
ดินเป็นที่ยึดเกาะของรากพืช ให้อากาศแก่รากพืชใช้ในการหายใจให้ธาตุอาหารและน้ำใช้ในการเจริญเติบโต
ดินยังเปรียบเสมือนเครื่องกรองที่มีชีวิตที่ช่วยจำกัดของเสีย ทั้งในรูปของแข็งและของเหลว เป็นแหล่งอาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนสารประกอบต่างๆ ให้ไปอยู่ในรูปที่พืชใช้ประโยชน์ได้
ทำไมไม่ต้องใส่ปุ๋ยให้กับป่าไม้
ภายใต้สภาพป่าธรรมชาติ ดินถูกปกคลุมด้วยพรรณไม้ที่หลากหลายดินชั้นบนจะมีอินทรียวัตถุอยู่มากกว่าดินชั้นล่าง ดินจึงโปร่งร่วนซุย ส่วนดินชั้นล่างมีอินทรียวัตถุน้อย ดินจึงแน่นทึบ
ธาตุอาหารพืชก็หมุนเวียนอยู่ในระบบไม่สูญหาย ป่าไม้จึงเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมลงไป
แต่เมื่อนำพื้นที่ป่ามาใช้เพาะปลูก โดยเฉพาะพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ถ้าขาดการจัดการดินที่ดี ดินจะเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี
ความต้องการธาตุอาหารของพืช
พืชต้องการธาตุอาหาร 16 ธาตุ 3 ธาตุได้จากน้ำและอากาศ คือ คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ส่วนอีก 13 ธาตุได้จากดิน ใน 13 ธาตุนั้นมี 6 ธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมาก คือ ไนโตรเจน (เอ็น) ฟอสฟอรัส (พี) โพแทสเซียม (เค) แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน การใส่ปุ๋ยจะเน้นเฉพาะ เอ็น พี เค เนื่องจากพืชต้องการในปริมาณมาก ส่วนแคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถันนั้น ดินส่วนใหญ่มักไม่ขาดและเมื่อเพิ่มเอ็น พี เค ลงไปในดินมักมีธาตุทั้ง 3 นี้ปนลงไปด้วยเสมอจึง เรียกว่า ธาตุอาหารรอง
ส่วนธาตุอาหารเสริม (จุลธาตุ) นั้นพืชต้องการในปริมาณน้อย เช่น เหล็ก สังกะสี โบรอน เป็นต้น ถ้าพืชขาดธาตุหนึ่งธาตุใด ธาตุนั้นจะจำกัดการเจริญเติบโตและการให้ผลผลิตของพืช เมื่อมีการเพาะปลูก พืชจะดูดธาตุอาหารไปใช้ในการเจริญเติบโตและสร้างผลผลิต ธาตุอาหารจะถูกเก็บสะสมไว้ในส่วนต่างๆ ของพืช ได้แก่ ใบ ลำต้น ดอก ผล ฯลฯ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชออกไปจากพื้นที่ ธาตุอาหารพืชย่อมถูกนำออกไปจากพื้นที่ด้วย ถ้าใช้ที่ดินปลูกพืชเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการเพิ่มเติมธาตุอาหารลงไปในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินก็จะลดลง จนในที่สุดพืชจะไม่สามารถให้ผลผลิตสูงได้
เมื่อดินหมดสภาพ มนุษย์ก็บุกรุกและทำลายป่าต่อไป ซึ่งวงจรที่เป็นภัยอันใหญ่หลวง
ดังนั้น เมื่อมีการปลูกพืชจึงควรรักษาระดับความอุดมสมบูรณ์ของดินอยู่เสมอ และปรับปรุงสมบัติทางกายภาพและชีวภาพไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะดินที่มีธาตุอาหารครบ แต่สมบัติทางกายภาพและชีวภาพไม่ดี พืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตดีได้ เกษตรกรต้องรู้จักดินในไร่นา
ดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าและไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ หลายปัจจัยมีอิทธิพลต่อสมบัติของดิน แต่วัตถุต้นกำเนิดดินมีผลมากที่สุด เช่น ดินในภาคอีสาน วัตถุต้นกำเนิดดินส่วนใหญ่เป็นหินทราย จึงเป็นดินทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ถ้ามีชั้นเกลืออยู่ตื้น จะเป็นดินเค็ม
ส่วนพื้นที่ปลูกพืชไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี และสระบุรี ถ้าวัตถุต้นกำเนิดดินมีสภาพเป็นด่าง ดินจะมีสีดำ เป็นดินเหนียว ระบายน้ำและถ่ายเทอากาศไม่ดี มีความอุดมสมบูรณ์สูง
ในบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวภาคกลาง หรือที่เรียกว่าอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศไทย วัตถุต้นกำเนิดดินถูกน้ำพัดพามาทับถมกันในที่ราบลุ่ม ดินจึงมีเนื้อละเอียด เป็นดินร่วนและดินเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ในบางพื้นที่ในจังหวัดปทุมธานี อยุธยา และนครนายก ซึ่งน้ำทะเลเคยท่วมถึง ดินจะเป็นกรดจัด (ดินเปรี้ยวจัด) เพราะวัตถุต้นกำเนิดดินเป็นตะกอนน้ำกร่อย
ในพื้นที่สูงที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สภาพพื้นที่เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมากต่อคุณสมบัติของดิน สภาพพื้นที่ไม่ราบเรียบสม่ำเสมอ คุณสมบัติของดินจึงแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นกรด และมีการชะล้างหน้าดินรุนแรง
เกษตรกรต้องรู้จักดินในไร่นาของตนเองเป็นอย่างดี เพื่อช่วยให้การตัดสินใจใช้ประโยชน์ที่ดินและเลือกวิธีการจัดการดินได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งยังต้องรู้จักพืชที่ปลูกเป็นอย่างดีด้วย เพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการธาตุอาหารพืชที่แตกต่างกัน จึงจะรู้ว่าควรเพิ่มเติมธาตุอาหารพืชอะไร ? ปริมาณเท่าไร ? เมื่อไร ? อย่างไร ? ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์ แหล่งธาตุอาหารพืชที่เป็นวัสดุธรรมชาติจะได้มาจากที่ไหน ? มีค่าใช้จ่ายเท่าไร ? คุ้มค่าหรือไม่ ?
การใช้ธรรมชาติช่วยฟื้นฟูดินเป็นวิธีที่ประหยัดที่สุด เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการจัดการเศษซากพืชหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต ละเว้นการเผาเศษซากพืชที่เหลืออยู่ในไร่นา ใช้พืชตระกูลถั่วเป็นปุ๋ยพืชสด ปรับปรุงดินที่แน่นทึบด้วยปุ๋ยหมัก และเลือกใช้ปุ๋ยชีวภาพให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีได้มาก
ดินเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดเกษตรกรมากที่สุด แต่เป็นสิ่งที่เกษตรกรรู้จักน้อยที่สุด เกษตรกรมักหันไปให้ความสนใจกับพันธุ์พืช สารฆ่าโรคและแมลง ยาฆ่าวัชพืช ฮอร์โมนพืช โดยไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องดินและปุ๋ยมากนัก
ถ้าเกษตรกรยังคงขาดหลักคิด หลักวิชา และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องในการจัดการดินในไร่นาของตนเองแล้ว ความสำเร็จที่ยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรรมย่อมมิอาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก http://www.ssnm.info/know/soil_importance_soils
####
iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025
1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที
2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ
3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน)
สอบถามเพิ่มเติม
โทร 090 592 8614
ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น