การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ (Fertigation)

การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ (Fertigation) คือ การให้ปุ๋ยระบบหนึ่งโดยผสมปุ๋ยที่สามารถละลายน้ำได้หมดลงไปในระบบให้น้ำ ดังนั้น เมื่อพืชดูดใช้น้ำก็จะมีการดูดธาตุอาหารพืชไปพร้อมกับน้ำ เนื่องจากพืชไม่สามารถดูดปุ๋ยในรูปของแข็งได้ ปุ๋ยจะต้องละลายในน้ำก่อนพืชจึงจะดูดขึ้นไปใช้ได้ 

ดังนั้น การให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะเป็นการให้ทั้งน้ำและปุ๋ยไปพร้อมกันในเวลาและบริเวณที่พืชต้องการ ดังนั้น จึงเป็นระบบการให้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดระบบหนึ่ง สามารถลดแรงงานในการให้ปุ๋ย ลดการชะล้างปุ๋ยเลยเขตรากพืช การแพร่กระจายปุ๋ยสม่ำเสมอบริเวณที่รากพืชอยู่ ในสวนที่มีการลงทุนระบบน้ำไปแล้วควรอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ร่วมกับระบบการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ เนื่องจากจะมีการเพิ่มค่าติดตั้งอีกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลดีต่าง ๆ ที่จะตามมา 

เนื่องจากระบบนี้จะเป็นการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำ ดังนั้น ระบบการให้น้ำที่ดีจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้การให้น้ำและปุ๋ยไปสู่ต้นพืชแต่ละต้นได้อย่างสม่ำเสมอที่สุด ซึ่งระบบน้ำที่สามารถมีการแพร่กระจายน้ำไปสู่พืชได้อย่างสม่ำเสมอ และเหมาะกับการให้ปุ๋ยพร้อมระบบน้ำ คือ การให้น้ำแบบน้ำหยด หรือ แบบฉีดฝอย Mini-Sprinkle (ในประเทศไทย สำหรับสวนผลไม้ควรเป็นระบบ ฉีดฝอย Mini-sprinkle เนื่องจากเป็นระบบที่มีการดูแลรักษาได้ง่ายกว่าระบบน้ำหยด เนื่องจากมีปัญหาในการอุดตันน้อยและออกแบบระบบง่ายกว่า)

แต่การให้ปุ๋ยในระบบน้ำไม่ได้หมายความว่า ต้องให้ปุ๋ยทุกตัวพร้อมกับระบบน้ำเสมอไป เช่น อาจให้เฉพาะ ไนโตรเจน และ โปแตสเซียมพร้อมระบบน้ำ แต่ให้ฟอสฟอรัสทางดินก็ได้ เนื่องจากปุ๋ยฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำมีราคาแพง และฟอสฟอรัสเมื่ออยู่ในดินมีการเคลื่อนที่น้อยมากเมื่อใส่ทางดินก็ไม่สูญหายไปไหน และโดยทั่วไป ปริมาณฟอสฟอรัสในสวนผลไม้มีการใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสอยู่ในดินค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

นอกจากการใส่ปุ๋ยไปพร้อมกับน้ำแล้ว อาจมีการใส่สารตัวอื่นไปพร้อมระบบน้ำได้ด้วย เช่น บางสวนอาจมีการใส่ยาปราบวัชพืชลงไป หรือ อาจใส่ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชลงไปด้วยก็ได้ และปัจจุบันบางสวนมีการใส่สาร โปแตสเซียมคลอเรตลงไปพร้อมระบบน้ำเพื่อทำลำใยนอกฤดูซึ่งระบบนี้จะเรียกว่า Chemigation

ข้อดีของระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำ

1. เป็นการให้ปุ๋ยที่มีความสม่ำเสมอพร้อมกับน้ำในความเข้มข้นที่พอเหมาะลงบริเวณรากพืชหนาแน่นไม่ตื้น หรือ ลึกเกินไป เนื่องจากการให้น้ำแบบฉีดฝอยหรือแบบน้ำหยดรากพืชมีปริมาณหนาแนนที่สุดบริเวณพื้นที่เปียก

2. สามารถปรับสูตร และความเข้มข้นของปุ๋ยได้ทันที และรวดเร็ว (ทุกวัน) ตามความต้องการของพืช และสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นระบบที่มีการให้ปุ๋ยครั้งละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้งจึงไม่ค่อยสะสมในดินดังนั้น เมื่อเปลี่ยนสูตร หรือ สัดส่วนของปุ๋ยพืชก็จะตอบสนองได้เร็วกว่าระบบที่ให้ครั้งละมาก ๆ ลงในดิน

3. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยของพืช 10 - 50 % จากรายงานการทดลองทั่ว ๆ ไป การให้ปุ๋ยในระบบน้ำจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการให้ทางดินถึง 10 – 50 % ของระบบให้ทางดิน ขึ้นอยู่กับระบบการให้ปุ๋ย และน้ำที่ใช้ความถี่ในการให้ปุ๋ย ฯลฯ เนื่องจากการให้ปุ๋ยในระบบน้ำ จะช่วยลดการชะล้างโดยเฉพาะ ไนโตรเจน และเป็นการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอทั่วบริเวณรากพืช ไม่เหมือนการให้ปุ๋ยทางดินทั่ว ๆ ไปซึ่งเป็นการให้เป็นจุด ๆ นาน ๆ ครั้ง เช่น ทุก 3 – 6 เดือน บริเวณที่เม็ดปุ๋ยลงในดินช่วงแรก ๆ จะมีความเข้มข้นสูงรากพืชบริเวณนั้นอาจได้รับอันตรายได้ ทำให้การดูดใช้ปุ๋ยไม่ดี

4. ลดแรงงาน และเวลาในการให้ปุ๋ย เนื่องจากปุ๋ยไปกับน้ำ ดังนั้น ไม่ต้องเสียแรงงานคนหว่านปุ๋ย และสามารถให้ปุ๋ยได้ถี่มากน้อยตามความต้องการ อาจให้ทุกครั้งที่ให้น้ำ หรือ ครั้งเว้นครั้งตามความต้องการ

5. เพิ่มผลผลิตทั้งคุณภาพ และปริมาณ เนื่องจากพืชได้น้ำ และปุ๋ยสม่ำเสมอ และสามารถเปลี่ยนชนิด และสัดส่วนของปุ๋ยตามความต้องการได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของพืช นอกจากนี้ยังสามารถผสมธาตุอาหารรอง และอาหารเสริมลงในระบบน้ำได้เลยโดยใส่ในรูปเกลือที่ละลายน้ำง่าย เช่น ZnSO4, MnSO4, CuSO4, ทำให้ประหยัดการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีราคาแพงลงได้มาก

6. สามารถผสมปุ๋ยให้ทางระบบน้ำขึ้นใช้เองได้ ทำให้ราคาถูกลงมาก บางสวนสามารถผสมปุ๋ยให้ทางน้ำมีราคาเท่ากับการให้ปุ๋ยทางดินแต่มีประสิทธิภาพดีกว่า เช่น แหล่งปุ๋ยไนโตรเจนใช้ Urea เป็นแม่ปุ๋ย และโปแตสเซียมใช้ โปแตสเซียมคลอไรด์ หรืออาจผสมด้วยโปแตสเซียมซัลเฟต ในกรณีที่กลัวความเป็นพิษของคลอไรด์ ส่วนปุ๋ยฟอสฟอรัสให้ทางดินปีละครั้ง

ข้อเสียของระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำ

1. ปุ๋ยที่ใช้ต้องละลายน้ำหมดและมีความบริสุทธิ์สูง จึงมีราคาแพง และถ้าจะผสมปุ๋ยใช้เองซึ่งมีราคาถูกกว่าปุ๋ยสำเร็จรูปมาก ต้องใช้แม่ปุ๋ยทำให้หาซื้อได้ยาก แต่ปัจจุบันสามารถหาซื้อแม่ปุ๋ยได้ง่ายขึ้นเนื่องจากมีหลายบริษัทสั่งแม่ปุ๋ยเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น

2. ต้องมีความรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติของดิน, ปุ๋ย และน้ำที่ใช้ เนื่องจากปุ๋ยบางชนิดไม่สามารถผสมด้วยกันได้ที่ความเข้มข้นสูง ๆ นอกจากนี้ผลของเกลือที่ละลายอยู่เดิมในน้ำและค่า pH ของน้ำก็จะมีผลต่อการละลายตัวของปุ๋ยบางชนิด และมีผลต่อการตกตะกอนของปุ๋ยด้วย ดังนั้น เกษตรกรที่จะใช้ปุ๋ยในระบบน้ำควรได้มีการหาความรู้ในส่วนนี้ซึ่งควรต้องมีการส่งตัวอย่างดินและน้ำไปวิเคราะห์ในห้องปฎิบัติการเพื่อทราบถึงคุณสมบัติของดินและน้ำที่จะนำมาใช้ปลูกพืชทำให้การใช้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามในสภาพทั่ว ๆ ไปของประเทศไทย ชนิดของปุ๋ยที่ให้ในระบบน้ำจะเป็นปุ๋ยทั่วไป เช่น Urea โปแตสเซียมคลอไรด์ หรือ ซัลเฟต ปุ๋ยพวกนี้จะมีปัญหาในการใหปุ๋ยในระบบน้ำน้อยมาก

3. ค่าติดตั้งระบบขั้นต้นมีราคาสูง ในที่นี้หมายรวมถึงระบบการให้น้ำด้วย คือ อาจเป็นแบบน้ำหยดหรือ แบบ Mini sprinkle ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียอยู่แล้วในระบบการทำสวนสมัยใหม่ ส่วนอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ปุ๋ยในระบบน้ำ เมื่อเทียบกับทั้งระบบถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมาน้อยมาก ดังนั้น ในสวนที่มีการเดินระบบให้น้ำอยู่แล้วควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบให้ปุ๋ยในระบบน้ำเพิ่มเข้าไปด้วย

ข้อมูลจาก https://www.thaiwatersystem.com/article/31/การให้ปุ๋ยในระบบน้ำ-fertigation

####

iLab.work ผู้ให้บริการ ตรวจวิเคราะห์ค่า ดิน น้ำ ปุ๋ย ในรูปแบบออนไลน์ ที่ใช้บริการง่ายที่สุด เพียงแค่นับ 1 2 3 ภายใต้มาตฐาน ISO/IEC 17025

1. เลือกชุดตรวจแนะนำ หรือเลือกเองตามต้องการที่ www.ilab.work ระบบจะคำนวณค่าใช้จ่าย ในการตรวจวิเคราะห์ให้ท่านทราบขณะเลือกทันที

2. ส่งตัวอย่าง ดิน น้ำ หรือ ปุ๋ย ที่ต้องการตรวจวิเคราะห์ไปที่ iLab [ห้องปฏิบัติการ อัยย์แลป (iLab) เลขที่ 94/1 ม.8 ต.ตระคร้ำเอน อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี 71120] ทาง ไปรษณีย์ หรือ เคอรี่ หรือ แฟรช ตามที่ลูกค้าสะดวก และ ชำระเงินค่าตรวจ

3. รออ่านผลตรวจวิเคราะห์ออนไลน์หน้าเว็บไซต์ (ผลตรวจออกใน 3-15 วัน) 

สอบถามเพิ่มเติม

โทร 090 592 8614

ไลน์ไอดี @FarmKaset มี @ ด้วยนะคะ






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

มาดูความแตกต่างระหว่างปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์

3 เหตุผลที่คนทำการเกษตรควรใช้บริการตรวจดินมืออาชีพ!

แต่ละภาค...ปลูกอะไรดี?